|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Culture and Prosperity
ผู้เขียน: John Kay
ผู้จัดพิมพ์: HarperBusiness
จำนวนหน้า: 420
ราคา: ฿740
buy this book
|
|
|
|
หนังสือเล่มนี้เป็นการสานต่อ และปรับปรุงแนวคิดเก่าแก่ของแมกซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาอนุรักษนิยมชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ ที่เคยนำร่องเสนอทฤษฎีอันโด่งดังว่า ประเทศที่คนนับถือคริสต์โปรเตสแตนต์ รวยกว่าประเทศที่นับถือคริสต์คาทอลิกได้อย่างไร
หนังสือเล่มนี้ไปไกลกว่านั้น (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา) ด้วยการบอกว่า ทฤษฎีของเวเบอร์นั้น มันล้าสมัยไปเสียแล้ว เพราะตัวแปรที่ชัดเจน ไม่ใช่พลังขับเคลื่อนทางอุดมการณ์หรือจริยธรรมของคนในสังคมเป็นหลัก แต่เกิดจากองค์ประกอบหรือวิวัฒนาการร่วมของตัวแปรอย่างน้อย 4 หลัก คือ 1) สถาบันทางเศรษฐกิจ (บริษัทอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐ) 2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 3) พัฒนาการทางสังคม 4) ค่านิยมทางวัฒนธรรม 5) โครงสร้างทางการเมืองที่เหมาะสม
โจทย์อย่างนี้ คาร์ล มาร์กซ์ เคยตั้งมาแล้วเมื่อกว่าร้อยปีก่อนด้วยประเด็นคล้ายกันว่า พลังการผลิตจะถูกปลดปล่อยได้อย่างไร หากว่าความสัมพันธ์ทางการผลิตหรือโครงสร้างส่วนบนของสังคม ไม่ได้ถูกปลดปล่อยออกมาพร้อมกัน? แต่ความบังเอิญของโจทย์นี้ ไม่ได้นำไปสู่คำตอบสุดท้ายที่เหมือนกัน
แม้ว่าโดยสารัตถะของผู้เขียน จะได้แสดงอคติของนักวิชาการฝรั่งที่มีจุดยืนชัดเจนว่า กรอบคิดนีโอคลาสสิกว่าด้วยตลาดแข่งขันสมบูรณ์ หรือตลาดเปิดเสรี ย่อมดีกว่าและมีประสิทธิภาพเหนือกว่าตลาดรูปแบบอื่นๆ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้
เพียงแต่ผู้เขียนเองก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่รีบด่วนสรุปว่า กลไกทุนนิยมเสรีแบบอเมริกัน เป็นมาตรฐานที่สุดของโลก หากยอมรับว่า อาจจะมีทางเลือกอื่นๆ อยู่บ้าง
ผู้เขียนให้การสำรวจแนวคิดเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ เพื่อชี้ว่า ประวัติศาสตร์ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้น ไม่เหมือนประวัติศาสตร์การเมืองการทหารของโลก เพราะไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยมหาบุรุษ (หรือสตรี) ที่เก่งฉกาจ แต่เป็นผลพวงที่ต่อเนื่องร่วมกันขององค์ประกอบซึ่งไม่ให้ความสำคัญของบุคคลเท่ากับองค์ประกอบอื่นๆ
นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม หรือนักประดิษฐ์ ไม่มีสิทธิเป็นวีรชนผู้ยิ่งใหญ่ เหมือนกับรัฐบุรุษ หรือ แม่ทัพผู้เกรียงไกร ทั้งที่บทบาทของเขานั้น อาจจะมีคุณค่าต่อความมั่งคั่งมากกว่าหลายเท่า
ข้อดีของผู้เขียนเรื่องนี้ คือเขารู้ว่าต้องการสื่อให้ใครเป็นผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ตามสถาบันเฉพาะ ดังนั้นจึงใช้กลอุบายนำเสนอแบบ popular economics แบบเดียวกับที่พอล ครุกแมน พยายามสื่อสารกับสาธารณชนอยู่
ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะยอมรับว่า ลำพังนักเศรษฐศาสตร์เคร่งคัมภีร์นั้น ไม่สามารถให้คำตอบแก่คนทั่วไปได้ดีพอ เพราะมัวแต่ติดอยู่ในกับดักทางวิชาการที่เน้นตัวแปรที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ละเลยตัวแปรอื่นๆ ที่เป็นพฤติกรรมมนุษย์ที่ไม่จำต้องมีเหตุมีผลเสมอไป จนกระทั่งการคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตผิดอย่างต่อเนื่อง เพราะมีตัวแปรนอกเหนือสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ หรือเศรษฐมิติ
หากมองกันตามประสาคนมีเวลาน้อย หนังสือเล่มนี้มีเพียงภาค 1 และ 5 (ภาค 1 ตั้งคำถาม ส่วนภาค 5 ตอบคำถาม) ก็คงจบแล้ว เพราะส่วนที่เหลือ ค่อนข้างดูเป็นส่วนเกินของหนังสือ และเต็มไปด้วยรายละเอียดของการสำรวจแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ มากเสียจนเกือบหลงทาง เข้าไปติดกับของเขาวงกตของเดดาลุสเสียแล้ว กว่าจะถึงบางอ้อว่า ทำไมผู้เขียนสรุปว่า การที่บางประเทศร่ำรวยจึงร่ำรวยต่อไป บางประเทศยากจนต้องจนต่อไป เป็นเพราะเหตุใด
กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังสือเล่มนี้เสื่อมถอยไปมากนัก โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่า การสำรวจความคิด หรือการวิพากษ์และตรวจสอบกระบวนทัศน์ทางภูมิปัญญาที่สำคัญ
โดยเฉพาะบทที่ 14 ซึ่งระบุว่า การแยกตัวออกจากภาคการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ของตลาดเงิน-ตลาดทุน เพื่อสร้างตราสารและผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ทำให้สถาบันทางเศรษฐกิจหลักของสังคมโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาถูกบั่นทอนลงไปอย่างรุนแรง ถือเป็นข้อสรุป ที่แหลมคมและน่าคิดทีเดียว
ประวัติศาสตร์โลกยืนยันเสมอมาว่า โลกเปลี่ยนแปลงหน้ามือเป็นหลังมือเพียงเพราะคนปรับกระบวนทัศน์บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในยุคเรอเนสซองส์ และการปฏิวัติฝรั่งเศส มาจนถึงยุคสงครามเวียดนาม และการโค่นล้มชาห์ในอิหร่าน
เป็นหนังสือทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ค่อนข้างอ่านเข้าใจง่าย โดยไม่ต้องปวดหัวกับสูตรคำนวณทางเศรษฐมิติให้ยุ่งยากชนิดต้องหากระไดมาปีนอ่าน
ข้อสรุปสุดท้ายที่ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศยากจน ก็คงต้องยากจนต่อไป ประเทศที่ร่ำรวยก็คงร่ำรวยต่อไป ดูเหมือนจะทำให้ผู้อ่านที่เป็นนักอุดมคติผิดหวัง และผู้อ่านที่เท้าติดดินพึงพอใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน ก็ถือว่าผู้เขียนจบแบบแปลกๆ ตรงที่เริ่มต้นด้วยมาร์กซ์ (สสารนิยม) แต่จบแบบเฮเกล (จิตนิยม) นั่นคือ เชื่อว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น มาถึงยุคสุดท้ายของวิวัฒนาการแล้ว เพราะเจตจำนงที่ต่างกันระหว่างเจตจำนงของสังคมผู้ชนะ (พร้อมจะทะลุกรอบเดิมของตนเอง) และสังคม ผู้แพ้ (ติดในกับดักของตนเองชนิดดิ้นไม่หลุด) คือตัวตัดสินชะตากรรม โดยเฉพาะประเด็นที่น่าข้องใจว่า การปรับเปลี่ยนสถาบันทางเศรษฐกิจอย่างเดียวก็จะทำให้ปัญหาจบสิ้นได้
ประเด็นอย่างนี้ เป็นระเบิดเวลาทางภูมิปัญญาที่ชวนให้วิวาทะต่อกันได้ดีนักแล
รายละเอียดในหนังสือ
Part 1 The Issues ตั้งประเด็นคำถามที่ย้อนรอยคำตอบเก่าที่แมกซ์ เวเบอร์ ทิ้งเอาไว้ว่า ทำไมชาติรวยและจนเกิดจากตัวแปรใดเป็นสำคัญ
Chapter 1 A Postcard from France ความสำเร็จและ ปัญหาของฝรั่งเศสที่แม้จะมีบริษัทข้ามชาติมากขึ้นในเวทีโลก แต่รากเหง้าของธุรกิจยังคงเป็นผู้ประกอบการรายกลางและย่อยเป็นฐาน
Chapter 2 The Thriumph of the Market ตั้งคำถามเก่าว่าด้วยทฤษฎีนีโอคลาสสิกว่าด้วยตลาดแข่งขันสมบูรณ์ว่ายังเป็นสมมุติฐานที่ยังใช้การได้มากน้อยเพียงใด
Chapter 3 People ความแตกต่างระหว่างชีวิตทางวัตถุที่แยกผู้คนในประเทศต่างๆ ออกให้มีมาตรฐานครองชีพต่างๆ กันไป อาจจะไม่ใช่เครื่องวัดความสุขได้เสมอไป
Chapter 4 Figures ประเด็นปัญหาเรื่องการกระจายความมั่งคั่งระหว่างประเทศที่ส่วนใหญ่ของโลก 107 ประเทศ หรือ 4.5 พันล้านคน อยู่ในระดับใต้เส้นความยากจนโดยเฉลี่ยในบางมิติที่วัดได้
Chapter 5 How Rich States Become Rich เค้าโครงความแตกต่างระดับมหภาคของเศรษฐกิจโลก พร้อมกับวิวัฒนาการของความสำเร็จและล้มเหลวภายใต้เงื่อนไขจำเพาะของบางประเทศ และบางภูมิภาคภายใต้กรอบเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ
Part 2 The Structure of Economic Systems โครงสร้างที่หลอมและสร้างกระบวนการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของโลก
Chapter 6 Transaction and Rules ครรลองทาง สังคมที่กำหนดเงื่อนไขวิถีชีวิตทางด้านเศรษฐกิจประจำวันของผู้คนในแต่ละประเทศ
Chapter 7 Production and Exchange ว่าด้วยการแบ่งงานทำระหว่างประเทศ ที่เกิดขึ้นโดยสภาพแวดล้อมจำเพาะ
Chapter 8 Assignment ว่าด้วยแรงจูงใจที่ทำให้กลไกตลาดที่ขับเคลื่อนในแต่ละสังคมผิดแผกกันไป
Chapter 9 Central Planning บทบาทที่เพิ่มขึ้นของหน่วยงานรัฐในการกำหนดแนวทางหรือกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงกลไกตลาดให้ปรับตัวจากรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้จำกัดแม้ในประเทศที่ใช้นโยบายวางแผนจากส่วนกลางเสมอไป
Chapter 10 Pluralism ความจำเป็นของการลดการพึ่งพาปัจเจกผู้ยิ่งใหญ่ และปล่อยให้พหุนิยมทางสังคมเข้ามามีบทบาทเพื่ออนุญาตให้ศักยภาพของสังคมปลดปล่อยออกมาเต็มที่
Chapter 11 Spontaneous Order กลับไปสำรวจแนวคิด "มือที่มองไม่เห็น" ที่ช่วยสร้างกติกาที่ไม่มีใครคนใดกำหนดหรือสั่งการจากเบื้องบน
Part 3 Perfectly Competitive Markets วิเคราะห์ข้อดีและปัญหาของแนวคิดตลาดแข่งขันสมบูรณ์
Chapter 12 Competitive Markets ข้อเด่นของการยอมให้ตลาดแข่งขันเปิดเสรีเพื่อกระตุ้นการแข่งขันและสร้างศักยภาพให้บุคคล
Chapter 13 Markets in Risk ข้อบกพร่องของการปล่อยให้ปีศาจแห่งความละโมบเข้าบงการกลไกตลาดมากเกินขนาด จนนำไปสู่หายนะของตลาดดังเช่นฟองสบู่ในตลาดโภคภัณฑ์ ตลาดสินค้าบริโภค และตลาดทุน-ตลาดเงิน
Chapter 14 Markets in Money การทำลายตัวเองของตลาดเงินที่แยกตัวออกจากภาคการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านตราสารหรือธุรกรรมที่แปลกแยกใหม่ๆ ที่คิดค้นกันขึ้นมา ซึ่งมีส่วนทำลายสถาบันหลักทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
Chapter 15 General Equilibrium ปฏิกิริยาด้านกลับเพื่อสร้างสมดุลให้กับเค้าโครงเศรษฐกิจใหม่ ที่ก่อตัวชัดเจนขึ้นเช่นแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจ (ธรรมาภิบาล ระบบบัญชี และบริหารทรัพยากรมนุษย์)
Chapter 16 Efficiency การย้อนกลับไปสร้างประสิทธิภาพควบคู่กับสวัสดิการสังคมเพื่อทำให้กลไกตลาดทำงานในเชิงสร้างสรรค์กับพลังขับเคลื่อนอื่นทางเศรษฐกิจ
Part 4 The Truth About Markets วิเคราะห์และทบทวนแนวคิดนีโอคลาสสิกทางเศรษฐศาสตร์
Chapter 17 Neoclassical Economics and After ผลพวงของการคลี่คลายทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ยุคหลังนีโอคลาสสิก
Chapter 18 Rationality and Adaptation ปฏิกิริยาของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมากขึ้นต่อกลไกเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งไม่ว่าจะดีหรือแย่ ก็ไม่สามารถย้อนคืนกลับไปสู่จุดเดิมในอดีตได้อีก
Chapter 19 Information วิวัฒนาการและเบื้องหลังของการที่อุปทานของข่าวสารข้อมูลทางเศรษฐกิจไม่มีวันสมบูรณ์เพื่อรองรับตลาดแข่งขันสมบูรณ์ได้ และยังคงทำให้อุดมคติของการแข่งขันสมบูรณ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม
Chapter 20 Risk in Reality ตลาดที่แข่งขันไม่สมบูรณ์เป็นต้นเหตุของความเสี่ยงมากขึ้น และทำให้การเก็งกำไรแทรกตัวเข้ามามีบทบาทเกินความจำเป็น เพื่อให้ตลาดเคลื่อนตัวไปข้างหน้าสู่ดุลยภาพ (ไม่ว่าจะมีได้จริงหรือไม่)
Chapter 21 Cooperation ความจำเป็นที่ทำให้มนุษย์ทุกคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องยอมตกลงร่วมมือกันเพื่อป้องกันหายนะต่อส่วนรวม โดยผ่านการบริโภคสินค้าสาธารณะ หรือการแข่งขัน รวมทั้งต่อสู้กับแนวคิดเรื่องทฤษฎีเกม
Chapter 22 Coordination การทำงานประสานกัน โดยไม่มีข้อตกลงประสานกัน เป็นมือที่มองไม่เห็นซึ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมาย และเจตนาได้สร้าง-ขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคมและสถาบันเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมโดยผลกลไกตลาด
Chapter 23 The Knowledge Economy มายาว่าด้วยการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องเศรษฐกิจบนฐานภูมิปัญญา เพราะภูมิปัญญานั้นมีหลายระดับ ทั้งที่คุ้มและไม่คุ้ม แพงและถูก ซึ่งท้ายสุดก็ถูกกำหนดโดยกลไกตลาดเช่นกัน นอกเหนือจากสร้างตลาดขึ้นมาใหม่
Part 5 How It All Works Out การตอบคำถามว่าด้วยที่มาของความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกันของประเทศหรือภูมิภาคต่างๆ
Chapter 24 Poor States Stay Poor การนำเข้าเทคโนโลยีและทุนโดยไม่ออกแบบสถาบันเศรษฐกิจมารองรับให้เหมาะสมในประเทศกำลังพัฒนา คือตัวอย่างของความล้มเหลวที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชั่นมโหฬาร เพราะทำให้อาชญากรกลายเป็นผู้นำทางการเมือง และรัฐบาลกลายเป็นหัวขโมย-โจรที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้การพัฒนาสูญเปล่า
Chapter 25 Who Gets What? รายได้และมาตรฐานการครองชีพที่แตกต่างกันของคนในประเทศต่างๆ พิจารณาจากฐานความคิดเรื่องของ ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ จะสามารถระบุได้ถึง "โอกาส" ที่แตกต่างกันโดยผ่านตัวแปรเรื่อง การขาดแคลนอุปทานจำเพาะ ซึ่งขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นสังกัดอยู่ในกลุ่มหรือทีมซึ่งให้โอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มกับตัวเองมากน้อยเพียงใดในการรวบรวมข้อมูล กระจายความเสี่ยง ร่วมมือในความสำเร็จ และเพิ่มภูมิปัญญา
Chapter 26 Places การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศตามหลักของอาดัม สมิธ ยิ่งแสดงเห็นได้ชัดว่าสถาบันทางเศรษฐกิจที่บุคคลสังกัด มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกันในโลกนี้มากยิ่งขึ้นเพียงใด
Chapter 27 The American Business Model ว่าด้วยสาเหตุที่แบบแผนของธุรกิจอเมริกัน ใช้การได้ดีเฉพาะในอเมริกาเท่านั้น และก็ไม่ได้ดีจนขาดจุดบกพร่อง เนื่องจากการใช้ความละโมบ (ที่ล้ำหน้าเกินกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวที่มีเหตุมีผล) ขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจนั้น นำไปสู่วิกฤติที่ทำลายตัวเองได้บ่อยครั้งเกินจำเป็น
Chapter 28 The Future of Economics ความเสื่อมศรัทธาในการศึกษาเศรษฐศาสตร์ของผู้คนอันเนื่องมาจากความคาดหวังที่เกินจริงในศาสตร์นี้ หลังจากที่พบว่า มันไม่ได้ก่อให้บุคคลที่ศึกษาพยากรณ์ล่วงหน้าถึงโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งทางวัตถุขึ้นมาได้ เมื่อเทียบกับศาสตร์อื่นๆ ที่ให้คำตอบได้ดีกว่า
Chapter 29 The Future of Capitalism แม้ทุนนิยมจะมีปัญหามากเพียงใด แต่เศรษฐกิจที่อาศัยตลาดก็ยังคงจะมีบทบาทขับเคลื่อนโลกต่อไป ประเด็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกก็คือ ช่องว่างของความมั่งคั่งระหว่างชาติยากจน กับร่ำรวย เนื่องจากผลิตภาพทางเศรษฐกิจเริ่มถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ (โดยเปรียบเทียบ) โดยกุญแจสำคัญคือ การปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนสถาบันทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
|
|
|
|