Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Cheating Culture
ผู้เขียน: David Callahan
ผู้จัดพิมพ์: Harvest Books
จำนวนหน้า: 384
ราคา: ฿643
buy this book

วอลแตร์เคยบอกไว้นานมาแล้วว่า เบื้องหลังความมั่งคั่งร่ำรวย คือ อาชญากรรมดีๆ นี่เอง

หนังสือเล่มนี้แม้จะไม่ได้บอกชัดเจน ก็ยอมรับโดยดุษณีถึงคำกล่าวหาของวอลแตร์ แต่ผู้เขียนไปไกลกว่านั้นในการวิเคราะห์สังคมอเมริกัน ที่กำลังป่วยอย่างหนัก

เขามองว่า จริยธรรมที่เสื่อมถอยในสังคมอเมริกันร่วมสมัย ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจริยธรรมของใครบางคนย่อหย่อนหรือบกพร่อง หากเป็นปัญหากระบวนการเรียนรู้ทางสังคมในลักษณะโครงสร้างกันเลยทีเดียว การจะแก้ไขปัญหานี้ โดยไม่ได้แตะต้องโครงสร้าง ก็เป็นแค่ปลายเหตุเท่านั้น

การฉ้อฉลไม่เฉพาะทางธุรกิจในอเมริกานั้น เป็นสิ่งที่กระทำกันเป็นนิจศีลทุกหนแห่ง ทุกวงการ และทุกเวลา ผู้เขียนระบุเลยว่า ปัญหาเกิดจากบรรยากาศการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น รวมถึงกระบวนการให้รางวัลผู้ชนะ และลงโทษผู้แพ้แบบ "กินรวบ" เป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายที่ทำให้ทุกอย่างเป็นดังที่เห็น

เขาระบุว่า ระบบให้รางวัลและลงโทษได้ก่อรูขึ้นเป็นจริยธรรมและวัฒนธรรมที่กลายรูปเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องสำหรับคนที่มุ่งหวังในชัยชนะในการไขว่คว้าหาความสำเร็จ

ปรากฏการณ์เอนรอน เวิลด์คอม หรืออื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นปลายของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ลึกลงไปหากสำรวจระบบการศึกษา การแข่งขันกีฬา สื่อมวลชน และการชำระภาษีของประชาชน ก็จะเห็นการฉ้อฉลปรากฏทั่วไปในวงกว้าง ที่ทำให้ความซื่อสัตย์กลายเป็นถ้อยคำฟุ่มเฟือย

แรงจูงใจให้คนฉ้อฉลนั้นมาจากพลังขับที่กลัวความสูญเสียจากการพ่ายแพ้ และถูกลงโทษอย่างไร้ปรานี ในขณะที่รางวัลจากการฉ้อฉลที่ประสบความสำเร็จมีมากเกินพอเมื่อเทียบกับบทลงโทษ ทำให้คนละทิ้งจริยธรรมเก่าๆ หันมามีมุมมองว่า การฉ้อฉลเป็นเกมที่ยุติธรรมไปโดยปริยาย ส่งผลให้เชื้อโรคนี้ระบาดไปทั่วสังคม

การปล่อยเสรีในระเบียบทางธุรกิจที่มากขึ้นใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมาของอเมริกา เป็นการเปิดช่องให้กับคนที่ต้องการละทิ้งจริยธรรมได้ไขว่คว้าหาประโยชน์อย่างเต็มที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ทะเยอทะยานสร้างตัวในชั่วอายุเดียว

กล่าวโดยเนื้อหา หนังสือเล่มนี้ยังมีสาระที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้น หากจะเข้าใจทะลุปรุโปร่งในเรื่องการสูญสลายของจริยธรรมในสังคมธุรกิจอเมริกัน ต้องอ่าน What Price the Moral High Ground? : Ethical Dilemmas in Competitive Environments เขียนโดย Robert H. Frank ซึ่งลงลึกไปถึงระดับจิตสำนึกว่า เพราะเหตุใด แม้กระทั่งคนที่ร่ำรวยอยู่แล้วในสังคมอเมริกัน จึงไม่เคยรู้สึกและรู้จัก "พอ" กันเสียบ้าง แม้จะรู้ว่า การเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางวัตถุนั้น ท้ายสุดก็ไม่เคยทำให้มีความสุขขึ้นมาได้

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า รากเหง้าของโครงสร้างความชั่วร้ายทางจริยธรรมนี้มาจากไหน แต่ผู้เขียนหนังสือนี้ก็ดูจะค่อนข้างประนีประนอมมากเหลือเกิน เมื่อกล่าวถึงทางออกจากความชั่วร้าย โดยเขากล่าวไว้ในบทท้ายสุดของหนังสืออย่างสั้นๆ ด้วยท่าทีสิ้นหวังพอสมควร

4 ทางออกจากความชั่วร้ายในทัศนะของผู้เขียน ประกอบด้วย

1. สร้างโอกาสให้คนอเมริกันทั่วไปมองเห็นว่า ทุกคนสามารถสร้างโอกาสเท่าคนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเน้นเป้าหมายความร่ำรวยเป็นฐานรากเสมอไป

2. สร้างเสริมคุณค่าใหม่ทางสังคม ที่เน้นความใกล้ชิดกันของคนในสังคมเพื่อสร้างกำลังใจและความอบอุ่นแก่กันเป็นสำคัญ

3. จัดการปัญหาเรื่องค่านิยมบริโภคเกินจำเป็นลงไปให้ลดต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นใช้มาตรการด้านภาษี

4. สร้างเสริมค่านิยมร่วมที่เฉลี่ยกันไประหว่างสังคมพหุภาคี

ข้อเสนอทั้งสี่ข้อนี้ ผู้เขียนยอมรับว่าไม่แตกต่างไปจากนิทานเด็กเรื่องพวกหนูมีมติให้เอากระพรวนไปผูกคอแมว แต่เมื่อถามว่า หนูตัวไหนจะเอากระพรวนไปผูก คำตอบก็ล่องลอยในสายลมเท่านั้น

การอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงจบลงที่ "ทางตัน" แค่นี้ เพราะเท่ากับว่า รู้ไปก็เท่านั้น หาแสงสว่างปลายอุโมงค์ไม่ได้เลย

ไม่เหมือนการเสียเวลาอ่านหนังสือ "พุทธธรรม" ของพระธรรมปิฎก ที่มีทางออกสว่างไสวของปัญญาเต็มไปหมด และคุ้มกว่าหลายเท่า

รายละเอียดในหนังสือ

Chapter 1 "Everybody Does It"

พฤติกรรมฉ้อฉลทางธุรกิจนับแต่ตลาดเก็งกำไร จนถึงชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติ หมอฟัน นักข่าว ที่ปรึกษาธุรกิจ นักบัญชี พนักงาน และจะถูกเปิดโปงเมื่อคนที่ได้รับความเสียหายเพราะหลงผิด เกิดอาการหน้ามืดยกเรื่องขึ้นเป็นข่าวฉาวโฉ่เท่านั้น เนื่องจากคนที่เข้ามาถือว่าตนเองรู้กติกาของกลไกฉ้อฉลนี้ดีพอ แต่พบว่าหลงผิด ทำให้ธุรกรรมฉ้อฉลกลายเป็นโรคระบาดที่กระจายไปทั่วทุกมุมเมืองของอเมริกา พร้อมกับวัฒนธรรม "คนชนะรวบหมด"

Chapter 2 Cheating in a Bottom-line Economy รากเหง้าของวัฒนธรรมฉ้อฉลในสายตาของผู้เขียน

เกิดจากชัยชนะของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโกนำโดยฟรานซิส ฮาเยค และมิลตัน ฟรีดแมน ที่ต้องการให้กลไกเศรษฐกิจเสรีสุดขั้วทำงานให้สะดวกที่สุด ซึ่งเปิดช่องให้การกระทำเลี่ยงกฎกลายเป็นความชอบธรรม เพื่อเป้าหมายเดียวคือ ความก้าวหน้าส่วนตัวเหนือคู่แข่งขัน

Chapter 3 Whatever It Takes

ว่าด้วยกระบวนการทางวัฒนธรรมที่ว่า ผู้ชนะได้หมด ผู้แพ้ไม่ได้อะไรเลย ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างของความมั่งคั่งในสังคมและเป็นที่มาของพฤติกรรมฉ้อฉลเพื่อกรุยทางสู่ความสำเร็จทางลัด กระบวนการนี้ทำให้ความเชื่อมั่นและความเคารพนับถือของคนในปัจจุบันลดลง

Chapter 4 A Question of Character

ว่าด้วยคำอธิบายที่ผิดๆ เกี่ยวกับการที่คนทำชั่วเนื่องมาจากเจตนารมณ์ส่วนตัวที่บกพร่อง เพราะในความเป็นจริงแล้วคนที่ทำชั่วส่วนใหญ่เป็นเหยื่อลัทธิปัจเจกชนนิยม ซึ่งคุกคามคนอย่างทั่วด้าน ทำให้คนหมกมุ่นและหลงรักตัวเองมากเกิน ดังเช่นปรากฏการณ์ยัปปี้ในคริสต์ทศวรรษ 1980 ของอเมริกา ซึ่งคนหนุ่มสาวถูกกิเลสของธุรกรรมทางการเงินล่อลวงให้เสียคนจนฉาวโฉ่

Chapter 5 Temptation Nation

ว่าด้วยระบบการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ที่เน้นเป้าหมาย ความสำเร็จทางตัวเลขเป็นหลัก ทำให้ความเชื่อมั่นระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเลวร้ายลง นายจ้างพร้อมจะไล่ลูกจ้างออกได้ทุกเมื่อ ในขณะที่ความไม่มั่นคงของลูกจ้าง ทำให้พวกเขาเริ่มฉ้อฉลมากขึ้น

Chapter 6 Trickle-down Corruption

ว่าด้วยการให้รางวัลและกติกาการแข่งขันที่ไม่ประนีประนอม ทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งมักจะพ่ายแพ้ต้องเรียนรู้เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ตัวเองโดยวิเคราะห์ผ่านความเสี่ยง/ผลตอบแทนพากันละเลยจริยธรรมพื้นฐาน เนื่องจากกติกาในปัจจุบันนั้นให้ความหมายคำว่าความชอบธรรมน้อยกว่าผลกำไร ดังจะเห็นได้จากจำนวนยอดของผู้หลบภาษีหรือผู้ฉ้อโกงภาษีในอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในขณะที่รายได้และกำไรของธุรกิจภาพยนตร์และเพลงลดลงเนื่องจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

Chapter 7 Cheating from the Starting Line

ว่าด้วยความฉ้อฉลที่แพร่กระจายจะถึงระดับยอดหญ้าทุกครัวเรือน ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กระบวนการฉ้อฉลตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเห็นเป็นเรื่องชาชิน กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นไปตลอดชีวิตจนเป็นปกติไป

Chapter 8 Crime and No Punishment

ว่าด้วยความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายในสังคมที่คนมีความมั่งคั่งไม่เท่ากัน อาชญากรรมที่ทำด้วยโจรเสื้อนอกนั้นได้รับการเหลียวแลน้อยเมื่อเทียบกับอาชญากรรมทั่วไป ด้วยเหตุผลก็คือผู้ที่ร่ำรวยจะได้รับอภิสิทธิ์จากอำนาจรัฐอยู่บ่อยครั้ง ผลลัพธ์ก็คืออาชญากรรมในวิชาชีพทางการเงินและเทคโนโลยีต่างๆ เฟื่องฟูอย่างรวดเร็วในอเมริกาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

Chapter 9 Dodging Brazil

ว่าด้วยกระบวนการฉ้อฉลที่กลายเป็นจารีตของสังคมอเมริกัน ซึ่งผู้เขียนได้เสนอทางเลือกเพื่อหลุดกับดักดังกล่าวไว้ 4 ข้อ ทั้งๆ ที่ก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยากมากในทางปฏิบัติ



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us