|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Final Accounting
ผู้เขียน: Barbara Ley Toffler, Jennifer Reinhold
ผู้จัดพิมพ์: Doubleday
จำนวนหน้า: 277
ราคา: ฿572
buy this book
|
|
|
|
เรื่องอื้อฉาวจากการล้มละลายกะทันหันของบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลก เอนรอน (Enron) และบริษัทมือถือ เวิลด์คอม (Worldcom) เมื่อ 3 ปีก่อน เพราะมีการแต่งตัวเลขทางบัญชีหลอกลวงนักลงทุนอย่างชนิดคาดไม่ถึง ทำให้บริษัทที่ปรึกษาการเงินและตรวจสอบบัญชีชื่อดังของโลกอย่าง อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ็น (Arthur Andersen) ต้องล้มละลายตามไปด้วย
หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนคนแรก ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจริยธรรมในเรื่องตรวจสอบบัญชีของอเมริกา และเคยทำงานภายในบริษัทนี้มาก่อน ระบุว่าแท้ที่จริงแล้ว หายนะของบริษัทตรวจสอบบัญชีที่เคยได้ชื่อว่ามีมาตรฐานสูง และคิดค่าตรวจสอบบัญชีแพงที่สุดของโลกนั้น ล้มละลายทางจิตวิญญาณมาก่อนหน้ากรณีเอนรอนนับสิบปีทีเดียว
เหตุผลก็เพราะการเติบโตที่รวดเร็ว และการเฟื่องฟูของธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ทำให้ผู้บริหารของบริษัทละทิ้งกุญแจความสำเร็จเก่าของบริษัทนั่นคือ ธุรกิจตรวจสอบบัญชี หันไปให้ความสำคัญกับธุรกิจให้คำปรึกษาทางการเงินแทน
เธอระบุว่า การถือกำเนิดของ Andersen Consulting (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Accenture Inc) คือจุดเสื่อมอย่างเป็นทางการของบริษัทอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ็น
กุญแจที่ผู้เขียนย้ำตลอดในเรื่องนี้ก็คือ การฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในบริษัทตรวจสอบบัญชีนั้น ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ทำนอง "แอปเปิลเน่า" หากเป็นเพราะความเสื่อมทรามของวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากผู้บริหารไม่ยึดมั่นหลักการเดิมของบริษัท มุ่งสร้างกำไรมากเกินขนาด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจที่ปรึกษาการเงิน ซึ่งทำให้ "คนดี" ในองค์กรที่มีทางเลือก 2 ทางคือ อยู่เงียบๆ หรือไม่ก็ลาออกไปอยู่ที่อื่น (ผู้เขียนเรื่องนี้เป็นคนกลุ่มหลัง)
สรุปง่ายๆ สำหรับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ก็คือ หายนะที่เกิดขึ้นมาจากความโลภ และหลงผิดขององค์กรในยามร่ำรวยช่วงธุรกิจ "ขาขึ้น" นั่นเอง
บทบาทเดิมของผู้เขียนคนแรกที่เคยเป็น "คนใน" มาก่อน และรับผิดชอบ "การขายจริยธรรม" ให้กับลูกค้า พร้อมกับประนีประนอมกับความเป็นจริงทางธุรกิจในยุคที่เริ่มมีการเปลี่ยนนโยบายของบริษัท ก่อนที่จะออกมาทำงานตรวจสอบในองค์กรกลาง ซึ่งยังคงเกี่ยวข้องกับธุรกรรมของบริษัทไม่ขาดตอน ทำให้งานเขียนชิ้นนี้เข้าถึงพลวัตของวัฒนธรรมองค์กรบริษัทตรวจสอบบัญชีตั้งแต่แรกถึงก่อนล่มสลายได้ลึกซึ้งทีเดียว และรู้ด้วยว่า ในความผิดปกติของบริษัทนั้น เกิดขึ้นตรงจุดใดบ้างที่นำไปสู่ประเด็นของความเสื่อมโทรมของธุรกิจและนำไปสู่การฉ้อฉลที่กลับตัวไม่ได้
จุดเด่นของการได้เอกสารหรือบุคคลชั้นต้นที่นำมาอ้างอิงได้ ทำให้ข้อมูลและข้อสรุปของผู้เขียนดูหนักแน่น น่าเชื่อถือมากกว่างานเขียน "เปิดโปง" ทั่วไป แต่จุดเสียก็คือ อาจจะมีอคติเจือปนอยู่เมื่อผู้เขียนอ้างอิงถึงผู้บริหารบางราย หรือกระบวนการทำงานบางขั้นตอน ที่อาจจะไม่ตรงกับแนวทางของผู้เขียน ซึ่งต้องหาทางทำความเข้าใจ "ระหว่างบรรทัด" กันอีกทีหนึ่ง
โดยเฉพาะอคติของผู้เขียนที่มีต่อธุรกิจให้คำปรึกษาทางการเงิน ซึ่งในมุมมองของผู้เขียน (โดยอ้อม) แล้ว ถือว่า จะขัดแย้งกับธุรกิจตรวจสอบบัญชี และเป็นตัวการยุยงให้ผู้บริหารบริษัทฉ้อฉลด้วยวิศวกรรมการเงินที่ซับซ้อนได้ และก่อให้เกิดประเด็นเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นมาสำหรับบริษัทที่มีธุรกิจทั้งตรวจสอบบัญชีและให้คำปรึกษาทางการเงิน ดังที่เกิดขึ้นกับอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ็น
อีกจุดหนึ่งที่หลายคนอาจจะตั้งคำถามก็คือ ผู้เขียนอาจจะ "หัวโบราณ" ในการปกป้องธุรกิจที่ผู้เขียนเองก็ทำมาหากินอยู่ จนกระทั่งพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแบบขยักขย่อน เพราะ "รู้มากเกิน" แต่พูดไม่ได้ ซึ่งก็ต้องอ่านเทียบกับหนังสือเล่มอื่นเพื่อตรวจสอบด้วย
ผู้เขียนคนที่สองนั้น เป็นนักหนังสือพิมพ์ และทำนิตยสารทางธุรกิจมายาวนาน ดังนั้นจึงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การใช้ถ้อยคำในหนังสือเล่มนี้ ทั้งการตั้งชื่อแต่ละบท หรือในการใช้สรุปบางเรื่องราว มีความเฉียบคมขึ้นมาก และเปรียบเปรยได้อย่างเจ็บแสบดีทีเดียว อาทิ การเทียบภาวะไร้ผู้นำ และไร้วิสัยทัศน์ของบริษัทนี้ว่าเสมือนหนึ่งภาพที่เกิดขึ้นในนวนิยายรางวัลโนเบลของวิลเลียม โกลดิ้ง เรื่อง Lord of the Flies ซึ่งทำให้เห็นภาพได้ทันที
บทที่โดดเด่นในหนังสือนี้ ได้แก่ บทที่ 4 ที่เปรียบเทียบเรื่องของเคน กับอาเบล ลูกชาย 2 คนของอาดัมกับอีฟ ที่คนเลวฆ่าคนดีเพราะอิจฉาที่พระเจ้าปรานีคนดีมากกว่า เข้ากับปรากฏการณ์ที่ธุรกิจให้คำปรึกษากลายเป็น "ลูกรัก" ของผู้บริหาร แทนธุรกิจดั้งเดิม "ตรวจสอบบัญชี" ที่กลายเป็น "ลูกที่ถูกเมิน" อันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาเสื่อมทางวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งแสดงจุดยืนของผู้เขียนได้ชัดเจนยิ่ง
อ่านเอาไว้เป็นกรณีศึกษา และดูว่ากระบวนการทำงานของบริษัทตรวจสอบบัญชีนั้นเป็นอย่างไร ในยามที่วิชาชีพนี้ กำลังก้าวขึ้นมาเป็นอาชีพอันดับหนึ่งของอเมริการ่วมสมัย แซงหน้านักกฎหมาย วิศวกรไอที นักเก็งกำไรหุ้น และนักบริหารเอ็มบีเอไปแล้ว
รายละเอียด
Chapter 1 The Andersen Way ว่าด้วยครรลองของความหยิ่งผยองที่ผู้บริหารปลูกฝังพนักงานในสังกัดเกี่ยวกับการตั้งเงื่อนไขและราคารับงานที่ปรึกษาทางการเงินที่เลื่องลือว่าแพงที่สุด โดยอาศัยชื่อเสียงของแบรนด์ที่ถูกสร้างมายาวนาน
Chapter 2 The Making of an Android ปูมหลังอันน่าภาคภูมิใจและการสร้างภาพ บริษัท "สะอาด" ของอาร์เธอร์แอนเดอร์เซ็น ที่กลายมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่หล่อหลอมทำให้คนในสังกัดเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และมีคนหนุ่มสาวอยากเข้าทำงานที่ถือว่า ศักดิ์สิทธิ์ และมีรายได้ดี แม้จะไม่รวย
Chapter 3 The Cult in Culture วิเคราะห์หลักการและอุดมคติของบริษัทในการรับสมัครคนที่เรียกว่า Transition ซึ่งมีกฎเหล็ก 6 ประการ ถือเป็นคัมภีร์ติดตัวพนักงานตรวจสอบบัญชี และที่ปรึกษาการเงินทุกคนที่ละเมิดไม่ได้ เพื่อคงภาพลักษณ์ "ผู้ตรวจสอบบริษัทที่น่าเชื่อถือ" ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าแห่งความฝันของพนักงานให้ยาวนาน
Chapter 4 Cain and Abel Andersen เรื่องพี่น้องฆ่ากันเองในพระคัมภีร์คริสเตียนถูกนำมาเปรียบเปรยถึงการมุ่งผลสัมฤทธิ์เกินความสามารถ กล่าวถึงด้านสว่างและด้านมืดของธุรกิจที่ปรึกษาและตรวจสอบที่การแข่งขันแย่งตัวพนักงานระหว่างธุรกิจขาขึ้น และการมาของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทศวรรษ 1970 ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมทรามทางจริยธรรมในกลุ่มพนักงาน เพราะเป็นการเพาะผู้บริหารบริษัทที่มุ่งกำไรจากธุรกิจให้คำปรึกษา มากกว่าตรวจสอบ สนองตอบวัฒนธรรม "รวยเร็ว" จนละเลย ปูมหลังของพนักงานที่บกพร่องในการตรวจสอบทางการเงิน และเหินห่างจากผู้ตรวจสอบบัญชีของธุรกิจที่เป็นลูกค้า จนกระทั่งธุรกิจตรวจสอบการเงินกลายเป็นธุรกิจที่เล็กที่สุดในอุตสาหกรรม
Chapter 5 Billing Our Brains Out ว่าด้วยความเฟื่องฟูของธุรกิจให้คำปรึกษาการเงิน ที่มุ่งเน้นหาทางออกจากความผิดพลาดให้กับลูกค้า มากกว่าตรวจสอบหาผู้กระทำความผิดพลาด ซึ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ซึ่งผู้เขียนมองว่าทำให้ "การฉ้อฉลแซงหน้าความจริง" และทำให้เกิดการแข่งขันในการให้คำปรึกษากันรุนแรงมากขึ้น จนละเลยที่จะเอาผิดคนขี้โกง
Chapter 6 Lord of The Flies ว่าด้วยสภาวะไร้ผู้นำ และไร้ทิศทางของธุรกิจในองค์กรที่รับผิดชอบการตรวจสอบงบการเงินที่เสื่อมถอยลง เพราะคนเก่งในองค์กรหนีห่างจากหน่วยงานนี้ หันไปหาธุรกิจให้คำปรึกษาทางการเงินที่ทำรายได้มากกว่า และผู้นำของหน่วยงานก็มักจะข้ามฟากมาจากธุรกิจให้คำปรึกษาต่อเนื่องทำให้ไม่สามารถชี้นำทิศทางให้กับพนักงานในงานตรวจสอบทางการเงินได้ กลายสภาพเป็น "หลุมดำทางจริยธรรม" ขึ้นมาแม้จะมีความพยายามปฏิรูปองค์กรหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะวิสัยทัศน์ที่ครอบงำบริษัทในทศวรรษ 1990 คือ "เงิน"
Chapter 7 Arthur the Terrible เปรียบสถานการณ์ความปั่นป่วนของธุรกิจให้คำปรึกษาและตรวจสอบปลายทศวรรษ 1990 เข้ากับยุคแห่งความสยดสยองของอีวานที่ 4 ของรัสเซีย คริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อการแต่งบัญชีมีมากขึ้นจนน่าวิตกจนตลาดหุ้นและ ก.ล.ต.ของอเมริกา ต้องออกระเบียบจัดแถวธุรกิจให้คำปรึกษาเข้มงวด และส่งผลลบต่อธุรกิจตรวจสอบการเงินในเวลาต่อมา
Chapter 8 The Cobbler's Children สถานการณ์เริ่มยุ่งยากเมื่อมีการส่งคำเตือนหลายประการให้ผู้บริหารของบริษัททราบถึงการกระทำที่มากขึ้นรุนแรงในเรื่องละเมิดจริยธรรมของการตรวจสอบงบการเงินของพนักงานบริษัท ซึ่งนำมาสู่การแต่งบัญชีของบริษัทลูกค้าหลายราย
Chapter 9 The Fall of the House of Andersen ว่าด้วยกรณีหลังเอนรอนล้มละลาย ซึ่งทำลายชื่อเสียงของอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน ย่อยยับ ในข้อหาปล่อยให้ผู้บริหารเอนรอนมีธุรกรรมทางการเงินนอกงบการเงินจำนวนมาก และลูกค้าของบริษัทก็พากันผละหนี เพราะไม่อยากถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องแต่งบัญชี ทำให้บริษัทนี้ล่มสลายในที่สุด
Chapter 10 Other People's Money บทสรุปของบทเรียนราคาแพงที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยคำเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งในองค์กรธุรกิจ แทนการหาแพะรับบาปสำหรับความผิดพลาด และระบบตรวจสอบที่เข้มงวด-ต่อเนื่อง รวมทั้งระบบจัดทำงบการเงินที่โปร่งใสและละเอียดรอบคอบมากกว่าเดิม
|
|
|
|