Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Common Sense on Mutual Funds
ผู้เขียน: John C. Bogle
ผู้จัดพิมพ์: John Wiley & Sons, Inc.
จำนวนหน้า: 468
ราคา: ฿750
buy this book

ในอเมริกานั้น ชื่อของบริษัทจัดการกองทุนรวมอย่าง Vanguard Group, Inc. ซึ่งมีลักษณะเด่นพิเศษคือออกกองทุนประเภทไม่คิดค่าธรรมเนียมซื้อขาย แต่คิดค่าบริหารประจำปี (no-load fund) โด่งดังอย่างมาก มีคนพูดถึงบ่อย

จอห์น โบเกิล เป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของปรัชญาของบริษัทนี้ ตอนนี้เขาเกษียณแล้วออกมาเขียนหนังสือในฐานะ "ขาเก่า" ให้คนอ่านถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังกองทุนรวมที่คนมักจะรู้สึกเหมือนแดนสนธยา

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือวงในที่น่าสนใจ และเป็นมากกว่าหนังสือประเภท How-to ดังนั้นจึงได้รับการยกย่องอย่างมากว่า เหมาะจะเป็นคัมภีร์สำคัญสำหรับคนที่อยากจะมีความรู้ เรื่องการลงทุนในกองทุนรวม โดยเฉพาะคนที่สนใจจะซื้อหน่วยลงทุน (หรือหุ้น) กองทุนรวมที่ บลจ.บ้านเราต่างขยันออกมาขายกันทุกสัปดาห์ในบ้านเรายามนี้

วิวัฒนาการของธุรกิจกองทุนรวม หรือบริษัทจัดการกองทุนรวมนั้น มักจะเริ่มจากการเป็นธุรกิจวงในสำหรับนักบริหารเงินในกลุ่มธนาคารหรือหลักทรัพย์ไม่กี่ราย และเกาะติดกับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นกับตลาดตราสารหนี้เพื่อเติบโตในระยะแรก แต่เมื่อเงินบริหาร หน้าตักเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งปิดไม่มิด การเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็กลายเป็นเรื่องเลี่ยงไม่พ้น

ที่สำคัญ ตลาดกองทุนรวมคือทางเลือกสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง เพราะไม่อยากให้เงินที่เก็มหอมรอบริบมาหลายปีต้องละลายกับการซื้อหุ้นผิด

โบเกิล เขียนหนังสือเล่มนี้ให้คนอเมริกันอ่านโดยตรง ดังนั้น จึงเปรียบเทียบงานเขียน นี้เข้ากับงานกระตุ้นปลุกใจชาวอเมริกันยุคแรกของโทมัส เพน ในอดีตว่า ต้องการให้เป็นเครื่องมือนักลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมทั้งหลายได้ใช้ เพื่อต่อสู้กับทรราช (คือผู้จัดการกองทุนรวมขี้ฉ้อ) ที่ทรงอยุติธรรมทั้งหลาย

ข้อเขียนในลักษณะ "เปิดโปง" ผสมกับให้ความรู้ทั้งด้านกว้างและลึกเกี่ยวกับกองทุนรวม จึงกลายเป็นหนังสือคลาสสิกโดยปริยายที่ต้องอ่านกัน ทั้งในแง่การพิจารณาผู้จัดการกองทุนรวม ประเภท และจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละกองทุนรวม

พฤติกรรมของกองทุนรวมที่เป็นอยู่ในตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าธรรมเนียมที่สูง ค่าใช้จ่ายเกินจริง การเปลี่ยนผู้จัดการบ่อยเพื่อแย่งตัวกัน และสินค้าที่ดีไซน์ตามใจตลาดเกินจำเป็นโดยพูดถึงผลตอบแทนและความเสี่ยง ที่ระบุในหนังสือนี้เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในธุรกิจกองทุนรวม ทำนอง "ต้องทำ แต่ไม่ควรพูด"

นักวิจารณ์ในอเมริกันหลายคนชื่นชมหนังสือนี้ว่า เป็นการแสดงความใจกว้างชนิดไม่มีวาระซ่อนเร้นของผู้เขียน เพราะได้พูดถึงสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนรวมทั้งหลาย "กั๊ก" เอาไว้มาโดยตลอด

บางคนถึงขั้นบอกว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่เคยบอกวิธีเป็นบัฟเฟตต์ให้คนอื่นๆ รู้แต่โบเกิลไม่เพียงแต่บอกวิธีและเพทุบายของเขาและผู้จัดการกองทุนรวมเท่านั้น หากยังบอกวิธีป้องกันตัวให้นักลงทุนรับทราบอย่างถี่ถ้วนด้วย

โดยเฉพาะบทที่ 4 เป็นบทที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง กับกฎเหล็ก 8 ประการก่อนที่นักลงทุนจะเข้าซื้อหน่วยลงทุน

โจทย์ที่ท้าทายนักลงทุนและผู้บริหารกองทุนรวม ซึ่งผู้เขียน เน้นเอาไว้เป็นพิเศษก็คือ การถือว่าลูกค้าคือเจ้าของกองทุน ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บลจ.ทั้งหลายที่ผู้จัดการเป็นลูกจ้างอยู่ เรื่องนี้ อาจจะต้องถกเถียงกันต่อไปอีกนานว่า ผู้จัดการกองทุนจะให้น้ำหนักกับใครมากกว่ากัน

จุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้มีอยู่ 2 กรณี คือ โบเกิลให้ความสำคัญกับตลาดทุนนอกอเมริกาน้อยมาก และมองอย่างไม่ไว้วางใจ กับเขาชื่นชอบกองทุนรวมประเภทอินเด็กซ์ ฟันด์ที่เล่นหุ้นตามดัชนี S&P เป็นหลัก แต่เขาก็มีเหตุผลในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ แม้จะรู้ว่าข้อสรุปดังกล่าว ไม่ถูกใจคนอ่านจำนวนมาก

อีกกรณีหนึ่งที่อาจจะเป็นจุดเด่น แต่ไม่น่าอ่านก็คือหนังสือ เล่มนี้พยายามใช้สูตรการคำนวณเชิงสถิติประเภทให้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) เข้ามาช่วย ซึ่งทำให้คนที่ไม่เคยชินรู้สึกหนักอึ้งและกลืนไม่ลงไปตามๆ กัน แต่ก็ทำให้หนังสือนี้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นไปด้วยเป็นการแลกเปลี่ยนไป

ไม่เพียงเท่านั้น การที่โบเกิลค่อนข้างดูเบากับค่า P/E ของหุ้นในการลงทุน เพราะเขาถือว่ามันเป็นเรื่องจอมปลอม ไม่เหมือน กับฐานรากของธุรกิจในระยะยาว ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างทำให้นักลงทุน สับสนเกี่ยวกับมาตรฐานการพิจารณาหุ้น แต่โบเกิลก็มีเหตุผลตรงที่ว่าเขาให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

จุดเน้นของเขาสำหรับกองทุนรวมก็คือ 4 ตัวแปรสำคัญ ผลตอบแทน ความเสี่ยง ต้นทุนการบริหารกองทุน และเงื่อนเวลา

อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเมียด ควบคู่กับการอ่านหนังสืออีกเล่ม The Great Mutual Fund Trap เขียนโดย Gregory Baer & Gary Gensler พร้อมกับขยันเข้าดูเว็บไซต์ www.morningstar. com บ่อยๆ ในรอบสัปดาห์ จะทำให้คุณเตรียมพร้อมเป็นนักลงทุน ในกองทุนรวมที่ "รู้ทัน" ผู้จัดการกองทุนรวมทั้งหลายได้ดีขึ้น

แม้จะไม่ทั้งหมด แต่ก็ดีกว่าเข้าซื้อหน่วยลงทุนเพราะคำเล่าลือ หรือคำชักชวนที่เต็มไปด้วยถ้อยคำฝันเฟื่องถึงความร่ำรวย ในอนาคต

รายละเอียดในหนังสือ

Part 1. On Investment Strategy การเตรียมความพร้อมของนักลงทุนเพื่อเข้าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

Chapter 1
On Long-term Investing : Chance and the Garden ว่าด้วยพื้นฐานพิจารณาแนวโน้มของตลาดทุนในฐานะนักลงทุนระยะยาวที่ควรกระทำ ตั้งแต่การพิจารณาเศรษฐกิจมหภาค ทิศทาง ตลาดหุ้น ผลตอบแทนของการตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และความเสี่ยง พร้อมด้วยความผิดพลาดของสื่อและคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนตามจังหวะ ปิดท้ายด้วยกฎศักดิ์สิทธิ์ 6 ประการสำหรับนักลงทุนระยะยาว

Chapter 2
On the Nature of Returns : Occam's Razor การประยุกต์ตรรกวิทยาเก่าของอังกฤษยุคแตกแยกทางศาสนาคริสต์ศตวรรษที่ 14 (ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรเลยกับใบมีดโกน) มาใช้อธิบายกรอบ เพื่อเปรียบเทียบหาทฤษฎีที่ใช้อธิบายผลตอบแทนของกองทุนรวม เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดท่ามกลางความผันผวน เพื่อช่วยนักลงทุนเข้าใจว่า ทำไมผลตอบแทนระยะสั้นของนักลงทุนจึง น้อยกว่าความคาดหมาย เมื่อหักด้วยต้นทุนค่าบริหาร เมื่อเทียบกับ การลงทุนระยะยาว ซึ่งผู้เขียนให้กฎเหล็ก 3 ข้อเอาไว้เพื่อพิจารณา

Chapter 3
On Asset Allocation : The Riddle of performance Attribution ประยุกต์หลักการของ Talmud (ทฤษฎีลดความเสี่ยงในทรัพย์สินของศาสนายิว) ที่ว่าให้แบ่งสินทรัพย์เป็น 3 รูปคือ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าเพื่อหากำไร และเงินสดหรือใกล้เคียงกัน (เช่นทองหรือเหรียญ) มาใช้ปรับเข้ากับทฤษฎีของเคนส์และนักการเงินสมัยใหม่ที่ให้นักลงทุนแบ่งเงิน 3 ส่วน 2 ส่วนเพื่อลงทุน ในหุ้น อีก 1 ลงทุนในตราสารหนี้ แต่ผู้เขียนเสนอว่าในเรื่องกองทุน รวมให้พิจารณา 4 ตัวแปร คือ ผลตอบแทน ความเสี่ยง ต้นทุน และเงื่อนเวลา ว่าอย่างไหนจะให้ความพึงพอใจสูงสุด

Chapter 4
On Simplicity : How to Come Down to Where you Ought to Be ว่าด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันนักลงทุนในยุคข่าวสารท่วมตลาดที่มักจะก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้ง่าย จนกระทั่งข่าวสารที่ได้รับมาไม่สามารถแปลงเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่ต้องการได้ ผู้เขียนแนะวิธีการ "กลับสู่ความง่าย" ด้วยการ ย้อนหาพื้นฐานความคิดในการลงทุนในกองทุนรวม ด้วยกฎเหล็ก 8 ประการที่พลาดไม่ได้สำหรับคนถือหน่วยลงทุนทุกคน

Part 2. On Investment Choices คำอธิบายโดยละเอียดถึงเหตุผลที่อินเด็กซ์ฟันด์ (กองทุนที่ลงทุนตามทิศทางของดัชนีตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นหรือผสม) จึงได้รับความนิยม

Chapter 5
On Indexing : The Triumph of Experience over Hope ว่าด้วยเหตุผลที่ประสบการณ์ในการลงทุนแบบมืออาชีพ (ไร้อารมณ์) สามารถเอาชนะความคาดหวังของตลาดได้ และการ ที่กองทุนรวมหรือนักลงทุนสถาบันในอเมริกาพึ่งพาดัชนีหุ้น S&P 500 (เน้นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง) มากกว่าดัชนีดาวโจนส์ (เน้นหุ้นบลูชิพที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่เป็นสำคัญ) ซึ่งเปรียบเทียบได้กับกองทุนต่างชาติเชื่อมั่น MSCI มากกว่า SET 50 นั่นเอง

Chapter 6
On Equity Styles : Tick-Tack-Toe แนวโน้มของการที่สไตล์การลงทุนของกองทุนรวมในหุ้นจะถูกเรียกร้องจากนักลงทุน ให้ต้องประกาศความชัดเจนในลักษณะ niche มากยิ่งขึ้น จะเป็น ข้อขัดแย้งกับท่าทีเก่าๆ ของผู้จัดการกองทุนรวมที่ไม่อยากเปิดเผย "ความลับ" ในการบริหารพอร์ตของตนเอง ซึ่งในอดีตเป็นแรงผลักดันให้ผู้จัดการกองทุนรวมทั่วไปต้องลงทุนในพอร์ตเต็มที่ตลอดเวลาอย่างไม่มีความจำเป็น เพราะผลตอบทุนของกองทุนรวม นั้นขึ้นกับเงื่อนเวลาประกอบด้วยเสมอ ไม่ใช่ลงทุนพร่ำเพรื่อ

Chapter 7
On Bonds : Treadmill to Oblivion? กองทุนรวมตราสาร หนี้คือคำตอบสำเร็จรูปเสมอของนักลงทุนระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้น ผลตอบแทนจะเล็กน้อยมาก แต่ความเสี่ยงที่ต่ำกว่าปกติ (ยกเว้นช่วงเศรษฐกิจดีมากยาวนานเกินปกติอย่างยุคของคลินตัน) ทำให้ตราสารหนี้คือคำตอบที่ยืดหยุ่นและเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับกองทุนผสม แต่นักลงทุนที่ชาญฉลาดต้องเข้าใจว่า ต้นทุน การบริหารของกองทุนนั้น คือกุญแจที่ต้องศึกษาก่อนลงทุนเสมอ

Chapter 8
On Global Investing : Acres of Diamonds การลงทุน ในกองทุนรวมที่ขนเงินไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักหรือตลาดเกิดใหม่ มีสภาพเหมือน "นักเดินทางแบบสุ่ม" (accidental tourists) ไม่ต่างจากนักลงทุนทำเหมืองเพชรแม้แต่น้อย เพราะคำตอบของการลงทุนมี 3 ทางคือ ใช่ อาจจะ และไม่ เสมอ ดังนั้น จึงต้องศึกษาเปรียบเทียบโดยละเอียดกับกองทุนที่ลงทุนในประเทศให้ถี่ถ้วน

Chapter 9
On Selecting Superior Funds : The Search for the Holy Grail การเลือกลงทุนในหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุน เป็นเรื่องค่อนข้างประเมินยากเพราะผลตอบแทนอยู่ในอนาคต ไม่มีใคร รู้แน่นอน ผู้เขียนเสนอ 3 กรอบวิธีคิด (Sharpe Study, Carhart Study, Goetzman-Ibbotson Study) เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาแต่ก็สรุปว่า แม้กระทั่งกองทุนรวมที่จะรับเรตติ้งในระดับดีมาก ผลตอบแทนก็ยากจะคาดเดา เพราะเรตติ้งมีไว้เพื่อวัดความเสี่ยง ไม่ได้วัดความสามารถทำกำไร

Part 3. On Investment Performance การพิจารณาผลประกอบการของกองทุนรวมภายใต้เงื่อนเวลาที่เหมาะสมโดยอาศัยหลักของ "การกลับคืนสู่ค่าถัวเฉลี่ย"

Chapter 10
On Reversion to the Mean : Sir Isaac Newton's Revenge on Wall Street ผู้จัดการกองทุนรวมที่พยายามคุยเรื่อง "เอาชนะตลาด" หวังเป็นเพชรยอดมงกุฎ มักจะประพฤติตัวที่นำไปสู่หายนะเพราะขัดกับกฎว่าด้วย "แรงโน้มถ่วง" ตามธรรมชาติ และในระยะยาวแล้ว แชมป์กองทุนรวมในระยะสั้น มักจะมีปัญหา กับผลงานเสมอเมื่อเวลาผ่านไป หากเพิกเฉยตัวแปรเรื่อง ต้นทุนต่ำ สิทธิทางภาษี และผลตอนแทนผสมความเสี่ยง

Chapter 11
On Investment Relativism : Happiness or Misery? ว่าด้วยมาตรวัดที่มักจะถูกผู้จัดการกองทุนรวมบิดเบือนหาประโยชน์ ใส่ตัวโดยอ้างเรื่องผลตอบแทนกองทุนสูงกว่าตลาด เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งถือเป็น "การทำโบกี้" (โอเวอร์พาร์) ที่หลอกนักลงทุนสำเร็จเสมอมา ซึ่งผู้เขียนสรุปว่าเป็นการหลอกลวงมากกว่า และแนะนำให้มุ่งความสนใจไปที่อินเด็กซ์ ฟันด์เป็นหลัก ภายใต้คำขวัญ "เอาชนะไม่ได้ ก็เป็นพวกเสียเลย"

Chapter 12
On Asset Size : Nothing Fails Like Success คำกล่าวเก่าๆ ของผู้จัดการกองทุนรวมที่ว่า "ไม่มีความสำเร็จใดดีกว่าความ สำเร็จ" เริ่มใช้การไม่ได้เสียแล้วในยุคกองทุนรวมครองตลาดทุน เพราะดูเหมือนว่าผลตอบแทนของกองทุนรวม (ในอเมริกา) เริ่มลดลงโดยเฉลี่ย เพราะกองทุนรวมที่มีขนาดใหญ่มากเกิน มักจะมีปัญหาในการสร้างผลตอบแทน ขัดแย้งกับทฤษฎี "ยิ่งโต ยิ่งเก่ง" ทำให้ต้องมาทบทวนว่า ขนาดที่เหมาะสมกับกองทุนรวมนั้น ควรเป็นเท่าใด ผู้เขียนเสนอบัญญัติ 5 ประการพิจารณาก่อนลงทุนในกองทุนรวม

Chapter 13
On Taxes : The Message of the Parallax ผู้เขียนเปรียบ Parallax Theory (คนที่เคลื่อนที่จะรู้สึกว่าสิ่งของอื่น (ที่หยุดนิ่ง) กำลังเคลื่อนสวนทางไป) กับการบริหารกองทุนรวมที่พยายามนำเอาต้นทุนไปเป็นมิตินอกการเคลื่อนไหวของราคาหน่วยลงทุน โดย เฉพาะเรื่องของภาษี ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงที่มักจะไม่มีใครอยากเอ่ยถึง แต่นักลงทุนต้องจ่าย ซึ่งเป็นที่มาของตลาดกองทุนแบบบริหารภาษี (tax-managed funds) ซึ่งเริ่มมาแรงขึ้นเรื่อยๆ

Chapter 14
On Time : The Fourth Dimension-Magic or Tyranny? เงื่อนเวลาถือเป็นมิติที่จะช่วยชี้ขาดผลตอบแทนในการลงทุนในกองทุนรวมอย่างขาดไม่ได้ นักลงทุนระยะยาวต้องรู้จักคำนวณสภาพคล่องของพอร์ตลงทุนตนเองให้ชัดเจน ว่าต้องไม่ทำให้การขาดสภาพคล่องส่วนตัวไปขัดขวางโอกาสในการคืนผลตอบแทนลงทุนกะทันหัน ซึ่งเป็นการเสียโอกาสอย่างสำคัญ

Part 4. On Fund Management หาค้นหาจุดแข็งจุดอ่อนของผู้จัดการกองทุนรวม

Chapter 15
On Principles : Important Principles Must Be Inflexible ประยุกต์กฎของอัมราฮัม ลินคอล์น ในเรื่องนโยบายของ ชาติเรื่องเลิกทาสมาใช้ โดยให้ผู้จัดการกองทุนยึดหลักบริหารตาม เป้าหมายและหลักการ (4 ปัจจัยสำคัญ) โดยไม่วอกแวกกับทิศทาง ของตลาดและแสวงหาทางเลือกใหม่ตามแฟชั่นอย่างหวือหวา ซึ่งเป็นของชั่วคราว

Chapter 16
On Marketing : The Message is the Medium ผู้เขียน เปรียบการบริหารกองทุนรวมในยุคปัจจุบันว่ากำลังกลับหัวกลับหาง คล้ายกับเกวียนเข็นวัว ไม่ใช่วัวเข็นเกวียน เพราะ บลจ.จำนวนมากไม่ได้ขายสินค้าที่ควรขาย แต่ทำตัวเป็นนักการตลาด ขายทุก สินค้าที่ขวางหน้าโดยขาดจุดโฟกัสที่ชัดเจน จนลืมไปว่ากำลังบริหาร ความเสี่ยงด้วยเงินของผู้อื่น (นักลงทุน) ยิ่งธุรกิจกองทุนรวมเติบโต ก็ยิ่งเหมือนหีบแพนโดราที่ถูกเปิดออกให้ความชั่วร้ายอาละวาด กลายเป็นธุรกิจที่ผลิต "สินค้าหวือหวา ที่ซุกซ่อนความเสี่ยง" ลืมไปว่าลูกค้าคือเจ้าของกองทุน สิ่งที่ควรกระทำคือฟื้นคืนหลักการเดิมของธุรกิจกลับมา

Chapter 17
On Technology : To What Avail? เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลาดกองทุน รวมอย่างใหญ่หลวง เพราะทำให้นักลงทุนหันจากหุ้นมาสู่กองทุนรวมมากขึ้น แต่เทคโนโลยีกลับไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นดังที่ควรจะเป็น เพราะทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจกลับมาก ยิ่งขึ้น และทำให้มีปีศาจร้ายที่น่ากลัวเกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่กองทุนรวมมีนิสัยลงทุนระยะสั้นมากขึ้น

Chapter 18
On Directors : Serving Two Masters ผู้บริหาร บลจ. และผู้จัดการกองทุนรวม มีภาระหน้าที่สนองความต้องการของ 2 นาย พร้อมกันคือ ผู้ถือหุ้นบลจ.ที่ต้องการผลตอบแทนในรูปกำไรกับเงินปันผล กับลูกค้าฐานะเจ้าของกองทุนโดยพฤตินัย ประเด็นคือจะให้ความสำคัญกับใครมากกว่ากัน คำตอบคือ...

Chapter 19
On Structure : The Strategic Imperative นักลงทุนลูกค้ากองทุนรวมส่วนใหญ่สนใจชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และบริการมากกว่าโครงสร้างผู้บริหาร บลจ. ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะโครงสร้างการจัดการสะท้อนความสามารถในการแข่งขันได้ดีที่สุด ซึ่งมีตัวแปรให้พิจารณา 7 เรื่องด้วยกัน (กำไร ค่าบริหารกองทุน บริการ การบริหารความเสี่ยง สาระของผลิตภัณฑ์ ดัชนีการดำเนินงาน และการตลาด) เพื่อให้นักลงทุนได้พิจารณาเปรียบเทียบ ก่อนซื้อหน่วยลงทุน

Part 5. On Spirit การพิจารณาปรัชญาและสำนึกของผู้จัดการกองทุนรวม

Chapter 20
On Entrepreneurship : The Joy of Creating ว่าด้วยปัจจัย 3 ข้อ (เจตนาที่จะสร้างอาณาจักรในฝันของตนเอง เจตนา ที่จะประสบความสำเร็จและชนะคู่แข่ง เจตนาที่จะสร้างพลังอัดฉีด ให้ธุรกิจ) ของการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจกองทุนรวมในฐานะ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ต้องสร้างสรรค์ธุรกิจให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ ไม่ใช่เป็นแค่นักฉวยโอกาส

Chapter 21
On Leadership : A Sense of Purpose ปัจจัยสำคัญของการเป็นผู้นำในธุรกิจทั้งในแง่การบริการและทำกำไร โดยมีตัวแปรหลักที่ขาดไม่ได้ 5 ประการ (วิสัยทัศน์ธุรกิจ คุณค่าหลักขององค์กร การปฏิบัติเพื่อบรรลุการเป็นผู้นำ การแก้ปัญหาขัดแย้ง และการเสริมพลังสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง)

Chapter 22
On Human Beings : Clients and Crew ลูกค้าและพนักงานในบริษัทจัดการกองทุนรวม คือกุญแจแห่งความสำเร็จที่ต้องพัฒนาความสัมพันธ์และความมั่งคั่งควบคู่กันไป การทำให้คนเหล่านี้เป็นหัวใจของธุรกิจถือเป็น "กฎทอง" ที่ต้องไม่ลืมเลือน โดยผู้เขียนชูคำขวัญว่า "คนไม่ควรอาศัยในดินแดนยูโทเปีย แต่แผนที่โลกที่ไร้เกาะยูโทเปีย ไม่มีค่าควรชำเลือง"



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us