|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Hackers and Painters
ผู้เขียน: Paul Graham
ผู้จัดพิมพ์: O'Reilly
จำนวนหน้า: 258
ราคา: $22.95
buy this book
|
|
|
|
โลกของโปรแกรมเมอร์
ในขณะที่เรากำลังเริ่มคุ้นเคยกับการที่ของใช้ในชีวิตประจำวันรอบๆ ตัวเรา กำลังกลายเป็นคอมพิวเตอร์ไปเกือบหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ดีด โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป ไปจนกระทั่งรถยนต์ แต่สำหรับนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการทำให้ของใช้ต่างๆ กลายเป็นคอมพิวเตอร์นั้น เราแทบไม่รู้จักหรือคุ้นเคยกับพวกเขาสักเท่าใด
Paul Graham ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และจิตรกร จะทำให้คุณรู้จักโลกของนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และแรงจูงใจของพวกเขาในการเขียนสุดยอดซอฟต์แวร์ต่างๆ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดแห่งยุค
ก่อนอื่น Graham ชี้แจงถึงคำว่า "hacker" ก่อนว่ามีหลายความหมาย โดยความหมายที่คนทั่วไปมักนึกถึงก่อนคือ นักเจาะระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อขโมยข้อมูลหรือก่อกวน แต่ hacker ในความหมายของ Graham คือ นักเขียนโปรแกรม คอมพิวเตอร์ที่สร้างสรรค์สุดยอดซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้เราได้ใช้งานได้อย่างง่ายๆ และสะดวกสบาย
Graham เริ่มเล่าถึงโลกของนักเขียนโปรแกรมหรือโปรแกรมเมอร์ว่า เริ่มจากการเป็นเด็กคงแก่เรียนที่มักจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนนักเรียนด้วยกันนัก โดยบอกถึงสาเหตุที่พวกเขาไม่เป็นที่รักใคร่ และปัญหาที่เด็กเก่งเหล่านี้ต้องเผชิญ อันเนื่องมาจากความฉลาดและพรสวรรค์ของเขาเอง
ตัวผู้แต่งเองก็เคยเป็นเด็กคงแก่เรียน ก่อนที่โตขึ้นจะเป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเป็นจิตรกรในเวลาต่อมา Graham เห็นว่าโปรแกรมเมอร์และจิตรกรมีอะไรที่คล้ายกันเป็นอย่างมาก
ภาพเขียนชิ้นโบว์แดงกับสุดยอดซอฟต์แวร์
Graham เปรียบการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ยอดเยี่ยมว่าเหมือนกับการเขียนภาพชิ้นโบแดง โดยเขาอ้างถึงภาพเขียนชื่อ Ginevra de'Benci ของ Leonardo da Vinci ว่า สาเหตุที่ได้รับการยกย่องไม่ใช่เพียงเพราะฝีมือการวาดรูปทรงอันสวยงามของสตรี ซึ่งเป็นจุดสำคัญของภาพเท่านั้น แต่เป็นเพราะการที่ da Vinci ใส่ใจกับรายละเอียดของภาพทั้งส่วนที่เป็นฉากหลังและส่วนที่เป็นจุดสนใจของภาพ ซึ่งทำให้ภาพเขียนดังกล่าว งดงามอย่างหาที่ติไม่ได้
Graham เห็นว่าการเขียนซอฟต์แวร์ที่ยอดเยี่ยมก็เป็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือ นักเขียนซอฟต์แวร์ก็จำเป็นจะต้องใส่ใจในส่วนที่เป็นรายละเอียดของโปรแกรมด้วย ซึ่งจะต้องมีความ "สวยงาม" ไม่แพ้กันกับส่วนที่เป็นจุดสำคัญของซอฟต์แวร์นั้นๆ
แรงบันดาลใจ
Graham ชี้ถึงความคล้ายคลึงกันของศิลปะการเขียนซอฟต์แวร์กับการเขียนภาพต่อไปว่า ทั้งการเขียนภาพและการเขียนซอฟต์แวร์ต่างต้องการแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเหมือนๆ กัน และแรงบันดาลใจนั้นก็มีขึ้นมีลง ซึ่งทำให้บางครั้งนักเขียนซอฟต์แวร์ก็เกิดตันความคิด เหมือนกับศิลปินได้ เมื่อเวลาที่ขาดแรงบันดาลใจ
ผู้แต่งซึ่งเป็นดอกเตอร์ทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก Harvard และศึกษาด้านจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัย Rhode Island School of Design และ Accademia ในเมืองฟลอเรนซ์ของอิตาลี ยังชี้ต่อไปถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างนักเขียนซอฟต์แวร์กับจิตรกร อย่างเช่น ซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้น มีเป้าหมายอยู่ที่คน ซึ่งก็เหมือนกับภาพเขียน ดังนั้น นักเขียนซอฟต์แวร์ ก็เช่นเดียวกับจิตรกร จำเป็นจะต้องมีความสามารถ ที่จะมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองของผู้ใช้หรือผู้เสพงานของตน
นอกจากนี้ ผู้แต่งยังบอกวิธีกำจัด spam และกล่าวถึงบทบาทของ "รสนิยม" ที่มีต่อกระบวนการสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ รวมทั้งเล่าถึงภาษาการเขียนโปรแกรมว่าทำงานอย่างไร และภาษาการเขียนโปรแกรมชนิดใดที่จะคงอยู่ต่อไปได้อีก 100 ปี ตลอดจนกล่าวถึงซอฟต์แวร์ Viaweb startup ซึ่งเขาเป็นผู้เขียน ซึ่งเป็นโปรแกรมชนิด application โปรแกรมแรกสำหรับใช้บนเว็บ
|
|
|
|