|

new releases
Manager 360 aStore
|
|
|

 |
 |
The Great Unraveling
ผู้เขียน: Paul Krugman
ผู้จัดพิมพ์: W.W. Norton & Company
จำนวนหน้า: 516
ราคา: ฿680
buy this book
|
 |
|
 |
บทบาทที่ทำให้พอล ครุกแมน มีชื่อเสียงมากมายในระดับโลกนั้นว่ากันตามจริงแล้ว ไม่ได้วิเศษไปกว่าที่อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำมายาวนานแล้วแม้แต่น้อย
ว่าไปแล้ว ครุกแมนอาจจะเลียนแบบอาจารย์รังสรรค์เสียด้วยซ้ำ ในการนำเอาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์เพื่ออธิบายและวิพากษ์เรื่องราวร่วมสมัยได้อย่างทันท่วงที
น่าเสียดายที่อาจารย์รังสรรค์เขียนเป็นภาษาไทยและเรื่องของเมืองไทย เลยไม่รวยและไม่โด่งดังเหมือนครุกแมน
ถือเป็นการถ่ายทอดเจตนารมณ์ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่ต้องการสร้างศาสตร์ที่เรียกว่า Popular Economics ขึ้นมา
งานเขียนในหนังสือเล่มนี้คัดมาจากข้อเขียนในคอลัมน์ประจำหน้าบรรณาธิการทุกวันจันทร์ ของหนังสือพิมพ์ The New York Times (ซึ่งประกาศตัวสนับสนุนพรรคเดโมแครตเหนียวแน่นมาตลอด) แล้วนำมาจัดหมวดหมู่เสียใหม่เพื่อให้เป็นระบบ
ชื่อของหนังสือเล่มนี้เอามาจากงานเขียนเก่าของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าของอเมริกา โรเบิร์ต ไฮบรอนเนอร์ แต่เปลี่ยนลีลาและน้ำเสียงใหม่เป็นการเสียดสีมากขึ้นอันเป็นสไตล์เฉพาะที่โด่งดังของครุกแมนโดยตรง (ว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็น่าจะลอกแบบอาจารย์รังสรรค์ไปด้วยเช่นกัน แต่อาจารย์รังสรรค์นั้นปากจัดกว่าเยอะ)
ลักษณะของงานเขียนบทหนังสือพิมพ์ก็คือ อ่านง่าย กระชับ ไม่ต้องอ้างอิงข้อมูลอะไรมาก ตรงประเด็น และปากจัด (คอลัมนิสต์คนไหนไม่ปากจัด ถือเป็นคอลัมนิสต์ที่ล้มเหลว) ซึ่งครุกแมน ทำได้ตรงเป้าหมด โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญชนิด "กัดไม่ปล่อย" คือ จอร์จ บุช จูเนียร์ และคณะ เจ้าของนโยบาย "ประชานิยมขวาจัด" (conservative populism) ที่ทำเนียบขาวที่ครองอำนาจอยู่นั่นเอง
หากอยู่ในเมืองไทย ครุกแมนต้องถูกข้อหาเป็น "ขาประจำ" กับเขาด้วยอย่างแน่นอน
หนังสือของครุกแมนเล่มนี้จึงขายดีในกลุ่มพวกเสรีนิยม แต่ถูกวิจารณ์หนักโดยพวกเอียงขวา ในอเมริกาว่า เป็นแค่การเล่นสำนวนด่าคนเล่นโดยอาศัยชื่อเสียงเก่าๆ ของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเท่านั้น ซึ่งเข้าใจได้
โจทย์หลักในหนังสือของครุกแมนเล่มนี้คือ การโยนระเบิดเวลาทางปัญญาถามคนอเมริกันเหตุใดความคาดหวังสร้างโลกใหม่ที่สดใสในยุคของคลินตัน จึงแปรเปลี่ยนเป็นปริวิตกต่ออนาคตภายใต้ผู้นำที่ต่ำกว่ามาตรฐานทั้งในภาคเอกชนและในภาครัฐ ที่ทำให้วีรชนกลายเป็นตัวการสร้างเรื่องฉาวโฉ่อึงคนึง
ข้อสรุปของเขารวมศูนย์อยู่ที่ความล้มเหลวของคณะบริหารภายใต้จอร์จ บุช จูเนียร์ เป็นสำคัญ ซึ่งมีแรงจูงใจในการสร้างนโยบายที่ชวนให้สงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะนโยบายลดภาษีธุรกิจที่ถูกวิจารณ์ว่า "อุ้มคนรวย (แต่อ้างว่า) ช่วยคนจน"
แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ แม้จะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัย แต่ฐานะของหนังสือแล้วคือ งานเขียนวิพากษ์การเมืองอเมริกันที่แหลมคมทีเดียว คนอ่านหนังสือเล่มนี้จึงไม่สามารถจะวางตัวเป็นกลางกับครุกแมนได้ เรียกว่า ไม่ชอบก็เกลียดไปเลย
นักวิจารณ์หนังสือนิยมขวาของอเมริกันคนหนึ่ง ถึงกับวิจารณ์อย่างแรงว่า หนังสือเล่มนี้ของ ครุกแมนนั้นอยู่ในโลกจินตนาการนักเสรีนิยมบนหอคอยงาช้าง ไม่ได้สัมผัสความเป็นจริงของคนเดินถนน เป็น "Some Great Columns Add Up to Less-Than-Great Book" (ขออนุญาตไม่แปล)
สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านต้นฉบับของจอห์น เมยนาร์ด เคนส์ ในอดีตมาก่อน หนังสือเล่มของ ครุกแมนนี้จะทำให้เราซาบซึ้งได้ดีว่า นักวิชาการฝรั่งที่ปากจัดนั้น เขาเล่นกับภาษาโดยอาศัยพื้นฐาน ความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขามาเสียดสีได้แสบสันเพียงใด
แล้วจากนั้นก็ย้อนกลับมาอ่านงานเขียนทั้งหลายของอาจารย์รังสรรค์ในบ้านเราดูบ้าง จะรู้เลยว่า อาจารย์รังสรรค์นั้นเป็นทรัพยากรมีค่าแค่ไหนของสังคมไทย
ที่สำคัญก็จะเข้าใจว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่พูดจาภาษา "ตลาด" นั้น ไม่ได้สูญเสียความลึกซึ่งทางวิชาการแต่อย่างใด
รายละเอียดในหนังสือ
หนังสือรวมบทความเล่มนี้มีการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 6 หมวด โดยในแต่ละหมวด ก็แบ่งออกเป็นบท แต่ละบทก็มีหัวข้อย่อยรายละเอียดมากมาย ซึ่งเป็นบทความสั้นๆ ซึ่งมีความยาวจำกัดให้เหมาะกับการลงในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ Part 1 Bubble Trouble วิพากษ์พฤติกรรมฟองสบู่ในตลาดทุนและตลาดเงินของอเมริกา
Chapter 1 Irrational Exuberance ว่าด้วยพฤติกรรมการลงทุนที่ไร้เหตุผลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ อเมริกาขาขึ้น ซึ่งบทความเด่นคือเรื่องกฎของพิซซ่า
Chapter 2 Portents Abroad ว่าด้วยเศรษฐกิจนอกอเมริกาโดยเฉพาะเอเชีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี
Chapter 3 Greenspanomics ว่าด้วยบทบาทที่มากเกินขนาดถึงขั้นล้ำเส้นของอลันกรีนสแปน
Chapter 4 Crony Capitalism ว่าด้วยพฤติกรรมทางธุรกิจแบบเส้นสายในอเมริกาที่มีไม่น้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนา
Part 2 Fuzzy Math วิพากษ์การบริหารเศรษฐกิจของทีมประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์
Chapter 5 The Bait ว่าด้วยนโยบายลดภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของทำเนียบขาว
Chapter 6 ...And The Switch ว่าด้วยนโยบายขาดดุลงบประมาณของทำเนียบขาว
Chapter 7 2-1 = 4 ว่าด้วยนโยบายจ่ายเงินอุดหนุนด้านประกันสังคมของอเมริกาที่ได้ผล ตรงข้าม
Part 3 Victors and Spoils วิพากษ์โครงสร้างเศรษฐศาสตร์การเมืองของอเมริกายุคหลังคลินตัน
Chapter 8 Things Pull Apart ว่าด้วยการย้อนกลับสู่การเมืองเอียงขวาสุดกู่
Chapter 9 The Private Interest ว่าด้วยต้นทุนที่ไม่คุ้มของนโยบายต่อต้านก่อการร้ายที่กระเทือนเสรีภาพชาวอเมริกัน
Chapter 10 Exploiting September ว่าด้วยนโยบายประชานิยมขวาสุดขั้วของบุช จูเนียร์ หลังกรณี 11 กันยายน 2544
Chapter 11 A Vast Conspiracy ว่าด้วยนโยบายค้าสงครามแลกน้ำมันของอเมริกาที่ทำให้พวกทุนผูกขาดกำไรมหาศาล
Part 4 When Markets Go Bad วิพากษ์ความล้มเหลวของภาวะผู้นำในยุคบุช จูเนียร์
Chapter 12 California Screaming ว่าด้วยกรณีวิกฤติพลังงานของแคลิฟอร์เนียและเอนรอน
Chapter 13 Smog and Mirrors ว่าด้วยวิกฤติราคาน้ำมันร่วมสมัย
Chapter 14 Foreign Disasters ว่าด้วยบทเรียนความล้มเหลวของฮ่องกง อาร์เจนติน่า และ ละตินอเมริกา
Part 5 The Wider View วิพากษ์กระแสโลกาภิวัตน์
Chapter 15 Global Schmobal ว่าด้วยทิศทางเปิดค้าเสรีระดับโลกที่ยังให้คำตอบไม่เพียงพอ
Chapter 16 Economics and Economists ว่าด้วยคนที่อยู่เบื้องหลังความคิดใหม่ที่น่าศึกษาจากทั่วโลก
Part 6 One Year Later วิพากษ์ความยุ่งยากที่ตามมาหลังจากการยึดครองอิรักของอเมริกา
Chapter 17 War and Terror ว่าด้วยปัญหาสืบเนื่องจากนโยบาย "สงครามต่อต้านก่อการร้าย"
Chapter 18 Dollars and Cents ว่าด้วยทิศทางการเสื่อมของค่าดอลลาร์
Chapter 19 Abuses of Power ว่าด้วยการบิดเบือนอำนาจเกินขนาดที่ชาวอเมริกันต้องระวัง
|
 |
|
|