|

new releases
Manager 360 aStore
|
|
|

 |
 |
The Fortune at the Bottom of the Pyramid
ผู้เขียน: C.K. Prahalad
ผู้จัดพิมพ์: Wharton School Publishing
จำนวนหน้า: 401
ราคา: $28.95
buy this book
|
 |
|
 |
ปัญหาความยากจนโลกแก้ได้ด้วยการทำกำไร
ศาสตราจารย์ C.K. Prahalad ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และที่ปรึกษาธุรกิจ เตือนผู้นำธุรกิจและองค์กรเอกชนที่กำลังต่อสู้กับความยากจนในโลกอย่างไม่ค่อยได้ผลว่า อย่ามองข้ามตลาดผู้มีรายได้น้อยหรือคนจน ซึ่งผู้แต่งเรียกว่า ฐานล่างสุดของพีระมิด หรือ Bottom of the Pyramid : BOP โดยผู้แต่งชี้ว่า ธุรกิจสามารถจะมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยกำจัดความยากจนในโลกนี้ได้ และยังสามารถจะทำกำไรไปพร้อมๆ กันได้ด้วย จากการเข้าไปทำธุรกิจกับตลาดคนจนในชาติกำลังพัฒนา
ทุนนิยมที่ไม่มีช่องว่างคนรวยคนจน
Prahalad พยายามจะตอบคำถามที่ว่า เหตุใดเราจึงไม่สามารถสร้างระบบทุนนิยมที่ปราศจากช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนได้ และเหตุใดเทคโนโลยี และความรู้ในการบริหารจัดการอันทันสมัย รวมทั้งความสามารถในการลงทุนทั้งหมดที่เรามีอยู่ จึงยังไม่สามารถมีส่วนช่วยแม้แต่เพียงน้อยนิด ในการกำจัดปัญหาความยากจนของโลก และปัญหาความด้อยโอกาสของคนจน
แม้ว่ารัฐบาลจะได้ทุ่มเทงบการพัฒนา และช่วยเหลือหรือการให้เงินอุดหนุนมากเพียงใด รวมทั้งจะได้พยายามผ่อนคลายกฎเกณฑ์และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชนจะได้พยายามต่อสู้กับความยากจนมากเพียงใด แต่ความพยายามทั้งหมดนี้ กลับยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนในโลกได้ โดย คนจนทั้งหมดในโลกนี้ยังมีจำนวนมากถึง 4 พันล้านคน หรือ 80% ของประชากรโลก
Prahalad พยายามหาทางออกให้แก่ปัญหาความยากจนด้วยการคิดใหม่ว่า เหตุใดเราจึงไม่รวมความสามารถในการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่เข้ากับความรู้และความมุ่งมั่นของ NGO และรวมทั้งพลังของชุมชนยากจนเหล่านั้นเอง
การคิดใหม่ของ Prahalad ทำให้มองเห็นทางออกใหม่ที่ไม่เหมือนใครสำหรับการแก้ปัญหาความยากจนในโลก โดยที่เขาไม่ต้องการเข้าไปร่วมวงถกเถียงว่าโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี หรือว่าบริษัทใหญ่หรือเล็กที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ดีกว่ากัน Prahalad ชี้ว่า NGO และบริษัทขนาดใหญ่ไม่ว่าจะในชาติกำลังพัฒนาเองหรือบริษัทข้ามชาติ ตลอดจนรัฐบาล รวมถึงชุมชนที่ยากจนเอง สามารถจะร่วมมือกันใช้การประกอบการและกิจกรรมธุรกิจของระบบทุนนิยม มาแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ด้วยการเปลี่ยนวิกฤติความยากจนให้เป็นโอกาสสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท คนจน NGO หรือรัฐบาล
Prahalad ชี้ว่า กระบวนการที่จะเปลี่ยนวิกฤติความยากจนให้เป็นโอกาส จะต้องเริ่มที่การเคารพในผู้บริโภคที่อยู่ในตลาดล่าง และตระหนักว่า ผู้บริโภคที่เป็นคนจนก็มีความสำคัญเท่าเทียมกับฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาความยากจนของพวกเขาเอง
ความยากจนคือโอกาส
Prahalad ชี้ด้วยว่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น Unilever, Hewlett-Packard, DuPont ยอมรับมุมมองใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจนดังกล่าว และได้ประสบความสำเร็จมาแล้วในการมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความยากจนในชาติกำลังพัฒนา ในขณะที่ยังสามารถทำกำไรจากตลาดคนจนเหล่านั้นไปพร้อมๆ กันด้วย
โดยบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้มองความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นภาระ แต่กลับมองเห็นเป็นโอกาสในการทำธุรกิจ กับผู้บริโภคในตลาดระดับล่างสุดอย่างให้ความเคารพในพวกเขา
อย่างเช่นบริษัท Hindustan Lever ได้คิดผลิตเกลือไอโอดีนราคาถูก ขายให้แก่คนจนในชาติกำลังพัฒนาชาติหนึ่ง ทำให้พวกเขาไม่เป็นโรคขาดสารไอโอดีน และยังสร้างงานให้แก่พวกเขา ในขณะที่บริษัทก็ได้กำไร
บริษัทเหล่านี้จึงไม่ได้มองความยากจนว่าเป็นปัญหาอีกต่อไป แต่กลับเห็นว่าเป็นโอกาสที่บริษัทจะได้คิดค้นสินค้าใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับตลาดระดับล่างสุดของพีระมิด
|
 |
|
|