Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
China, Inc.
ผู้เขียน: Ted C. Fishman
ผู้จัดพิมพ์: Scribner
จำนวนหน้า: 342
ราคา: ฿475
buy this book

ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจจีนที่เป็นขาขึ้นต่อเนื่องอย่างน่ามหัศจรรย์ในช่วง 15 ปี ด้วยอัตราเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยปีละ 9.5% หลังจากเติ้ง เสี่ยว ผิง ปลดปล่อยจีนออกจากกรอบของอุดมการณ์ของลัทธิเหมา มาสู่ยุค 4 ทันสมัย ทำให้จีนกลายเป็นผู้นำใหม่ของอุตสาหกรรมโลกที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ความอยากรู้เบื้องหลังและกุญแจความสำเร็จของธุรกิจจีน แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง ได้รับการตีพิมพ์เล่มแล้วเล่มเล่า เพื่อค้นหาโจทย์ว่า ศตวรรษนี้คือ ศตวรรษจีน จริงหรือไม่?

หนังสือเล่มนี้ซึ่งเขียนโดยอดีตนักข่าวธุรกิจอเมริกันได้ตั้งโจทย์ว่า ทำไมทุนอเมริกันจึงย้ายไปสร้างฐานผลิตในจีนกันอย่างอึงคนึง และแน่นอนว่าหมายถึงงานที่หดหายไปด้วย

ประเด็นเรื่องต้นทุนที่ต่ำของแรงงานในจีนเทียบกับที่อื่นๆ ในโลก ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการรับรู้ของคนทั่วไปอีกแล้ว แต่ข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนของพลังการผลิต การเงิน ตลาดทุน และผลกระทบที่ส่งไปยังแรงงานในส่วนอื่นๆ ของโลก เป็นเรื่องที่ประมวลเอาไว้น่าสนใจทีเดียว

ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายประชากรจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ของจีนเพื่อกลายเป็นแรงงานป้อนภาคอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาล (ถือเป็นการอพยพแรงงานที่ใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์โลก) ทำให้จีนมีเมืองถึง 150 เมืองที่มีประชากรในเขตมากกว่า 1 ล้านคน คือสินทรัพย์สำรองที่ทำให้จีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ข้อเท็จจริงที่จีนเองยอมรับก็คือ การพัฒนาที่รวดเร็วนี้ไม่ได้ทำให้คนจีนส่วนใหญ่มีฐานะดีขึ้นโดยเปรียบเทียบ แต่ทำให้การสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในขณะเดียวกัน การศึกษาที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของจีนมีจำนวนมากขึ้น เพียงพอที่จะรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากตลาดโลกเข้ามาปรับใช้เพื่อเร่งพลังการผลิตให้รุดหน้าไปอีก

กรณีศึกษาหลายเรื่องในหนังสือนี้กล่าวถึงการจัดการของธุรกิจในการเข้าสู่ตลาดทุนนิยมที่ก่อตัวขึ้น การระดมทุน การหาแรงงาน การปรับปรุงเทคโนโลยี การส่งออก และการสร้างตราสินค้า ซึ่งแม้จะยังไม่เข้ามาตรฐานตะวันตก แต่ก็เข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ

รายละเอียดที่น่าสนใจของหนังสือนี้ อยู่ที่การแสดงให้เห็นความเสื่อมทรามลงของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่นับวันจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง เมื่อคนจีนและวิสาหกิจร่วมทุนจีน ต่างพากันปรับตัวหันมาใช้เครื่องมือและกระบวนการทางธุรกิจ การตลาด การนำ เสนอ การโฆษณา รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใกล้เคียงกับตะวันตกมากขึ้น ผสมผสานให้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก ที่แม้กระทั่งประธานเหมา ก็กลายเป็นแค่เครื่องมือในการสร้างตราสินค้าเท่านั้นเอง ไม่ใช่ฮ่องเต้ยุคใหม่ของคนจีนอีกต่อไป

ข้อนี้แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ตั้งโจทย์ใหญ่แบบที่หลายคนถามว่า แล้วในอนาคต 15 ปีข้างหน้า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเหลือแต่ชื่อนั้นหรืออย่างไร แต่ก็ดูเหมือนจะมีคำตอบสำเร็จรูปที่เข้าใจโดยปริยายเอาไว้แล้วอย่างชัดเจน

ประเด็นทิ้งท้ายที่ผู้เขียนสรุปในบทส่งท้ายน่าสนใจไม่น้อยคือ การรุกเข้าไปของบริษัทยักษ์จีนที่จะกลายเป็นบริษัทข้ามชาติดังที่คนตะวันตกหวาดผวานั้น (เช่นกรณี CNOOC จะซื้อกิจการของยูโนแคลแห่งอเมริกา) ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่า วิสาหกิจขนาดกลางและเล็กที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในจีน และต่างชาติไม่รู้จักต่างหากที่จะเป็นพลังน่ากลัวอย่างแท้จริงของตะวันตกในอนาคตอันใกล้นี้

ข้อสรุปเช่นนี้อาจจะทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักจีนมาก่อนต้องค้นคว้าเพิ่มเติมว่า จะเป็นข้อสรุปที่สอดคล้องและเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับอ่านเพื่อหามุมมองใหม่เกี่ยวกับจีนไม่น้อยเลย เพราะในยุคที่จีนหันมาใช้อุดมการณ์ชาตินิยมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แทนลัทธิเหมา พลังของจีนนับวันจะแข็งแกร่งจนไม่อาจละเลยได้แม้แต่น้อย

มีคำวิจารณ์ในตะวันตกว่า หนังสือเล่มนี้ดีเฉพาะบทแรกเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นแค่ขยะ ซึ่งพิจารณาดูแล้วเป็นบทวิจารณ์ที่เกินจริงมากทีเดียว เพราะข้อเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ผู้เขียนไม่ได้ "เชียร์แขก" จนเกินขนาด แต่ได้ชี้ให้เห็นจุดอ่อนเปราะของบริษัทเอกชนจีน ที่ยังต้องผ่านการต่อสู้อีกยาวนานกว่าจะทะลวงไปสู่การเป็นบริษัทที่ยั่งยืนได้ในอนาคต ถือเป็นการ "รู้เขา รู้เรา" ที่น่าสนใจ

รายละเอียดของหนังสือ

Introduction : The World shrinks as China Grows

โฉมหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของเมืองใหญ่ๆของโลกที่สินค้าจีนแพร่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่เฉพาะสินค้าราคาถูกอย่างเดียว แต่มาพร้อมกับความแปลกใหม่ของการนำเสนอที่ทำให้ตลาดตื่นเต้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ Future Shock ขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมเก่าทั่วโลกที่ถูกโจมตีตลาดต่อความสำเร็จ

Chapter 1 Taking a Slow Boat in a Fast China ความเฟื่องฟูครั้งใหม่ของเซี่ยงไฮ้ที่เปรียบเสมือนนกฟีนิกซ์คืนชีพที่กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจจีนใหม่ในปัจจุบัน พร้อมกับเบื้องหลังและปัจจัยที่สนับสนุนความเฟื่องฟูของเมืองอย่างเต็มที่

Chapter 2 The Revolution Against The Communist Revolution พูดถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันของโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจจีนที่ เหมา เจ๋อ ตง ฉีกตำราของโซเวียตยุคสตาลิน แต่ล้มเหลว และเติ้ง เสี่ยว ผิง ฉีกตำราเหมามากลายเป็นความสำเร็จที่น่าตื่นใจ ซึ่งทำให้เกิดเป็นโมเดลใหม่ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำกับดูแลเฉพาะในทางอำนาจเท่านั้น แต่ในกระบวนการเป็นทุนนิยมที่เริ่มเต็มรูปขึ้นทุกขณะ

Chapter 3 To Make 16 Billion Stocks, First Break the Law พลวัตของการสร้างความมั่งคั่งในจีนตั้งแต่ระดับบนจนถึงรากหญ้าที่กลไกทุนนิยมแผ่ขยายไป และทางการจีนต้องยอม "หลิ่วตาข้างหนึ่ง" ยินยอมให้การคอร์รัปชั่นและการขูดรีดแรงงานในรูปแบบ "คนกินคน" เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยมีเป้าหมายเร่งการสั่งสมทุนขนาดใหญ่โดยเร็ว เสมือนหนึ่งการเหยียบก้อนหินคมในระหว่างข้ามแม่น้ำใหญ่

Chapter 4 Meet George Jetson, in Beijing บทบาทที่เข้มแข็งของลูกหลานจีนโพ้นทะเลที่นำความรู้จากโลกภายนอกเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในกระบวนการผลิต การค้า และการบริหารกลับไป เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะพันธมิตรกับคนรุ่นใหม่ของจีนที่รอสร้างความมั่งคั่งผ่านกลไกทุนนิยมด้วยความจำเป็น ที่ไม่ใช่เสียงเรียกร้องของอุดมการณ์อีกแล้ว

Chapter 5 Chairman Mao Sells Soup โฉมหน้าการปรับตัวของกระบวนการทางธุรกิจ การตลาด การนำเสนอ การโฆษณา รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใกล้เคียงกับตะวันตกมากขึ้น กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก ที่แม้กระทั่งประธานเหมาก็กลายเป็นแค่เครื่องมือในการสร้างตราสินค้าเท่านั้นเอง ไม่ใช่ฮ่องเต้ยุคใหม่ของคนจีนอีกต่อไป

Chapter 6 Through the Looking Glass กระบวนการเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติของจีนปัจจุบัน ทำให้จีนกลายเป็นขุมทรัพย์ที่ทำลายภาพลักษณ์เก่ายุคสงครามเย็นในฐานะชาติคอมมิวนิสต์ที่เป็นปฏิปักษ์กับโลกทุนนิยมในอดีต และกลายเป็นพลังขับให้ทุนอุตสาหกรรมทั่วโลกปิดโรงงานเก่า และเคลื่อนย้ายฐานผลิตมายังจีนเพื่อหวังลดต้นทุนโดยพึ่งพาแรงงานราคาต่ำเป็นปัจจัยสำคัญ ในขณะที่กำลังซื้อที่เพิ่มพูนมหาศาลในจีนเองก็ดึงผู้ค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนดูดซับกำไรอย่างทั่วหน้า แม้กระทั่งญี่ปุ่น ซึ่งโดยจิตวิญญาณยังคงมีความขัดแย้งกับจีนอย่างล้ำลึก

Chapter 7 The China Price กรณีศึกษาหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันทำสงครามราคากับสินค้าจีนในตลาดระหว่างประเทศ และในตลาดของตนเอง จนกระทั่งถูกบีบให้ต้องย้ายฐานผลิตของตนไปจีน หากต้องการอยู่รอดในธุรกิจต่อไป ในขณะที่คำว่า China price มีนิยามถึงราคาต่ำเหลือเชื่อ โดยไม่ต้องทุ่มตลาดเพื่อเอาชนะในการแข่งขัน

Chapter 8 How the Race to the Bottom Is a Race to the Top พัฒนาการทางด้านกระบวนการผลิตของโรงงานจีนที่เคยผลิตสินค้าตลาดล่าง แต่ได้ยกระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้กฎว่าด้วยการตลาดและการค้าต้องปรับใหม่ทั่วโลกในทุกระดับของตลาด เพราะความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหนๆ

Chapter 9 Pirate Nation จุดอ่อนที่จีนยังไม่สามารถแก้ไขได้ตก และกลายเป็นความอ่อนเปราะทางด้านภาพลักษณ์ในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของโลก กำลังเริ่มเปลี่ยนไปเพราะผู้ผลิตและผู้ค้าจีนเริ่มเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์ของตนเอง และต้องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองขึ้นมามากทุกขณะ แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ยากแก่การแก้ไข และต้องการเวลายาวนาน

Chapter 10 The Chinese-American Economy การเชื่อมโยงกลไกทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอเมริกาที่ทำให้ต้องพึ่งพากันและกันมากขึ้น แม้ว่าจะมีความขัดแย้งแฝงอยู่ในความสัมพันธ์เป็นระยะๆ เช่นเรื่องสิ่งทอ และค่าเงิน แต่ก็ไม่ทำให้การร่วมมือในการค้า การเงิน และการลงทุนชะงักงันได้ กลับมีแต่จะเพิ่มพูนทั้งปริมาณและคุณภาพ

Chapter 11 The Chinese Century ความมั่งคั่งของจีนที่กลายเป็นกลไกถ่วงดุลแบบสามเส้าระหว่าง อเมริกา-สหภาพยุโรป-จีน ได้ทำให้บทบาทของจีนในเอเชียเพิ่มมากขึ้นและทับรอยเดิมของอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจีน เริ่มมีแนวโน้มเป็นชาตินิยม มากกว่าชี้นำด้วยอุดมการณ์เหมือนในอดีต ซึ่งก่อให้เกิดการปรับดุลของความสัมพันธ์ในโลกกันใหม่

Chapter 12 One Last Story การรุกของทุนส่วนเกินที่สั่งสมเอาไว้ของจีนจากความมั่งคั่งที่มีอยู่ ผ่านบริษัทจีนเข้าไปซื้อกิจการต่างๆ ทั่วโลก ทำให้บาทของบริษัทจีนในโลกเข้มข้นกว่าเดิมหลายเท่า และอาจก่อให้เกิดกระแสหวาดวิตกว่าจีนกำลังจะกลายเป็นจักรวรรดิรุ่นใหม่ ซึ่งผู้เขียนสรุปว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะความจริงแล้ว บริษัทจีนที่ชาวโลกควรกลัวไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่เหล่านั้น แต่ได้แก่บริษัทขนาดกลางและเล็กที่กำลังมุ่งสร้างความมั่งคั่งเบื้องหลังความสำเร็จของจีนโดยรวมมากกว่า



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us