Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Modern Mind
ผู้เขียน: Peter Watson
ผู้จัดพิมพ์: Perennial (Harper Collins)
จำนวนหน้า: 847
ราคา: ฿799
buy this book

โลกที่เรียกว่าสมัยใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ (เครื่องปั่นด้าย-ทอผ้า และเครื่องจักรไอน้ำ) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ถูกครอบงำด้วยอุดมคติแบบ "ก้าวหน้า" ซึ่งเกิดจากการผสมผสานปรัชญากรีก-คริสเตียน อย่างได้จังหวะมาถึงปัจจุบัน ถือเป็นปรัชญาหลักของคนร่วมสมัยเลยก็ว่าได้ แต่ปรัชญานี้ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งปัญหา เพราะเมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวมาถึงขั้น "เหนือการควบคุม" มนุษย์ก็เริ่มลังเลใจว่า ตนเองกำลังสร้างปีศาจขึ้นมา เหมือนกับที่พระเจ้าในอดีตสร้างซาตานขึ้นมาแล้วควบคุมไม่ได้ และทำลายไม่ได้

ปรัชญา "ก้าวหน้า" ที่ครอบคลุมจริยธรรม สังคม ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยี เริ่มถูกตั้งคำถามและสำรวจครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเหมาะสมเพียงใด และจะถูกแทนที่ด้วยปรัชญาที่เหนือกว่าได้หรือไม่

คำตอบยังไม่มี แต่ระหว่างนี้ก็มีการค้นพบหลายอย่างที่น่าสนใจ

หนังสือที่เขียนโดยอดีตผู้สื่อข่าวอังกฤษที่สนใจในเรื่องแนวคิดและจิตสำนึกของผู้คน เป็นการค้นคว้าที่ลุ่มลึกถึงวิวัฒนาการของแนวคิด-จิตสำนึก ที่ผู้คนในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบันได้ก่อรูปขึ้นมา โดยเขาได้พบว่า แม้กระแสปรัชญา "ก้าวหน้า" จะมีบทบาทครอบงำจิตสำนึกและวิญญาณของผู้คนทั้งโลกอย่างลึกซึ้งต่อเนื่อง แต่ก็มีกระแสปรัชญาอื่นๆ ที่แสดงพลังออกมาประดุจ "ดอกไม้ริมทาง" ที่ส่งผลสะเทือนเป็นระยะๆ ตลอดศตวรรษดังกล่าว รวมถึงปรัชญาสมัยใหม่ตอนปลาย หรือ post-modernism ที่มีการพูดถึงในช่วง 20 ปีนี้อย่างอึงคนึงด้วย

นี่คืองานสำรวจจิตสำนึกที่โดดเด่นเล่มหนึ่งทีเดียว แม้ว่ามันอาจจะทำให้คนที่คิดอ่านต้องคิดแล้วคิดอีกเมื่อเห็นความหนาของหนังสือ แต่ในความหนานั้นไม่ได้หนักอึ้งเสียจนเคี้ยวไม่ลงอย่างแน่นอน เพราะการสรุปใจความที่น่าอ่านของผู้เขียน สามารถทำให้คนอ่านหนังสือนี้วางไม่ลงได้ง่ายๆ ประดุจอ่านนิยายกำลังภายในได้เลย ขอเพียงแค่มีปูมหลังและความอดทนบ้างเท่านั้น

สำหรับคนที่ชื่นชอบซิกมันด์ ฟรอยด์ หรือคาร์ล ยุง หนังสือเล่มนี้อาจจะก่อให้เกิดความคับข้องใจไม่น้อยทีเดียว เพราะทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เป็นกึ่งวิทยาศาสตร์ของเขา ทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่ายมาก และบางส่วนของทฤษฎีก็ยังไม่สามารถพิสูจน์สมมติฐานได้

ผู้เขียนเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ.1900 ซึ่งปรัชญาก้าวหน้าในสาขาความรู้ต่างๆ ถูกนำเสนอออกมาอย่างท่วมท้น และตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของผู้คนอย่างกว้างขวางและล้ำลึก หลังจากการถกเถียงเรื่อง "พระเจ้าตายแล้ว" ของนิทเช่ ถูกเสนอขึ้นมาก่อนหน้านั้น

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้านหนึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าชนิดก้าวกระโดดในสังคมตะวันตก แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้คนที่ตามไม่ทันสับสนอย่างรุนแรง และเปิดทางให้กับปรัชญา "ดอกไม้ริมทาง" ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

ในด้านของความก้าวหน้า การเฟื่องฟูของลัทธิปัจเจกชนนิยมได้เติบโตขึ้นถึงขีดสุด (บางทีเรียกว่าเกิดยีนแห่งความเห็นแก่ตัว) แต่ในด้านกลับกัน ก็มีปรัชญาที่คอยสำรวจความก้าวหน้าแทรกปนอยู่ด้วยต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่นวนิยายของโจเฟซ คอนราด ที่พยายามแสดงจิตใจด้านมืดของมนุษย์ออกมา ในขณะที่ความก้าวหน้าที่ลัทธิจักรวรรดินิยมนำไปใช้ในโลกด้อยพัฒนาอย่างจีนและอินเดีย กลับทำให้คนหลายร้อยล้านคนต้องอยู่ในความอลหม่านและแสนสาหัส

นอกจากนั้นการค้นพบบางอย่างเช่นสังคมวิทยา ก่อให้เกิดคำถามใหม่ตามมาเกี่ยวกับความเสมอภาคของสังคมและคำถามที่ท้าทายสถาบันเก่าแก่ของสังคมจากความคับข้องใจ

ความก้าวหน้าทางปรัชญาและกระบวนทัศน์ถูกรบกวนอย่างรุนแรงจากสงครามโลก 2 ครั้งที่ทำให้ปรัชญา "ดอกไม้ริมทาง" หลายอย่างถูกนำเสนอขึ้นมาอย่างมีพลัง เช่น ปรัชญาและแนวคิดว่าด้วย "วิญญาณที่สาบสูญ" ในปัญญาชนยุโรป และปรัชญา "รวยทางลัด" ในอเมริกา

เทคโนโลยีสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกว่าการปฏิวัติสื่อ ได้ส่งผลสะเทือนต่อจิตสำนึกของคน 2 ด้านพร้อมกันคือ ด้านหนึ่งมีความสนใจเรื่องราวของพฤติกรรมทางเพศอย่างโจ่งแจ้งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอีกทางหนึ่งได้สร้างกระแส "คนหนุ่มสาวที่ฉุนเฉียว" ที่ต้องการทำลายล้างกระบวนการชีวิตเก่าด้วยสำนึกขบถ

ท้ายสุด ความก้าวหน้าจากการถอดรหัส DNA กลับนำมนุษย์ไปสู่คำถามทางจิตสำนึกครั้งใหม่ และก่อให้เกิดคำถามทางวัฒนธรรมที่รุนแรงตามมา จนเริ่มเกิดกระแสอนาธิปไตยทางความรู้ครั้งใหม่ขึ้นมาอีก

ทั้งหมดนี้ อัดแน่นอยู่ในหนังสือซึ่งสำหรับคนจำนวนมากแล้วอาจจะเป็นเรื่องต้องปีนบันไดอ่าน แต่ในโลกที่สับสนและเต็มไปด้วยข้อมูลขยะมากมาย การได้อ่านหนังสือที่บอกให้รู้ว่า มนุษย์กำลังอยู่ในภาวะจิตสำนึกอย่างไร เป็นแต้มต่อที่ช่วยให้เกิดภูมิปัญญาใหม่รับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นได้ดีทีเดียว

ถือเป็นหนังสือที่ต้องอ่าน หากต้องการความแตกต่างทางวุฒิภาวะและภูมิปัญญาในยุคปัจจุบัน

รายละเอียดในหนังสือ
Part 1 Freud to Wittgenstein : The Sense of a Beginning

Chapter 1 Disturbing the Peace ความสำคัญของปี 1900 ไม่ใช่แค่ปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เท่านั้น แต่ยังเป็นปีของการปฏิวัติทางกระบวนทัศน์ใหม่ของมนุษย์ด้วย นับแต่ซิกมันด์ ฟรอยด์ ตีพิมพ์หนังสือจิตวิทยา The Interpretation of Dreams อันโด่งดังที่เป็นการปฏิวัติการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ตามมาด้วยการค้นพบอารยธรรมไมโนนที่เกาะครีต ซึ่งทำให้ความรู้เรื่องอารยธรรมยุคกรีกต้องตะลึงงัน ตามมาด้วยการเปิดเผยทฤษฎีชีววิทยาของเมนเดล การค้นพบอะตอม การคิดทฤษฎีเทอร์โมไดนามิกส์ และปิกาโซ่เดินทางจากบาร์เซโลนาไปค้นหาเส้นทางใหม่ทางศิลปะ ก่อนจะปฏิวัติวงการ

Chapter 2 Half-way House ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การขนส่ง และสงครามตลอดจนการถือกำเนิดของรัฐประชาชาติในยุโรปมากมาย นำไปสู่การสำรวจความคิดครั้งใหญ่ทั่วยุโรป โดยมีศูนย์กลางที่เมืองที่พูดภาษาเยอรมัน และจุดประกายเริ่มขึ้นที่ คาร์ล พริบราม คิดคำว่า โลกทัศน์ ขึ้นมา เพื่อก่อให้เกิดวิวาทะทางปัญญาไปทั่วยุโรป และเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดว่าด้วยปัจเจกชนนิยมในทุกสาขาวิชา

Chapter 3 Darwin's Heart of Darkness การตายของเฟรดริค นิทเช่ ไม่เพียงแต่ทำให้ความคิดและจิตสำนึกต่อต้านความก้าวหน้า จักรวรรดินิยม และเศรษฐกิจทุนนิยมเฟื่องฟูขึ้นมา (สรุปรวมเรียกว่า Nihilism) ซึ่งสรุปด้วยนวนิยายด้านมืดของจิตใจมนุษย์ Heart of Darkness โดยโจเซฟ คอนราด ยังผลให้เกิดการปะทะทางความคิดระหว่างพวกหัวก้าวหน้า และพวกอนุรักษนิยมรุนแรงมากขึ้นทั่วยุโรป

Chapter 4 Les Demoiselles de Modernisme การแสดงดนตรีที่เวียนนาของ ริคาร์ด สเตราส์ ที่ชื่อ Salome ก่อกำเนิดคำว่า สมัยใหม่ (modernism) พร้อมกับความเฟื่องฟูของการแสดงออกอย่างทั่วด้าน ทั้งศาสตร์และศิลปะในยุโรปและอเมริกาที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติความรู้ แต่ผลพวงที่น่าเศร้าของการเปลี่ยนแปลงนี้กลับไปโผล่ที่จีน ซึ่งอยู่อีกปลายหนึ่งของโลก เพราะที่นั่น ความคิดสมัยใหม่ของยุโรปกลายเป็นลัทธิจักรวรรดินิยมที่ทำลายสังคมจารีตของจีนจนย่อยยับ และมีจุดจบที่ขบถนักมวยที่นองเลือด ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นยุคสมัยที่ขัดแย้งในตัวเอง

Chapter 5 The Pragmatic Mind of America การแพร่กระจายอย่างกว้างขวางของปรัชญาปฏิบัตินิยม (pragmatism) ที่เริ่มโดย ชาร์ลส แซนเดอร์ เพียร์ซ และขยายต่อโดยวิลเลียม เจมส์ ในอเมริกา ซึ่งนำมาสู่การปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับอย่างกว้างขวางทั่วอเมริกา ผลพวงคือ ทำให้สถาปนิกแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ พบแนวทางใหม่ และสองพี่น้องตระกูลไรท์กล้าทดสอบการบิน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการเริ่มต้นของธุรกิจภาพยนตร์ขึ้นมาในอเมริกา

Chapter 6 E=MC2 ความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีและความคิดวิทยาศาสตร์ในยุโรป ไม่มีแนวคิดใดที่จะก่อผลสะเทือนรุนแรงเสมือนระเบิดประลัยกัลป์เท่ากับทฤษฎีสัมพัทธภาพของอัลแบร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ซึ่งผสานปรัชญาของดาร์วิน และคานท์ ออกมาเป็นผลิตผลที่แปลกประหลาด ซึ่งท้าทายภูมิปัญญา และทำให้กระบวนทัศน์ของมนุษย์เปลี่ยนไปในฐานะส่วนหนึ่งของจักรวาล ในเวลาเดียวกันเบอร์ทรันด์ รัสเซล ก็เสนอปรัชญาใหม่ของเขา The Principles of Mathematics สำทับอีก ซึ่งยังผลให้จิตสำนึกมนุษย์ถูกตัดขาดจากอดีต ไม่สามารถถอยหลังกลับไปได้อีก

Chapter 7 Ladders of Blood โลกของการเหยียดสีผิวถูกโจมตีอย่างรุนแรง ด้วยฝีมือของนักคิดทางด้านสังคมวิทยาอเมริกัน W.E.B. Du Bois ผู้ซึ่งตั้งคำถามที่ท้าทายโลกว่า คนผิวสีขาวฉลาดกว่ามนุษย์ใดในโลกจริงหรือไม่? กลายเป็นระเบิดเวลาที่ก่อผลสะเทือนทางจิตสำนึกผู้คนทั่วโลก ก่อนที่ผลการทดลองของ ที.เอช. มอร์แกน จะระบุชัดว่าคนผิวสีไหนก็มีโครโมโซมมนุษย์เหมือนกัน และทำให้วิชามานุษยวิทยาเฟื่องฟูมากขึ้น เพื่อจะพิสูจน์หาความลับของสัญลักษณ์ทางอารยธรรมในอดีตของมนุษย์ที่เคยถูกถือว่าป่าเถื่อน

Chapter 8 Volcano ก่อนสงครามโลกครั้งแรกจะเริ่มขึ้น การฟุ้งกระจายของกระบวนทัศน์และความรู้ใหม่ระบาดไปทั่วยุโรปประหนึ่งภูเขาไฟระเบิดในทุกสาขา นับแต่กวี ดนตรี ฟิสิกส์ และจิตวิทยา

Chapter 9 Counter-Attack สงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อผลสะเทือนทางพัฒนาการทางปัญญาทั่วยุโรปอย่างรุนแรง จนแทบจะไม่มีความก้าวหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นในระหว่างสงคราม นอกจากความรู้ว่าด้วยไอ.คิว.ที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตามมาด้วยผลงานของศิลปินลี้ภัยในสวิสที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดเซอเรียลลิสม์

Part 2 Spengler to Animal Farm : Civilisations and Their Discontents

Chapter 10 Eclipse ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 1 การปฏิวัติบอลเชวิค และเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในปรัชญาที่เริ่มต้นด้วยออสวาลด์ สเปงเกลอร์ ซึ่งเน้นจิตวิทยามวลชน ในขณะที่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ค้นพบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ปฏิวัติใหม่ของเขา พร้อมกับนักการเมืองทั่วโลกแสวงหารัฐบาลโลกกันอย่างเต็มตัว พร้อมกันนั้น การปฏิวัติในจีนเพื่อทำลายสังคมเก่าลงไปก็เกิดขึ้น

Chapter 11 The Acquisitive Wasteland ปรัชญาและแนวคิดว่าด้วย "วิญญาณที่สาบสูญ" เกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั่วยุโรปและอเมริกา ผ่านงานศิลปะของทีเอส เอลเลียท เจมส์ จอยซ์ เวอร์จิเนีย วูลฟ์ เอฟ สก็อต ฟิตซ์เจอรัล และศิลปินเซอเรียลลิสม์

Chapter 12 Babbitt's Middletown ในขณะที่ยุโรปกำลังสับสนกับอนาคตหลังสงคราม แนวคิดว่าด้วยความเฟื่องฟูของชนชั้นกลางหรือเศรษฐีใหม่หลังสงครามในอเมริกา ก็กลายเป็นโลกใหม่ ที่ถูกค้นพบที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังกับวัฒนธรรม "รวยทางลัด" ที่เป็นจริง

Chapter 13 Heroes' Twilight ลัทธิมาร์กซ์ กลายเป็นหนึ่งในคำตอบของปัญญาชนยุโรปที่ต้องการก้าวล่วงจากความสับสนของความผิดแปลกสภาวะ และความเปราะบางของชีวิตหลังสงครามใหญ่โดยผ่านสำนักแฟรงก์เฟิร์ตที่โด่งดังในเยอรมนี โดยเฉพาะคนที่โดดเด่นที่สุด ฟรานซ คาฟก้า ก่อนที่ลัทธินาซีและฟาสซิสม์จะเถลิงอำนาจ

Chapter 14 The Evolution of Evolution ในขณะที่ความก้าวหน้าและความขัดแย้งทางทหารคุกรุ่นครั้งใหม่ในยุโรปความสนใจของคนกลับย้อนไปสู่โลกแห่งอดีตเพื่อค้นหาอนาคตใหม่ ทำให้ความรู้ทางโบราณคดีกลายเป็นยอดนิยมชั่วคราว เมื่อมีการขุดค้นเมืองโบราณในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ พบหลักฐานใหม่จำนวนมหาศาลจำนวนมาก ซึ่งช่วยอุดรอยโหว่ทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไปได้เกือบทั้งหมด

Chapter 15 The Golden Age of Physics ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มขึ้น การแข่งขันทางทหารทำให้งานวิจัยทางฟิสิกส์ก้าวรุดหน้าอย่างเร่งรัด การค้นพบธาตุใหม่ๆ และทฤษฎีใหม่ๆ ที่ล้ำลึกไปลงถึงระดับนิวเคลียร์ฟิสิกส์ เป็นจุดกำเนิดของวิวัฒนาการทางการบิน และการหาทางสร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมา

Chapter 16 Civilisations and Their Discontents จิตสำนึก ตั้งข้อสงสัยความก้าวหน้าของอารยธรรมระบาดอย่างหนักหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำ และงานเขียนของนักคิดที่ใช้อาชีพนักข่าวเป็นช่องทางแสวงหาโลกและตนเอง กลายเป็นสิ่งที่เฟื่องฟูนับจากจอร์จ ออร์เวล จนถึงอัลดัส ฮักซเล่ย์ แต่ในเวลาเดียวกันผู้นำรัฐที่เผชิญหน้าทางทหารกันในยุโรป ต่างก็หันมาเริ่มปฏิบัติการสร้างรัฐตำรวจลับอย่างกว้างขวาง

Chapter 17 Inquisition ยุคของการใช้อำนาจรัฐปราบปรามปัญญาชนที่ขัดแย้งกับอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย เริ่มต้นเสมือนยุคของศาลศาสนาในปลายสมัยกลาง ทำให้ปัญญาชนในยุโรปมีทางเลือกน้อยลง และหาทางลี้ภัยหรือหยุดทำงานของตนเสีย หรือไม่ก็ทำงานรับใช้เผด็จการอย่างเต็มตัว ดังกรณีของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ หรือมายากอฟสกี้ ไม่อย่างนั้นจะถูกจับกุมและฆ่าตาย

Chapter 18 Cold Comfort เทคโนโลยีภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม กลายเป็นกระแสใหม่ที่ทำให้ธุรกิจสื่อเฟื่องฟูขึ้นมา พร้อมกับช่องทางใหม่ของการโฆษณาชวนเชื่อที่พัฒนากลายเป็นศาสตร์ที่ซับซ้อน ในขณะที่อเมริกากลายเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ความคิดก้าวหน้าของโลกที่เปิดเสรีกว่ายุโรป ซึ่งทำให้โลกได้รู้จักภาพยนตร์ชั้นยอดอย่าง Citizen Kane ของออร์สัน เวลส์

Chapter 19 Hitler's Gift ไม่มีชาติใดได้รับประโยชน์ จากการลี้ภัยของปัญญาชนและศิลปินยุโรปในยุคก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มากกว่าอเมริกาที่กลายเป็นศูนย์กลางอารยธรรมของโลกอย่างกะทันหันในเวลาไม่กี่ปี

Chapter 20 Colossus มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะทำให้อารยธรรมยุโรปหยุดนิ่ง แต่ความก้าวหน้าทางสรรพาวุธกลับรุดหน้าไปไกลมาก ในขณะที่ความรู้ทางด้านชีวะเคมีก็ถูกกระตุ้นอย่างเข้มข้นเพื่อป้อนอุตสาหกรรมยา

Chapter 21 No Way Back เมื่อสงครามหฤโหดจบสิ้นลง แนวคิดว่าด้วยสังคมเปิดและเสรีภาพก็กลับมาสู่ความนิยมครั้งใหม่ ภายใต้ยุคของสงครามเย็น ปรัชญาของคาร์ล ปอปเปอร์ กลายเป็นคัมภีร์แห่งเสรีภาพอย่างแข็งขันสำหรับคนที่ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบไม่ว่าซ้ายหรือขวา ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกกลับมาเป็นแกนคิดใหม่ และแนวคิดรัฐสวัสดิการก็เริ่มขึ้นมาใช้แพร่หลาย

Chapter 22 Light in August มหาประลัยของอารยธรรมเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกยุติลงเมื่อโครงการแมนฮัตตันได้ถูกผลักดัน กลายเป็นการใช้วิทยาศาสตร์อย่างผิดรูป เมื่อระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกถูกทิ้งในญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลเพื่อยุติสงครามเร็วขึ้น

Part 3 Sartre to the Sea of Tranquility : The New Human Condition and The Great Society

Chapter 23 Paris in the Year Zero สงครามเย็นทำให้ปัญญาชนยุโรปยุคฟื้นตัวกลับเข้าสู่วังวนของการแสวงหาจิตสำนึกตนเองครั้งใหม่ ฌอง-ปอล ซาร์ตโด่งดังในชั่วข้ามคืนกับปรัชญาเอกซิสตองเชียลลิสม์ของเขา ที่เป็นการนำเอาอริสโตเติลมาทำการรีไซเคิลใหม่

Chapter 24 Daughters and Lovers งานเขียนของ ซีโมน เดอ โบวัวร์ สร้างอิทธิพลทำให้คนกลับมาสนใจกับปัญหาความสัมพันธ์ทางเพศอย่างเปิดเผยและรอบด้านมาก จนกลายเป็นประเด็นหลักของสังคมโลกมาถึงปัจจุบัน

Chapter 25 The New Human Condition ความเฟื่องฟูของวิชาสังคมวิทยาที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ปรับเปลี่ยนจากลักษณะจารีตของคน มาเป็นความสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากสังคมมีพลวัตรวดเร็วและมีการข้ามพรมแดนไปมาหาสู่กันมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีและกติการะหว่างประเทศใหม่ๆ ทำให้สถาบันเดิมเริ่มล่มสลายลงไป จนกระทั่งต้องมีการแสวงหาและพยายามสร้างระเบียบใหม่ขึ้นมาทดแทน

Chapter 26 Cracks in the Canon การก่อกำเนิดของพลังใหม่ "คนหนุ่มสาวที่ฉุนเฉียว" ซึ่งไม่พอใจกับสถาบันเก่าและพยายามขบถด้วยการสร้างวัฒนธรรมย่อยของตนขึ้นมาในช่วง คริสต์ศตวรรษ 1950 เริ่มขึ้นในอเมริกา และระบาดไปทั่วโลกผ่านสื่อใหม่ๆ และงานศิลปะทุกสาขา

Chapter 27 Forces of Nature ความสำเร็จในการส่งยานอวกาศของโซเวียต และการค้นพบทางโบราณคดีเกี่ยวกับวิวัฒนการของมนุษย์ในแอฟริกาของหลุยส์ ลีคีส์ ทำให้กระบวนทัศน์ของผู้คนเปลี่ยนไปอีกครั้งอย่างก้าวกระโดด นำไปสู่ข้อสรุปอันโด่งดังของโธมัส คุห์น ที่ระบุว่า วิทยาศาสตร์ไม่ใช่อะไรนอกจากกระบวนการของความคิดที่แสดงออกด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และสัจธรรมเป็นของชั่วคราวเท่านั้น

Chapter 28 Mind Minus Metaphysics ภาพยนตร์สยองขวัญของอัลเฟรด ฮิทชค็อก ทำให้ความสนใจของผู้คนมุ่งเน้นกลับไปสู่อาการป่วยทางจิตของผู้คนในโลกที่เทคโนโลยีมีบทบาทสูงขึ้นทุกขณะ และโนม ชอมสกี้ ก็ได้ทำให้โลกตะลึงกับข้อสรุปของเขาที่ระบุว่า บางส่วนของสมองที่ใช้จดจำนั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

Chapter 29 Manhattan Transfer การหลบหนีจากอนาคตของจิตสำนึกผู้คนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมื่อเกิดการปฏิวัติวงการศิลปะครั้งสำคัญโดยมาร์ธา แกรห์ม และศิลปินกลุ่ม Pop Art ในอเมริกา ที่พยายามสร้างฉันทลักษณ์ใหม่เข้ากับโลกอันสับสนและขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา

Chapter 30 Equally, Freedom, and Justice in the Great Society การเติบโตของเมืองใหญ่ระดับมหานคร (megacity) ที่วุ่นวายสับสน และเต็มไปด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรมทั่วโลก ทำให้เกิดแนวคิดแสวงหาและจัดระเบียบสังคมเมืองใหญ่เสียใหม่เพื่อสร้างสมดุล สร้างความเท่าเทียมกัน และเพิ่มเสรีภาพกับชีวิตเฟื่องฟูอย่างมาก ในขณะที่มาร์แชล แมกลูฮาน ก็ทิ้งระเบิดเวลาว่าด้วยอิทธิพลครอบงำของสื่อร่วมสมัยต่อมนุษย์

Chapter 31 La Longue Duree การค้นพบทางธรณีวิทยา ในทศวรรษ 1960 ทำให้เกิดประเด็นคำถามเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษยชาติในโลกว่าจะมาจากต้นธารเดียวกัน แต่ถูกจำแนกให้แตกต่างกันเพราะสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นฐานมากน้อยเพียงใด และมีการส่งผ่านอารยธรรมไปมาจากแหล่งต่างๆ ตลอดเวลาหรือไม่

Chapter 32 Heaven and Earth การเดินบนดวงจันทร์ของนีล อาร์มสตรอง และการค้นพบกล้องดูดาวที่ทรงอานุภาพ ส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อกระบวนทัศน์ของผู้คนในโลกเกี่ยวกับเรื่องสวรรค์ และจักรวาล และเป็นแรงกระตุ้นให้นักเศรษฐศาสตร์อย่าง ฟริทซชูมักเกอร์ ชาวอังกฤษเชื้อสายเยอรมันคิดย้อนศรใหม่เสนอทฤษฎี small is beautiful อันโด่งดังของเขาเป็นแนวทางเลือกจากกระแสหลัก

Part 4 The Counter-Culture to Kosovo : The View From Nowhere

Chapter 33 New Sensibility วิกฤติน้ำมันครั้งแรกเปิดทางให้จิตสำนึกของมุสลิมอาหรับตระหนักถึงพลังของตนต่อชาวโลกเป็นครั้งแรก และเริ่มเรียนรู้จะใช้ดอลลาร์น้ำมันของตนให้เป็นอำนาจต่อรอง ทำให้นักคิดทั่วโลกต้องกลับมาทบทวนคุณค่าของตนใหม่ทั้งหมดเสมือนเดินกลับหัวกลับเท้าอีกครั้ง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมใหม่ 2 สาขาคือ คอมพิวเตอร์ (พอล อัลเลน-บิลล์ เกตส์) และพันธุวิศวกรรม (เฮอร์เบิร์ต บอยล์-โรเบิร์ต สวอนสัน) ซึ่งทำให้โลกขับเคลื่อนเร็วขึ้นไปอีก

Chapter 34 Genetic Safari เทคโนโลยีที่ให้คำตอบไม่เพียงพอต่อมนุษยชาติในการตอบคำถามสำคัญของชีวิตคนที่ไม่ใช่ศาสนาหรือศรัทธา ทำให้การศึกษาว่าด้วยสัญชาตญาณ และชีวเคมีในสัตว์กลับมาเป็นกระแสใหญ่อีกครั้ง และลุ่มลึกไปถึงการค้นหาโครงสร้างทางพันธุศาสตร์ในสิ่งมีชีวิตอย่างจริงจัง

Chapter 35 The French Collection การโต้กลับต่อความก้าวหน้าทางวัตถุของปัญญาชนฝรั่งเศสครั้งสุดท้ายนำโดยมิเชล ฟูโกท์ และหลุยส์ อัลทุสแซร์ ที่นำเสนอชุดความคิดนีโอคลาสสิกที่โดดเด่นทางด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์เพื่ออุดช่องว่างที่ปัญญาชนอเมริกันร่วมสมัยทิ้งเอาไว้

Chapter 36 Doing Well, and Doing Good มิลตัน ฟรีดแมนใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินของเขา สร้างวาระซ่อนเร้นที่โด่งดังด้วยการปฏิเสธอำนาจของ "พี่ใหญ่" (หมายถึงรัฐบาลที่แทรกแซงกลไกทางเศรษฐกิจจนผิดรูป) ด้วยการเสนอว่า ทุนนิยมเสรีคือคำตอบของเสรีภาพที่แท้จริงโดยเปรียบเทียบ

Chapter 37 The Wages of Repression ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโรคเอดส์ที่เปี่ยมมหันตภัย ทำให้ปัญญาชนหันกลับไปทบทวนทฤษฎีเก่าของปัญญาชนในอดีต และเกิดกระบวน "ชำระความ" กันอย่างขนานใหญ่ โดยเหยื่อได้แก่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ คาร์ล ยุง และมาร์กาเร็ต มี้ด

Chapter 38 Local Knowledge เสียงวิพากษ์ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เกินขนาดนำไปสู่กระบวนการเคลื่อนไหวทางปัญญาครั้งใหม่ที่เรียกตัวเองว่า ไพสต์ โมเดิร์นนิสม์ (สมัยใหม่ตอนท้าย) และ New Ages โดยมีเป้าหมายที่จะดึงวิทยาศาสตร์กลับมาสู่พื้นดิน

Chapter 39 The Best Idea, Ever' เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกายภาพเริ่มหมดความเร้าใจ ปัญญาชนก็กลับมาสู่การค้นหาความลับในตัวมนุษย์เอง ความลับดำมืดของ DNA ได้ถูกเปิดเผยอย่างมากมายขึ้นทุกขณะ และก้าวหน้าไปถึงขั้นของการตัดต่อพันธุกรรมใหม่ (GNOME)

Chapter 40 The Empire Writes Back ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ และการเติบใหญ่ของสื่อทำลายจินตนาการของผู้คนในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสาหัสสากรรจ์ ก่อให้เกิดการโต้กลับของศิลปินนอกอเมริกาที่ใช้เรื่องตำนานปรัมปรามาประยุกต์กลายเป็นงานทางวัฒนธรรมใหม่ magic realism ที่เฟื่องฟูจนกลายเป็นกระแสหลักของโลก

Chapter 41 Culture Wars การต่อสู้อย่างสับสนเพื่อหาทางออกจากภาวะตีบตันและอนาธิปไตยทางภูมิปัญญาในกลุ่มปัญญาชนชั้นนำของอเมริกาและยุโรป

Chapter 42 Deep Order สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง สร้างผลสะเทือนใหญ่หลวงจากการเปิดกระบวนทัศน์ใหม่ของเขาเกี่ยวกับทฤษฎีไอน์สไตน์และอวกาศ พร้อมกับกระตุ้นให้คนกลับไปค้นหาว่า ชีวิตเริ่มต้นจากจุดไหน

Conclusion : The Positive Hour บทสรุปเรื่องทั้งหมดของผู้เขียน



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us