|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Blood and Oil
ผู้เขียน: Michael Klare
ผู้จัดพิมพ์: Penguin Books
buy this book
|
|
|
|
ในอเมริกานั้น นักวิชาการทางด้านความสัมพันธ์หรือยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ขยันเขียนหนังสือออกมาตั้งคำถามที่ท้าทายภูมิปัญญาคนทั่วไปอย่างมากทีเดียว หนังสือเล่มนี้ก็เป็นเช่นนั้น
ผู้เขียนเป็นนักวิชาการด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศโดยตรง และออกหนังสือทำนองนี้มาหลายเล่ม แต่ยังไม่ได้เขียนถึงเรื่องน้ำมันอย่างละเอียดเหมือนเล่มนี้
ชื่อของหนังสือเล่มนี้ดัดแปลงมาจากสโลแกนสร้างชาติเยอรมันของบิสมาร์กที่ว่า Blood & Iron อย่างชัดเจน เพื่อบ่งชี้ให้เห็นว่า เมื่อเยอรมนีในอดีตสร้างความมั่งคั่งจากเหล็ก ฉันใด อเมริกาก็สร้างความมั่งคั่งจากพลังงานฉันนั้น
โจทย์ใหญ่ของผู้เขียนก็คือ มองเห็นอันตรายของการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียม จากภายนอกมากเกินไป จนกระทั่งทำให้นโยบายการเมืองของอเมริกาเป็นไปเพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ครอบครองแหล่งน้ำมันทั่วโลก และสร้างความขัดแย้งต่อเนื่องกับชาติและคนในสังคมต่างๆ มากขึ้นทุกปี
มุมมองที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง อยู่ที่ผู้เขียนเน้นว่า เพราะการเร่งเข้าควบคุมแหล่งเจาะน้ำมันในโลก จากการที่พ่วงเรื่องน้ำมันเข้ากับยุทธศาสตร์ทางทหาร ทำให้อเมริกาวางตัวเป็นศัตรูกับจีนโดยไม่จำเป็น และมีท่าทีต่อจีน เสมือนหนึ่งที่เคยมีต่อสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ซึ่งผลลัพธ์คือ ทำให้จีนต้องเร่งสร้างเกราะป้องกันตัวเอง 2 ทางพร้อมกันคือ เป็นพันธมิตรแนบแน่นกับอิหร่านและหลายชาติ เพื่อหาน้ำมันกับสะสมกำลังทางทหารเพื่อป้องกันการโจมตีในอนาคตจากอเมริกา
ข้อสรุปของผู้เขียนที่พูดถึงการแสวงหาอำนาจเหนือรัฐในเอเชียกลางของอเมริกา ซึ่งรัสเซียและจีนต่างถือเป็นเขต "ต้องห้าม" มายาวนานนั้น เป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก
ด้วยโจทย์เช่นนี้ ผู้เขียนพยายามอธิบายถึงที่มาและการคลี่คลายของการพึ่งพาน้ำมันนำเข้ามาบริโภคที่นับวันจะมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ของอเมริกา และขับเคลื่อนกองทัพอเมริกา เข้าไปยึดครองโลกเพื่อสนองเป้าหมายดังกล่าวในแง่มุมต่างๆ กัน สะท้อนปัญหาและผลลัพธ์ พร้อมกับเสนอทางออกไว้ในบทส่งท้าย เพื่อให้คนอ่านสานต่อความคิดให้กระจายออกไป โดย เน้นไปที่ก้าวหลัก 3 ประการแห่งอนาคต คือ
1) แยกเรื่องการซื้อพลังงานออกจากประเด็นความมั่นคงทางทหาร ไม่สนับสนุนรัฐบาล เผด็จการในประเทศที่เป็นเจ้าของบ่อน้ำมันสำคัญ และไม่ข่มขู่ให้ชาติใดชาติหนึ่ง เป็น "ตัวร้าย" ของโลก เพื่อหาทางเข้ายึดครองหลุมน้ำมัน
2) ลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานอย่างรวดเร็วในรูปแบบต่างๆ (โดยเฉพาะการหาพลังงานทดแทน)
3) เตรียมความพร้อมทางด้านต่างๆ สำหรับรับมือยุคหลังน้ำมัน เช่น สร้างรถยนต์ ไฮบริด การขนส่งมวลชน หรืออื่นๆ น่าเสียดายที่ทั้งสามกุญแจหลัก ซึ่งผู้เขียนเสนอออกมานั้นไม่ได้มีอะไรใหม่แต่อย่างใด ผลก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนของหนังสือโดยปริยาย
มองจากมุมของคนอ่าน หนังสือเช่นนี้เป็นสูตรสำเร็จทางวิชาการอย่างหนึ่งสำหรับนักวิชาการประเภท "อ่านเอกสารเขียนตำรา" ไม่ได้ลงมาสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงอย่างรอบรู้ แต่เมื่อดูจากปูมหลังของผู้เขียน เชื่อขนมกินไว้ก่อนว่า มีการ "แทงกั๊ก" เอาไว้ สำหรับขาย "วาระซ่อนเร้น" ต่อเนื่องที่มีรายได้มากกว่าหนังสือเอาไว้อย่างแน่นอน
เรื่องอย่างนี้ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจให้ดี
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้
Chapter The Dependency Dilemma : Imported Oil and National Security ชาติที่มีประชากรเพียง 5% ของโลก แต่บริโภคน้ำมัน 25% ของโลก โดยไม่มีนโยบายประหยัดพลังงาน เป็นที่มาของนโยบาย "สงครามทรัพยากร" ของอเมริกาในปัจจุบัน ซึ่งมีสาระ 4 อย่างคือ พึ่งพาการนำเข้ามากขึ้น คุกคามซัปพลายเออร์น้ำมันดิบที่ทำตัวออกห่างจากอเมริกา ปะทุกระแสต่อต้านอเมริกาทั่วโลก และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำมัน
Chapter 1 Lethal Embrace : The American Alliance with Saudi Arabia เสาหลัก ของนโยบายสนับสนุนผู้ปกครองเผด็จการซาอุดีอาระเบียอย่างไม่ลืมหูลืมตานับแต่ยุคของ รุสเวลท์ถึงปัจจุบัน ทำให้อเมริกาต้องส่งทหารเข้าไปตั้งในซาอุฯ ปะทุความรู้สึกชาตินิยมของพวกอาหรับและมุสลิมหัวรุนแรงอย่างทวีคูณ
Chapter 2 Choosing Dependency : The Energy Strategy of the Bush Administration รัฐบาลบุช จูเนียร์กับการจมปลักมากยิ่งขึ้นของการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง ด้วยการเข้ายึดครองอิรัก
Chapter 3 Trapped in the Gulf : The Irresistable Lure of Bountiful Petroleum ทหารอเมริกันกว่า 2 แสนคน ต้องถูกเคลื่อนไปตั้งฐานทัพเหนือบ่อน้ำมันในตะวันออกกลาง อย่างชนิดที่ไม่มีทางออกมาได้ และยากจะทำให้ดินแดนนี้สงบสันติอีกครั้งหนึ่ง
Chapter 4 No Safe Haven : Oil and Conflict Beyond the Persian Gulf นโยบายแสวงหาแหล่งน้ำมันนอกตะวันออกกลาง กำลังแพร่ขยายตัวให้ทหารอเมริกันต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับแอฟริกาตะวันตก และเหนือ เอเชียกลาง กับละตินอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะยิ่งทำให้สันติภาพในพื้นที่ดังกล่าวลดลง
Chapter 5 Geopolitics Reborn : The US-Russian-Chinese Struggle in the Persian Gulf and Caspian Basin เอเชียกลาง และรอบๆ ทะเลสาบแคสเปียน จะกลายเป็นแหล่งสะสมความตึงเครียดทางทหารครั้งใหม่ของโลก เมื่อ 3 มหาอำนาจ อเมริกา รัสเซีย และจีน จะแย่งกันมีอำนาจครอบงำดินแดนดังกล่าว
Chapter 6 Escaping the Dilemma : ข้อเสนอของผู้เขียนในการหลบออกจากปลักของ ปัญหาความผิดพลาดจากนโยบายเดิมๆ
|
|
|
|