|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Death of the Banker
ผู้เขียน: Ron Chernow
ผู้จัดพิมพ์: Vintage Books
จำนวนหน้า: 130
ราคา: ฿537
buy this book
|
|
|
|
หนังสือขนาดบางเล่มนี้ถือเป็นหนังสือพ่วงท้าย หนังสือชีวประวัติขนาดยาว 2 เล่มของผู้เขียน ที่กลายเป็นหนังสือคลาสสิกของประวัตินายธนาคารกลางของโลกตระกูลมอร์แกน และวอร์เบิร์ก The House of Morgan และ The Warburgs
ผู้เขียนใช้ต้นร่างจากการบรรยายในห้องเรียนมหาวิทยาลัยมาทำให้สมบูรณ์ เพื่อสรุปให้คนที่ยุ่งยากกับการอ่านหนังสือขนาดยาว 2 เล่มข้างต้น เพื่อให้ได้ใจความอย่างย่นย่อเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว โดยเพิ่มเนื้อหาให้เห็นว่า ยุคสมัยของ boutigue merchant banks ได้จบสิ้นไปแล้วพร้อมกับคนทั้งคู่ เหลือไว้แต่ตำนานเท่านั้น ในขณะที่ยุคสมัยของสถาบันการเงินยุคใหม่ financial services industry กำลังมีบทบาทกับภารกิจประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่
ประเด็นที่ตั้งคำถามก็คือ การถดถอยของกลุ่มทุนธนาคาร "เลือดสีน้ำเงิน" ซึ่งให้บริการเฉพาะลูกค้าทุนขนาดใหญ่ด้วยสินเชื่อระยะยาวในอดีตนี้ เป็นไปตามอายุขัยหรือไม่
คำถามก็คือ เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว เพราะภารกิจของธนาคารแบบที่ตระกูลมอร์แกน และ วอร์เบิร์ก บริหารมานั้น ไม่เหมาะกับยุคสมัยที่ตลาดทุนกำลังเติบใหญ่มาก และมีนวัตกรรมตลาดทุนเกิดขึ้นตลอดเวลา จนกระทั่งความต้องการพึ่งพาทุนของนายธนาคารแบบดั้งเดิม ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากบรรยากาศเปลี่ยนนับแต่มีกฎหมาย Gramm-Leach-Bliley Act ของอเมริกาขึ้นมา
ยุคทองของวาณิชธนกิจแบบเก่าที่อาศัยสายสัมพันธ์ล้ำลึกกับลูกค้า จบสิ้นไปแล้ว ในขณะที่อิทธิพลอันล้นฟ้าของนายธนาคารต่อธุรกิจก็นับวันจะน้อยลงจนมีนัยสำคัญต่ำมาก เหลือเพียง 1 ในตัวแปรของเครื่องมือระดมทุนเพื่อธุรกิจเท่านั้น
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วให้ภาพประวัติที่ผ่านเลยของธุรกิจการเงินอเมริกาและยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ปรุโปร่งดีทีเดียว ดีกว่าอ่านหนังสือยากของพวกลัทธิมาร์กซ์ หลายเท่านัก แม้จะสั้นเกินไปสักนิด
สิ่งที่น่าอ่านต่อจากจบหนังสือเล่มนี้ ก็คือ การล้วงลึกถึงรายละเอียดของธุรกรรมทางการเงินที่มีส่วนสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับกลุ่มทุนที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกทั้ง 2 ตระกูลนี้ว่าไม่ได้มีเพียงแค่มิติเดียวเท่านั้น เนื่องจากสายสัมพันธ์ของกลุ่มทุนเหล่านี้กับกลุ่มธุรกิจลูกค้า และนักการเมืองต่างๆ ล้วนมีความโยงใยกันจนแยกไม่ออก
เบื้องหลังงบการเงิน และตัวเลขในบัญชีที่ท่วมท้นแล้ว ชีวิตชีวาของผู้คนที่วุ่นวายในธุรกิจ มีความน่าสนใจยิ่ง เพราะพวกเขาใกล้ชิดกับอำนาจของลัทธิจักรวรรดินิยมอย่างคาดไม่ถึง
ใครที่ต้องการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของยุโรปและอเมริกา ต้องไม่พลาดหนังสือเล่มนี้ และหากมีเวลาเหลือก็ตามไปอ่านอีก 2 เล่มขนาดยาวต่อเอาเอง เนื่องจากผู้เขียนทำงานเอาไว้ดีเยี่ยม สมกับคำชมเชยทีเดียว
รายละเอียดในหนังสือ
Introduction ว่าด้วยตำนานที่กำลังหมดสิ้นไปหลังจากการประกาศใช้กฎหมาย Gramm-Leach-Bliley Act ของอเมริกาในปี 1999 ซึ่งถือจุดพลิกผันของธุรกิจการเงินของโลซึ่งทำให้ธนาคารประเภท boutigue bank ต้องปรับตัวเป็น universal bank กัน
The Death of the Banker ว่าด้วยวิวัฒนาการของการเถลิงอำนาจเหนือธุรกิจของธนาคารสมัยใหม่นับแต่ยุคของตระกูลรอธไชลด์กับการเงิน ก่อนจะมาถึงยุคของการเงินระดับโลกที่มี เจ.พี.มอร์แกน และเจ.เอส.วอร์เบิร์ก แสดงบทบาททำหน้าที่สร้างความมั่งคั่งผ่านสินเชื่อระยะยาว ก่อนที่จะถูกกฎหมายต่อต้านการผูกขาดกิจการ Glass-Stegal Act บังคับใช้ แล้วความคลี่คลายก่อนที่ธนาคารจะถูกแทนที่ด้วยธุรกิจบริการทางการเงินครบวงจรปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นสถาบันใหม่ที่ "ยิ่งกว่าธนาคาร"
Tycoon 1 : J. Piepont Morgan ว่าด้วยการสร้างอาณาจักรวาณิชธนกิจของตระกูลมอร์แกนนับแต่จูเนียสรุ่นแรก มาจนถึง เจ.พี.ซึ่งให้บริการสินเชื่อระยะยาวกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้น และก็ค่อยรวบธุรกิจที่เป็นของลูกค้าเข้ามาอยู่ในอาณาจักรทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นนักล่ากิจการที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา และยังเข้าไปมีบทบาทในนโยบายของรัฐบาลอเมริกาหลายเรื่องอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในยุคของ ธีโอดอร์ รุสเวลท์
Tycoon 2 : The Warburg การเถลิงอำนาจเป็นธนาคารไพรเวตแบงก์แห่งฮัมบวร์กของตระกูลวอร์เบิร์กในเยอรมนี นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ภายใต้เงาของรอธไชลด์ ก่อนมาเป็นอิสระแล้วย้ายไปอเมริกาเพื่อนำความรู้ทางการเงินไปช่วยก่อร่างสร้างธนาคารกลางของอเมริกา ก่อนที่ซิกมันด์ วอร์เบิร์ก จะเติบโตขึ้นมาสร้างอาณาจักรให้เป็นตำนานครั้งใหม่ด้วยการคิดค้น "ยูโรดอลลาร์" และเป็นต้นกำเนิดธุรกรรม M&A ยุคใหม่ โดยเฉพาะการควบกิจการฉันปรปักษ์ที่ปัจจุบันคุ้นเคยกันดี และมีชีวิตยาวนานกว่ายุคสมัยของเขาเองที่ล่วงพ้นไปแล้ว ถือเป็นนายธนาคารรุ่นเก่าคนสุดท้ายของยุค
|
|
|
|