Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Bull
ผู้เขียน: Maggie Mahar
ผู้จัดพิมพ์: HarperBusiness
จำนวนหน้า: 505
ราคา: ฿703
buy this book

หนังสือเล่มนี้ซึ่งเขียนโดยนักข่าวการเงินอเมริกัน สำหรับคนที่สนใจวิวัฒนาการของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาถึงปัจจุบันอย่างย่นย่อ โดยเฉพาะช่วงของการทะยานขึ้นที่ยาวนานที่สุดในประวัติของดัชนีดาวโจนส์ (ค.ศ.1982-1999) พร้อมด้วยเชิงอรรถาอธิบาย (แบบวิชาการ) รายละเอียดของศัพท์แสงทางการเงินต่างๆ ถือว่า น่าสนใจพอสมควร แม้ว่าอ่านแล้วจะไม่สามารถทำให้เกิดประกายปัญญาประเภท "อ่านแล้วรวย" ก็ตามที

ข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนสรุปให้เห็นเป็นรูปธรรม ผ่านมุมมองของเซียนในตลาดเงิน และตลาดทุน (นายธนาคารกลาง เจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุนรวม นักวิเคราะห์ นักวางกลยุทธ์การลงทุน และ ฯลฯ ก็คือ ผู้คนในยุคสมัยตลาดหุ้นขาขึ้นยุคใหม่ ต่างไม่เคยใส่ใจ และพร้อมจะละเลยบทเรียนเก่าๆ เมื่อครั้งตลาดหุ้นล่มสลาย 2 ครั้งก่อนหน้า

ที่สำคัญมีข้อเท็จจริงที่ตอกย้ำชัดว่า การทะยานขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทนั้น มีผู้บงการและเชียร์แขกอย่างเป็นกระบวนการ โดยเฉพาะคนที่ "เสียงดัง" และตลาดต้องเงี่ยหู ฟังทั้งหลายแหล่ ซึ่งเบื้องหลังล้วนมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันใกล้ชิด

กระบวนการของคนเหล่านี้นี่เอง ที่สร้างภาพลวงตาให้นักลงทุนมองและเชื่อมั่นในกระบวนทัศน์ว่า การหอบเงินออมที่เก็บสะสมมายาวนานในชีวิตเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดทุน นั้น คือหลักประกันความมั่งคั่งและมั่นคงแก่ชีวิต

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จแบบวอร์เรน บัฟเฟตต์ จึงมีจำนวนน้อย แสนน้อย

ร้ายยิ่งกว่านั้น เธอยังมีข้อมูลยืนยันว่า นักกฎหมาย นักการเมือง เทคโนแครต และ ผู้บริหารตลาดทั้งหลาย รวมทั้งนายธนาคารกลาง ต่างมีส่วนร่วมเปิดช่องโหว่ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทำการบิดเบือนตัวเลขในงบการเงิน โดยอ้างเหตุผลเรื่องความหวังดีในการทำให้ตลาดหุ้นเติบโต และบริษัทสนใจเข้าระดมทุน ซึ่งความหมายแท้จริงในท้ายสุดคือ เปิดช่องให้บริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่ปล้นนักลงทุนในตลาดอย่างเอารัดเอาเปรียบนั่นเอง ดังนั้น ข้อเสนอแนะของผู้เขียนก็คือ นักลงทุนต้องเตือนสติตัวเองอยู่เสมอให้ตั้งคำถามที่ควรสงสัยในเอกสารของบริษัทเจ้าของหุ้น แม้จะมีคนบอกว่าบริษัทนี้มีธรรมาภิบาลดีเพียงใด

ข้อเท็จจริงในหนังสือนี้อาจจะให้ภาพได้ไม่ทั้งหมด แต่หากอ่านหนังสือเก่า Secret of the Temple เมื่อหลายปีก่อน (หากหามาอ่านได้) ก็จะเข้าใจว่า ทำไมถึงมีคนบอกว่า อเมริกานั้นถูกปกครองโดยคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกในทำเนียบขาว และกลุ่มหลังที่วอลล์สตรีทยิ่งร้ายไปกว่านั้น ความบ้าคลั่งในการลงทุนในตลาดหุ้นที่แผ่ขยายจากกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ หรือคนวงในบางกลุ่มในเมืองใหญ่ กระจายไปทั่วเกือบทุกครัวเรือนของอเมริกานั้น เกิดจาก งานของสื่อมวลชนทางโทรทัศน์ ซึ่งสร้างสีสันเร้าใจให้กระแสการเล่นหุ้นกลายเป็น "อินเทรนด์" ไปกับเขา จนกระทั่งลืมสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงให้กับการลงทุน จะรู้ตัวอีกครั้งก็หมดตัวพร้อมกับหุ้นที่ไร้ราคาเสียแล้ว

อาศัยปูมหลังนักข่าวสายการเงิน ผู้เขียนหนังสือสามารถใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่งสำคัญ ในวงการเงินและตลาดหุ้นของอเมริกาในวอลล์สตรีท เมนสตรีท และวอชิงตัน เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นพลวัตของตลาดหุ้นช่วงขาขึ้นและขาลงได้อย่างแนบเนียนและมีสีสัน

ข้อสรุปของผู้เขียนหลายคนอาจจะไม่ชอบ เพราะเธอสรุปว่าท้ายที่สุดแล้ว การเหวี่ยงตัวของดัชนีตลาดนั้น จะย้อนกลับมาที่ค่าเฉลี่ยเสมอเหมือนกับเส้นเชือกที่ถูกเหวี่ยงไปรอบแกนของตัวเอง คนที่มุ่งหวังและควบคุมตัวเองกับการค้นหากำไรที่เหมาะสม (optimum profit) ที่ตั้งเอาไว้ จะสามารถรับผลตอบแทนการลงทุนได้ดีกว่าคนที่แสวงหากำไรสูงสุด ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการขาดทุน

สิ่งที่ผู้เขียนคาดหวังจากนักลงทุนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือ คนที่เล่นหุ้นตามจังหวะ (market timer) รวมทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้นคือคนที่เป็นต้นแบบของนักลงทุนในตลาดหุ้น เพราะคนประเภทนี้พร้อมจะออกจากตลาด โดยไม่สนใจว่าตลาดหุ้นกำลังขึ้นมากหรือน้อยเพียงใด และจะไม่เจ็บตัวจากการลงทุน

ความคาดหวังนี้แหละเป็นประเด็นที่น่าวิจารณ์มากที่สุด เพราะว่าจากประสบการณ์มากมายของคนในแวดวงตลาดทุนแล้ว การเก็งกำไรแบบ market timing นั้น น่าเบื่อและต้องการความอดทนอย่างมาก ที่สำคัญเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับตลาดหุ้นที่ผันผวนง่าย โดยเฉพาะตลาดหุ้นในประเทศกำลังพัฒนา ที่หุ้นถูกครอบงำจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในระดับเกินกว่าที่ควร

เนื้อหาส่วนที่ดีมากของหนังสือเล่มนี้ กลับไปอยู่ที่เชิงอรรถประกอบเนื้อเรื่องในทุกบท ซึ่งอธิบายเบื้องหลังถ้อยคำต่างๆ ที่ปรากฏในความเคลื่อนไหวของตลาดในแต่ละช่วงเวลา อาทิ คำว่า 401(k) มีความหมายเกี่ยวกับกองทุนบำนาญได้อย่างไร เป็นต้น

รายละเอียดในหนังสือ

Part 1 Introduction

Chapter 1 The Market's Cycles กล่าวถึงความสำเร็จ และข้อบกพร่องของทฤษฎีวงจรตลาดหุ้น Dow Theory และ Cycle Theory ของริชาร์ด รัสเซล ที่นำไปสู่การตัดสินใจ ถูกและผิดของนักลงทุน

Chapter 2 The People's Market กล่าวถึง เสน่ห์ของตลาดหุ้นที่ชักชวนนักลงทุนรุ่นแล้วรุ่นเล่าเข้ามาในตลาด พร้อมกับรับบทเรียนที่เจ็บแสบกลับออกไป แต่ก็ถือเป็นสัญลักษณ์ ของความสำเร็จและภาพสะท้อนสังคมชนชั้นกลางได้อย่างดี

Part 2 Beginnings (1961-89)

Chapter 3 The Stage is Set (1961-81) สภาวะของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทก่อนการเริ่มต้นทะยานขึ้นครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1982 ซึ่งยังมีแต่คน "วงใน" เกี่ยวข้องเป็นหลัก โดยใช้นักลงทุนคนสำคัญคือวอร์เรน บัฟเฟตต์ ในยุคเริ่มต้นเป็นตัวชูโรง

Chapter 4 The Curtain Rises (1982-87) ตลาดหุ้นนิวยอร์กขาขึ้นยาวนานครั้งใหญ่ ช่วงแรกจากดัชนีดาวโจนส์ใต้ 1,000 จุด ขึ้นไปเหนือระดับ 2,700 จุด (นับแต่หลังสงคราม โลกครั้งที่สอง) พร้อมกับผู้ขับเคลื่อนเบื้องหลัง และนำพานักลงทุนรายย่อยเข้ามาในตลาดอย่างคับคั่ง

Chapter 5 Black Monday (1987-89) ตลาดหุ้นขาลงครั้งใหญ่เมื่อสิ้นสุดสายป่านของฟองสบู่ครั้งแรก โดยมีจุดเริ่มที่ Black Monday ครั้งแรกวันที่ 19 ตุลาคม 1987 พร้อมกับตัวอย่างมากมายของหายนะของนักลงทุน

Part 3 The Cast Assembles (1990-95)

Chapter 6 The Gurus การโผล่หน้าของเทคโนแครตวงการตลาดทุนและตลาดเงินที่จะส่งอิทธิพลมาถึงยุคปัจจุบัน พร้อมกับความคิดใหม่ๆ เช่น แอบบี้ย์ โยเซฟ โคห์น (ผู้ก่อตั้งโกลด์แมน แซคส์) และอลัน กรีนสแปน พร้อมด้วยนักวิเคราะห์หุ้นชื่อดังรุ่นใหม่ที่สร้างชื่อโด่งดังขึ้นมาติดหูนักลงทุนและสื่อ

Chapter 7 The Individual Investor เงินออมที่ล้นเกินจากความมั่งคั่งในสังคมอเมริกัน เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้นผ่านมือนักลงทุนส่วนบุคคล และกองทุนบำนาญพนักงาน จำนวนมากที่พร้อมจะตั้งกองทุนไพรเวทฟันด์ขึ้นมาเล่นหุ้น

Chapter 8 Behind The Scenes, in Washington กล่าวถึงการแก้ไขกติกาต่างๆเกี่ยวกับการเงินธุรกิจ ความโปร่งใสของธุรกิจ และการเปิดทางให้ตลาดทุนเติบโตมากขึ้นในอเมริกา

Part 4 The Media, Momentum, and Mutual Funds (1995-96)

Chapter 9 The Media : CNBC Lays down the Rhythm การแข่งขันและบทบาท การรายงานข่าวตลาดทุนและตลาดเงินโทรทัศน์ที่ทำให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เป็นนักลงทุนทั่วทั้งอเมริกาโดยตรง ที่ก่อให้เกิดการเฟื่องฟูครั้งใหม่

Chapter 10 The Information Bomb สงครามข่าวสารที่กว้างขวางก่อให้เกิดผลดีและผลเสียพร้อมกันไป

Chapter 11 AOL : ACaes Study การมาของอินเทอร์เน็ต และยุคฟองสบู่ดอทคอม ที่มี AOL เป็นกรณีตัวอย่าง

Chapter 12 Mutual Funds : Momentum versus Value ความเฟื่องฟูของธุรกิจกองทุนรวม พร้อมกับวัฒนธรรมใหม่ของการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน

Chapter 13 The Mutual Fund Manager : Career Risk versus Investment Risk การตลาด และการแข่งขันเพื่อช่วงชิงลูกค้าและความสำเร็จของผู้จัดการกองทุนรวม

Part 5 The New Economy (1996-98)

Chapter 14 Abby Cohen Goes to Washington : Alan Greenspan Gives a Speech การเถลิงอำนาจของวอลล์สตรีทเหนือนโยบายการเงินการคลังของทำเนียบขาว

Chapter 15 The Miracle of Productivity ผลิตภาพทางการผลิตที่เฟื่องฟูของอเมริกันอันเกิดจากเทคโนโลยีสารสนเทศที่น่ามหัศจรรย์และจะขับเคลื่อนดัชนีดาวโจนส์ให้ทะยานเหนือ 10,000 จุดในเวลาต่อมา

Part 6 The Final Run-Up (1998-2000)

Chapter 16 "Fully Deluded Earnings" บทบาทของวิศวกรรมการเงินที่ซับซ้อนของ ซีเอฟโอบริษัทขนาดใหญ่ในอเมริกาที่นำมาซึ่งหายนะในเวลาต่อมา

Chapter 17 Following the Herd : Dow 10,000 ปลายยอดของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ขาขึ้นเมื่อปี 1999 พร้อมกับฟองสบู่ดอทคอมของจริง

Chapter 18 The Last Bear is Gored พฤติกรรมที่ผิดประหลาดหลายกรณียามตลาดหุ้นผันผวนก่อนจะปรับตัวลง

Chapter 19 Insiders Sell : The Water Rises ตลาดหุ้นพังครั้งใหม่เมื่อฟองสบู่ดอทคอมแตกในต้นปี 2000

Part 7 A Final Accounting

Chapter 20 Winners, Losers, and Scapegoats (2000-2003) กรณีตัวอย่างว่าด้วย ผู้แพ้และผู้ชนะในสถานการณ์ตลาดผันผวนและเปลี่ยนโมเมนตัม

Chapter 21 Lookong Ahead : What Financial Cycles Mean For the 21st Century Investor การสำรวจเพื่อทบทวนทฤษฎีวงจรตลาดทุน พร้อมด้วยทางเลือกสำหรับการลงทุนในผสมผสาน

Epilogue ส่งท้ายว่าด้วยแนวโน้มของปัจจัยที่มีผลต่อตลาดทุนในระยะอันสั้น



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us