|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Wisdom of Crowds
ผู้เขียน: James Surowiecki
ผู้จัดพิมพ์: Anchor Books
จำนวนหน้า: 306
ราคา: ฿582
buy this book
|
|
|
|
หนังสือเล่มนี้เป็นการพยายามที่จะแสดง ค้นหา และทดสอบการมีอยู่ Collective wisdom ซึ่งเหมาะสมกับสังคมที่เปิดกว้างทางความคิด และต้องการแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆทางความคิดของตนเองและผู้คนรอบข้าง
ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำนิตยสารปัญญาชนอเมริกัน The New Yorker ซึ่งหลายปีมานี้ กลับมาขายดีได้รับความนิยมเฟื่องฟูครั้งใหม่ งานเขียนของเขาก่อนหน้านี้ Tipping Point ก็เป็นหนังสือขายดีมาแล้วเช่นกัน และเล่มนี้ก็ถือว่าขายดีมากด้วยไม่แพ้กัน
โดยสาระของหนังสือ ผู้เขียนเป็นพวกนิยม "มวลชน" ที่ชัดเจน เพราะเนื้อหาในหนังสือ ได้แสดงความสงสัย และกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ "ผู้นำ" ที่มีแรงโน้มเอียงไปสู่การลุอำนาจ และนำหายนะมาสู่องค์กร ชุมชน และสังคมได้ง่าย
หนังสือนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบประชาธิปไตยแบบมวลชน และประชาธิปไตยทางตรง ไม่เหมาะสำหรับพวกเผด็จการ และอัศวินม้าขาวทั้งหลาย เพราะข้อสรุปหลักที่เป็นสาระของหนังสือก็คือ มวลชนโดยองค์รวมไม่ใช่คนฉลาดที่สุดและดีที่สุด แต่มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด และเลวน้อยที่สุด
หนังสือนี้พยายามหากรณีศึกษามายืนยันว่า ความเชื่อเดิมที่ระบุว่า การรวมศูนย์ข้อมูล และการเลือกให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคนที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เป็นความผิดพลาด เพราะในความเป็นจริง การรวบอำนาจข้อมูล นำไปสู่ความคับแคบ และการบิดเบือนในระบบตัดสินใจ ในขณะที่การกระจายที่มาของแหล่งข้อมูลและการเปิดกว้างทางความคิด เป็นการสร้างความเป็นไปได้และความช่ำชองเฉพาะทางที่มากที่สุดที่จะช่วยป้องกันความผิดพลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อมูลที่เป็นความรู้โดยปริยายซึ่งบางครั้งอาจไม่เป็นประโยชน์โดยตรง
แน่นอนว่า ผู้เขียนเองก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงความ จำเป็นของผู้นำ หรือวีรชน หรืออัศวินม้าขาว หรือคนเก่ง แต่เขาก็มีมุมมองว่า ให้ระแวดระวังเอาไว้พอสมควรว่า การที่มวลชนจะมอบหรือฝากฝังชะตากรรมหรืออนาคตไว้ในกำมือคนจำนวนน้อยที่โดดเด่นบางช่วงเวลานั้น เป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะแท้ที่จริงแล้ว ความฉลาดร่วม หรือ collective wisdom นั้นเป็นเครื่องมือสร้างความปลอดภัยให้สังคมส่วนรวมได้มากที่สุด แม้จะไม่ใช่ทางเลือกดีที่สุด
ผู้เขียนย้ำว่า "มวลชนที่ฉลาด" เรียกร้องต้องการ 1) ความเห็นที่หลากหลาย 2) อิสระของสมาชิกสังคมที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ 3) การกระจายอำนาจ 4) วิธีการประมวลความเห็นที่เหมาะสมที่ไม่ต้องพึ่งพาสัญชาตญาณ
หนังสือเล่มนี้แยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกว่าด้วยกรณีศึกษาที่ก่อกำเนิดภูมิปัญญาร่วมของชุมชนหรือมวลชน โดยผ่านกระบวนการที่แตกต่างกันไปในรายละเอียดชนิดลองผิดลองถูก เพื่อที่จะได้พบข้อเท็จจริงที่เป็นแบบแผนว่า อยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการนี้ ได้แก่ ความหลากหลาย ความเป็นอิสระ และการกระจายอำนาจ
ส่วนที่สอง เป็นการขยายความและยกระดับกระบวนคิดด้วยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้เห็นถึงพัฒนาการที่สูงขึ้นของกระบวนการสร้างภูมิปัญญาร่วมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผ่านการลองผิดลองถูก โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างมวลชนกับ ปัจเจกบุคคลในชุมชนทางสังคมด้านต่างๆ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดสินค้า องค์กรสาธารณะ องค์กรธุรกิจ ฯลฯ
ความโดดเด่นของหนังสืออยู่ที่ข้อสรุปและตัวอย่างว่า ภูมิปัญญาร่วมนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสร้างสรรค์หรือเป็นประโยชน์เสมอไป บางครั้งภูมิปัญญาร่วมก็กลายเป็นความผิดพลาดร่วมได้เช่นกัน หากว่ามวลชน นั้นเลือกจะใช้ความเชื่อเชิงสัญชาตญาณ (intuitive notion) เป็นธงนำในการตัดสินใจ ดังตัวอย่างของกรณี Plank Road Fever ในอเมริกา หรือกรณีของนักเก็งกำไรระดับแมลงเม่าในตลาดหุ้น เป็นต้น
วิธีการนำเสนอของผู้เขียนนับว่าน่าสนใจ เพราะเขาใช้วิธีนำเสนอแบบอุปนัย (inductive) ด้วยการนำตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมานำเสนอก่อนหลายๆตัวอย่าง ก่อนที่จะสรุปรวบยอดขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นจุดที่ต้องการ ซึ่งวิธีการนี้ค่อนข้างแนบเนียนและจูงใจให้คล้อยตามได้ไม่ยาก ซึ่งประเด็นนี้ ผู้อ่านต้องเตือนสติตัวเองเสมอ และตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการเลือกตัวอย่างของผู้เขียนนั้น จะถูกต้องหรือเป็นประเภท "ลากข้าง" หรือไม่กันเอาเอง
เพียงแต่ผมขอแนะนำว่า ควรอ่านบทหลังสุดท้าย Afterword to the Anchor Books Edition ก่อนที่จะกลับมาเริ่มต้นอ่านบทแรกไปถึงตอนท้ายอีกครั้ง จะได้ใจความมากกว่าจะตะลุยตั้งแต่ต้นถึงจบเหมือนอ่านหนังสือปกติทั่วไป
รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้
Introduction เปิดตัวด้วยกรณีศึกษาของ ฟรานซิส กาลตัน นักพันธุวิทยาชาวอังกฤษ เจ้าของทฤษฎี ความเชี่อที่ปฏิเสธสัญชาตญาณ (counterintuitive notion) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า ภูมิปัญญาร่วมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ และมีจริง อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อสังคมเปิดโดยผ่านการแกปัญหา 3 ประเด็นคือ การรับรู้ การประสานงาน และการร่วมมือกัน ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการคือ ความหลากหลาย ความเป็นอิสระ และการกระจายอำนาจ
Part 1
Chapter 1 The Wisdom of Crowd ว่าด้วยตัวอย่างของการเปิดเสรีทางความคิด (เช่น เกมโชว์ หรือตลาดหุ้น) ก่อให้เกิดคำถามหลากหลายที่นำไปสู่ทางเลือกของคำตอบที่เปิดทางให้กับ "ภูมิปัญญากลุ่ม" จากกลุ่มเล็กไปสู่กลุ่มใหญ่ ที่ท้ายสุดจะกลายเป็นทางเลือกซึ่งเรียกว่า "ข้อมูลที่หักลบความผิดพลาดแล้ว" ซึ่งเป็นฐานรากของ การตัดสินใจที่ถูกต้อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือพหูสูตมาอ้างอิง
Chapter 2 The Difference Difference Makes : Waggle Dances, the Bay of Pigs, and the Value of Diversity ว่าด้วยการลองผิดลองถูกของตลาดมวลชน ซึ่งให้คำตอบในท้ายที่สุดว่า สินค้าใดควรอยู่รอด และสินค้าใดควรออกจากตลาดโดยที่สินค้าดีที่สุดไม่จำเป็นต้องได้รับชัยชนะเสมอไป เฉกเช่นเดียวกันกับการบินหาน้ำหวานในเกสรดอกไม้ของตัวผึ้งโดยไม่ได้คาดเดาความ เป็นไปได้มาก่อนล่วงหน้า เพราะเป็นการตัดสินใจบนข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์
Chapter 3 Monkey See, Monkey Do : Imitation, Information Cascade, and Independence ว่าด้วยความผิดพลาดของการยอมให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของชีวิตผ่านทางสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล และอิทธิพลของผู้ที่เหนือกว่า โดยที่ปัจเจกยอมจำนนมอบตัวเองให้กับการเลียนแบบ เชื่อว่านั่นคือ เส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยไม่ยอมลองผิดลองถูก และไม่เชื่อมั่นกับความเป็นอิสระในข้อมูลข่าวสารของตนเอง ทั้งที่ความเป็นอิสระนั้น คือ การเปิดทางเลือกใหม่ที่ป้องกันความผิดพลาดได้ในอนาคต
Chapter 4 Putting the Prices Together : The CIA, Linux, and thew Art of Decentralization ว่าด้วยความเชื่อผิดๆ ที่ว่า การรวมศูนย์ข้อมูล และการเลือกให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคนที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ทั้งที่ความจริงแล้ว การรวบอำนาจข้อมูล นำไปสู่ความคับแคบ และการบิดเบือนในระบบตัดสินใจ ในขณะที่การกระจายที่มาของแหล่งข้อมูลและการเปิดกว้างทางความคิด เป็นการสร้างความเป็นไปได้และความช่ำชองเฉพาะทางที่มากที่สุด ที่จะช่วยป้องกันความผิดพลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อมูลที่เป็นความรู้โดยปริยายซึ่งบางครั้งอาจจะไม่เป็นประโยชน์โดยตรง
Chapter 5 Shall We Dance? : Coordination in a Complex World ตัวอย่างคนเดินบนฟุตบาธริมถนน ข้ามทางม้าลาย และเข้าคิวซื้อของ เป็นคำถามสำคัญของปัญหาการประสานงานที่ดีเยี่ยมว่า มวลชนในฐานะสัตว์สังคมนั้น สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจและการบังคับด้วยอำนาจรุนแรงหรือ "การวางแผนจากส่วนกลาง" แต่อย่างใด โดยที่ปัจจัยเรื่องวัฒนธรรม (จารีต จรรยา ขนบ และค่านิยม) เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดระเบียบและสร้างเสถียรภาพ
Chapter 6 Society Does Exist : Taxes, Tipping, Television, and Trust ความเชื่อมั่น (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มาตรฐาน) ถือเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาความร่วมมือกัน เพราะมันเรียกร้องผู้คนให้เอาใจใส่กับคำถามว่า แต่ละคนควรประพฤติตัวอย่างไร หากความเชื่อมั่นสูญสลายไป การแก้ปัญหาความไม่ร่วมมือกัน ก็ยากยิ่งและไม่มีทางแก้ เนื่องจากแต่ละคนจะสูญเสียความมีเหตุมีผลไป เพื่อไม่มีใครเชื่อว่า ตนจะได้รับการปฏิบัติอย่าง "ยุติธรรม" จากผู้อื่น แม้กระทั่งในระบบทุนนิยมเอง ความเชื่อมั่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
Part 2
Chapter 7 Traffic : What Have Here is a Failure to Coordinate ปัญหาจราจรเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่แสดงตัวอย่างของความล้มเหลวในการประสานงานของผู้คน
Chapter 8 Science : Collaboration, Competition, and Reputation ตัวอย่างโรคระบาด SARS ที่สะท้อนให้เห็นการร่วมมือกระทำเพื่อแก้ปัญหาร่วมอย่างมีประสิทธิภาพของคน ซึ่งเมื่อสอบค้นจะพบว่า การที่ไม่มีใครบงการใครและทุกคนต่างมีอิสระในการขบคิดเพื่อแก้ปัญหาร่วมอย่างมีเอกภาพ กลายเป็นปัจจัยสำคัญของพลังอิสระในการรับรู้ร่วม ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้วิทยาศาสตร์ในโลกก้าวหน้าอย่างสั่งสมต่อเนื่อง แม้จะมีอุปสรรคสำคัญคือ ความต้องการชื่อเสียงและมั่งคั่งส่วนบุคคล
Chapter 9 Committee, Juries, and Teams : The Columbia Disaster and How Small Groups Can Be Made to Work ตัวอย่างความล้มเหลวของยานขนส่งโคลัมเบีย ของ NASA ที่คนกลุ่มน้อย "รวมศูนย์" ผูกขาดความรู้ และนำไปสู่ความผิดพลาดในการตั้งสมมุติฐาน และตัดสินใจ เฉกเช่นเดียวกับกระบวนการของคณะลูกขุนในศาล ที่มุ่งเน้นหามติเอกฉันท์ มากกว่าขยายข้อโต้แย้งที่ดีที่สุด
Chapter 10 The Company : Meet the New Boss, Same as the Old Boss? บริษัทในยุคร่วมสมัยจะพบ รายที่มีระบบยืดหยุ่นในการบริหาร กระจายความรับผิดชอบและอำนาจ สามารถสื่อสารได้สองทาง และมีระดับขั้นในการบริหารน้อยที่สุด จะปรับตัวเข้ากับการแข่งขันได้เหนือกว่า เพราะผู้บริหารสูงสุดนั้น มีขีดจำกัดในความรู้และการตัดสินใจ
Chapter 11 Markets : Beauty Contests, Bowling Alleys, and Stock Price ตลาดหุ้นที่พยายามปกป้องนักลงทุนมากเกินไปด้วยกติกายุ่งยาก และไม่เปิดทางให้กลไกราคาทำงานเสรี จะแคระแกร็นกว่าตลาดหุ้นที่เปิดช่องทางเสรีมากกว่า แต่มีกระบวนการธรรมาภิบาลที่ดีกว่า ไม่เปิดช่องให้กับ "การอ่อยเหยื่อฝูงชน" ซึ่งเป็นพฤติกรรมผิดปกติชั่วคราว เหมือนการประกวดนางงาม
Chapter 12 Democracy : Dream of the Common Good ว่าด้วยพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลของผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งที่ห่างไกลจากทฤษฎีของนักวิชาการว่าด้วย "ประชาธิปไตยที่รอบคอบ" ซึ่งทำให้บางครั้งผลประโยชน์ที่แท้จริงของสังคมถูกละเลย แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็พบว่า ยังมีผลเสียน้อยกว่าการจำกัดอำนาจ
Afterword to the Anchor Books Edition สรุปส่งท้ายเพื่ออธิบายถึงบางประเด็นที่มีคนเข้าใจผิดในเนื้อหาของหนังสือ เพื่อชี้ว่าภูมิปัญญาร่วมนั้นไม่ได้ปฏิเสธการนำของผู้นำ ไม่ได้ปฏิเสธวีรชน และไม่ได้ปฏิเสธคนเก่งแต่อย่างใด
|
|
|
|