Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Blink
ผู้เขียน: Malcolm Gladwell
ผู้จัดพิมพ์: Little, Brown & Co
จำนวนหน้า: 277
ราคา: ฿495
buy this book

มัลคอล์ม แกลดเวลล์ เคยเขียนหนังสือขายดีในเรื่องจุดประกายความคิดธุรกิจประเภท "แดกด่วน" ชื่อ The Tipping Point มาแล้ว ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเป็นก้าวที่ยกระดับขึ้นจากเดิมไปอีกขั้นหนึ่ง ว่าด้วยกระบวนการตัดสินใจหรือลงความเห็นชนิด "ปิ๊ง" โดยไม่ต้องเสียเวลา

การ "ปิ๊ง" อย่างนี้ (เรียกในทางวิชาการว่า snap judgments) เป็นเรื่องที่ไม่ได้บอกว่า การคิดหาเหตุผลลึก ซึ่งนั่นไม่มีความสำคัญ และการใช้สัญชาตญาณสำคัญกว่าการใช้เหตุผล แต่ในกระบวนการที่สังคมเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารท่วมท้น ซึ่งรบกวนการตัดสินใจ ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งอาจจะไม่ทันสถานการณ์ได้

ทางออกของการเร่งตัดสินใจโดยไม่ต้องรอให้ข้อมูลสมบูรณ์ครบถ้วน จึงมีความสำคัญ ด้วยกรรมวิธีที่ผู้เขียนแนะนำว่า หากสามารถจำแนกระดับความสำคัญของข้อมูลออกเป็นส่วนๆ ได้ แล้วอาศัยข้อมูลส่วนที่เป็นแกนหลักเพียงไม่กี่อย่าง เราก็สามารถที่จะตัดสินใจได้แม่นยำเสมือนหนึ่งมีข้อมูลที่สมบูรณ์พร้อม

เพื่อให้ดูมีเหตุมีผล ผู้เขียนยกตัวอย่างสาธยายมากมายว่า ในชีวิตประจำวันของผู้คนอันวุ่นวายนี้ เราแต่ละคนได้ใช้การ "ปิ๊ง" อย่างนี้มากกว่าระดับที่เราคาดเอาไว้ และหากเหลือบมองไปรอบๆ ตัว เราก็อาจจะพบเพิ่มเติมว่าผู้คนในโลกนั้นก็ใช้การ "ปิ๊ง" นี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงาน การแก้ปัญหาหน้ามืด หัวใจวาย การนัดหมาย การเล่นกีฬา การซื้อขายรถยนต์ การค้นหาความคิดใหม่ระหว่างระดมสมอง และกระทั่งการทำสงครามในสมรภูมิแนวหน้า

วิธีการ "หั่นเป็นชิ้น" โดยนำข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในมือมาจำแนกอย่างรอบคอบ โดยใช้กระบวนวิธีที่เรียกว่า "จิตไร้สำนึกที่ดัดแปลง" (adaptive unconscious) แล้วเลือกส่วนที่คิดว่าสำคัญที่สุดมาสรุป โดยอาศัยหลักการคณิตศาสตร์เรื่อง ความน่าจะเป็น เพื่อตัดสินใจหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น เป็นสาระที่ฟังดูแล้วค่อนข้างง่าย แต่ยากในทางปฏิบัติ เพราะใครเลยจะรู้โดยปราศจากอคติว่า ข้อมูลที่สำคัญที่สุดในการนำมาเลือกเพื่อตัดสินใจนั้น แม่นยำเพียงใด และการตัดสินใจนั้น พึ่งพาสัญชาตญาณมากน้อยแค่ไหน

มาถึงตรงนี้จะพบว่า หนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่าหนังสือประเภท "แดกด่วน" หลายเท่า และหากตัดข้อมูลที่เป็นกรณีศึกษาของผู้เขียนที่ยกเอามาอ้าง ซึ่งร่วมสมัยทั้งนั้น กรอบคิดของผู้เขียนค่อนข้างคล้ายคลึงกับแนวคิดตะวันออกที่เรียกว่า ลัทธิ "ขงจื๊อใหม่" เป็นอย่างยิ่ง แต่กระบวนการคิดกลับคล้ายไปหยิบยืมมาจากวิธีการ "วิภาษวิธี" แบบของโสกราตีสไปโน่น

เข้าทำนองแนวคิดโสกราตีสสังวาสกับขงจื๊อใหม่ ที่เบาะหลังรถอเมริกัน หรือข้างภัตตาคารแดกด่วน ของแมคโดนัลด์ อะไรทำนองนั้น

ที่ว่าเหมือนลัทธิขงจื๊อใหม่ ตรงที่เน้นไปที่หลักการ การทะลวงความรู้ด้วยฌาณ (cognitive interpenetration) หรือ กวาน ตุง ซึ่งยอมรับว่า ข้อมูลที่ผ่านการตีความในสมองและจิตของคนนั้นได้แปลงเป็นประสบการณ์หยั่งรู้ (enlightenment experience) ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

หลักการขงจื๊อใหม่นี้ คนคิดขึ้นมาได้แก่นักปรัชญา ฉู่ ซื่อ ในปลายสมัยราชวงศ์ซ้องใต้ (ก่อนที่จีนจะตกอยู่ใต้อำนาจของมองโกลในราชวงศ์หยวน) ซึ่งนำเอาหลักการของขงจื๊อมาดัดแปลงใหม่ โดยเน้นว่า จิต (ซิน) ของมนุษย์นั้นประกอบด้วยชี่ (ส่วนผสมระหว่างจิตกับกาย) ซึ่งเป็นต้นธารของหลี่ (จริยะหรือกติกาในการดำรงตนของมนุษย์ในจักรวาล) ซึ่งมนุษย์แต่ละคนมีไม่เท่ากัน และตั้งผ่าน 8 ขั้นตอนพัฒนาระดับความเข้มข้นของปัจจัยทั้งสองอย่าง ซึ่งแต่ละขั้นจะต้องมีการทำให้ชี่บริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบรรลุสภาวะบัณฑิตที่สมบูรณ์ตามหลักการของขงจื๊อ

หลักการนี้เรียกว่า หลัก "เอกภาพของสาระและหน้าที่" ที่ปรากฏในหนังสือ เจิ้ง อี้ ซึ่งเป็นตำราขงจื๊อใหม่ ที่ตรงกับคำว่า non-dualism (ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับรากฐานความคิดว่าด้วย หยิน-หยาง ของลัทธิเต๋า (dualism)) ในปรัชญาของโสกราตีส ที่เน้นว่า "ความรู้-คุณธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน" นั่นเอง

สาระของส่วนของหนังสือเล่มนี้ชี้ว่า โลกทุกวันนี้ ถูกนักการตลาดที่ชาญฉลาดครอบงำความคิดของผู้คนที่ไม่สามารถจำแนกระดับความสำคัญของข้อมูลเพื่อการตัดสินใจออกมาได้อย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้บริโภคที่มักง่ายเลือกตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณอย่างเดียวเป็นหลัก เข้าข่าย "มืดบอดทางจิต" ซึ่งเขาย้ำว่าเป็นด้านมืด ของการ "ปิ๊ง" ที่แสดงถึงความล้มเหลวของการตัดสินใจ

กลายเป็นการครอบงำเพื่อขูดรีดหาประโยชน์อย่างสะดวกโยธินทุกเมื่อเชื่อวัน และช่วยอะไรไม่ได้

ข้อเท็จจริงอันนี้ น่าจะทำให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ ตระหนักดีถึงสาระที่ผู้เขียนนำมาผสมผสานได้ชัดเจนว่า การฝึกฝนตนเองทั้งทางจิตและสำนึกเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการจำแนกและจัดระดับความสำคัญของข้อมูลที่ผ่านเข้ามาให้รับรู้มากมายในชีวิตประจำวันนั้น เป็นมากกว่าความจำเป็น

เป็นหนังสือเกี่ยวกับการใช้ความคิดน่าอ่านที่ต้องแนะนำทีเดียว ที่สำคัญอ่านง่ายกว่าหนังสือของ Edward de Bono ทั้งหลายอีกด้วย (ส่วนคนที่อยากอ่านแบบลึกซึ้ง ก็เชิญตามสะดวก)

และหากจะให้ดีกว่านั้น ก็ต้องหันไปหาหนังสือปรัชญาจีนของขงจื๊อ และขงจื๊อใหม่ (สองอย่างนี้ไม่เหมือนกันในรายละเอียด แม้จะมีสาระเดียวกัน) ให้ถ่องแท้มากกว่าเดิม ว่าของเก่าๆ นั้น มีดีให้ค้นหาอีกเยอะ ไม่ใช่เพื่ออนุรักษ์เฉยๆ แต่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ หากรู้จักพลิกแพลง

รายละเอียดในหนังสือ

Introduction : The Statue That Didn't Look Right กรณีศึกษาที่นำเข้าสู่เรื่องว่าด้วยการใช้ "ประกายปัญญา" ผสมกับนัยแห่งประสบการณ์ ที่กลายเป็น ฌาณ หรือสัญชาตญาณ ที่พิสูจน์ได้ว่าในบางครั้งเหนือกว่าความรู้ตามจารีตหรือตามคัมภีร์ สำหรับการแกโจทย์ยากๆ ที่ไม่สามารถตอบได้ด้วยวิธีปกติ

Chapter 1 The Theory of Thin Slices : How a Little Bit of Knowledge Goes a Long Way ว่าด้วยการจำแนกข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจออกเป็นชิ้นๆย่อย (ที่จัดลำดับความสำคัญต่างกัน ซึ่งชิ้นส่วนที่สำคัญสุดเพียงไม่กี่ชิ้นโดยอาศัยความช่ำชองผ่านประสบการณ์ที่รู้รอบและรู้ลึก ผสมกับจิตไร้สำนึกบางส่วน ก็สามารถหยิบมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจด้วยอุปมา พิสูจน์ว่าไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลครบทั้งหมด คนเราก็สามารถตัดสินใจได้ในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยโดยไม่ผิดพลาด และดีเกินคาด แล้วสามารถเรียกตัวเองว่า ผู้เชี่ยวชาญได้

Chapter 2 The Locked Door : The Secret Life Snap Decisions ว่าด้วยการแปลงสัญญาณของประสาทสัมผัส ประสบการณ์ และความรู้ผ่านขั้นตอนของจิตไร้สำนึกที่กลายเป็นอารมณ์ซึ่งก่อให้เกิดจินตนาการเฉียบพลัน กลายมาเป็นกระบวนการตัดสินใจกะทันหัน

Chapter 3 The Warren Harding Error : Why We Fall For Tall, Dark, and Handsome Men จุดอ่อนเปราะของผู้คนที่มีแนวโน้มใช้สัญชาตญาณเริ่มแรกชักนำไปสู่ข้อสรุปที่ตื้นเขินเกินจำเป็น ที่เรียกว่า Warren Harding Effect (ชื่อประธานาธิบดีอเมริกันที่ขึ้นสู่ตำแหน่งเพราะความหล่อเหลา แต่โชคร้ายเสียชีวิตในตำแหน่ง) ซึ่งทำให้นักการตลาดสมัยใหม่สามารถใช้ประโยชน์ในการครอบงำพฤติกรรมการบริโภคสินค้าได้ เพราะผู้บริโภคเกิดสภาวะที่เรียกว่า "มืดบอดทางจิต" หมกมุ่นกับสัมผัสแรกเห็นจนไม่ใช้เหตุผลพิจารณา

Chapter 4 Paul Van Riper's Big Victory : Creating Structure for Spontaneity ว่าด้วยการวางรากฐานอย่างเป็นระบบ (ในลักษณะเดียวกันกับการใช้อัลกอลิธึ่ม ในวิชาคณิต ศาสตร์) ของสัญชาตญาณในตัวเอง เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยข่าวสารซึ่งส่วนใหญ่เป็น "ขยะ" มากกว่าจะเป็นประโยชน์ และมีแต่จะทำให้สับสนมากกว่าเข้าใจและเกิดสมาธิ

Chapter 5 Kenna's Dilemma : The Right-and Wrong-Way to Ask People What They Want กระบวนการลองผิดลองถูกซึ่งหลายครั้งทำให้ความเชี่ยวชาญกลายเป็นมายา "ประเภทตาบอดจูงตาบอด" หากว่า ความเชี่ยวชาญนั้นไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจที่มีจินตนาการที่ยกระดับขึ้น เฉกเช่นตัวอย่างในกรณีของการเขียนเพลงเอาใจตลาด หรือการนำเสนอโค้กใหม่ หรือการใช้บทวิจัยการตลาด เป็นต้น

Chapter 6 Seven Second in the Bronx : The Delicate Art of Mind Reading ความสำเร็จและล้มเหลวในการอ่านใจคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเกี่ยวกับระดับของการหมกมุ่นในตัวเองของคนตัดสินใจ ความแม่นยำของการอ่านสีหน้าแววตาของคนเพื่อค้นหาอารมณ์ และแรงจูงใจ ซึ่งต้องผ่านกลไกพัฒนาการตัดสินใจใหม่ๆ ต่อเนื่อง

Conclusion : Listening with Your Eyes : The Lessons of Blink ในโลกของความน่าจะเป็น มีตัวอย่างมากมายให้เรียนรู้ในชีวิตประจำวันว่า การคิดแบบหยั่งรู้นั้น สามารถเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งและทุกสถานการณ์ เนื่องจากจำต้องมีการหาประสบการณ์จริงมาเสริมต่อเนื่อง



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us