Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Islam and the West
ผู้เขียน: Bernard Lewis
ผู้จัดพิมพ์: Oxford University Press
จำนวนหน้า: 217
ราคา: ฿785
buy this book

การก่อการร้ายเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่าความเสี่ยงทางทหารหลายเท่าอย่างน้อยที่สุดก็มีผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ราคาทองคำผันผวน และตลาดหุ้นปั่นป่วนได้เสมอเมื่อมีข่าวขึ้นมา

การทำความคุ้นเคยกับมุสลิมหัวรุนแรง จึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องเผชิญและจัดการกับความเสี่ยงในโลกธุรกิจเช่นกัน

เบอร์นาร์ด ลูอิส เป็นนักเขียนประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อสายยิว แต่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญน้อยรายในโลกตะวันตกที่เข้าใจประวัติศาสตร์ของอิสลามและมุสลิมได้ลึกซึ้งมาก

หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามอธิบาย "ก้นบึ้ง" ของความสัมพันธ์ในลักษณะ "หยิน-หยาง" (ความสัมพันธ์แบบอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งที่แตกต่างกัน) ระหว่างตะวันตก (หมายถึงโลกที่นับถือคริสเตียน) กับอิสลาม อันเป็นกระบวนการหนึ่งของมนุษยชาติที่จะสร้าง "ศาสนาสากล" ขึ้นมา เป็นภารกิจต่อเนื่องจากการเริ่มต้นของศาสนาสากลแรกของโลกคือ พุทธศาสนา ที่เกิดขึ้นก่อน

ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า โดยรากฐานที่ไม่ต่างกันคือ สร้างศาสนาสากล และนับถือพระเจ้าองค์เดียว (แทนเทพหลายองค์แบบกรีก และฮินดู) แต่ช่วงเวลาที่ต่างกัน และมุมมองในรายละเอียดที่ต่างกัน ทำให้ชาวคริสต์และยิว มองว่า อิสลามเป็นพวก "ทรยศ" หรือ "นอกรีต" อันน่าสะพรึงกลัว ในขณะที่มุสลิมก็มองว่า อิสลามซึ่งเกิดทีหลังเป็นศาสนาที่สมบูรณ์กว่า และเหนือกว่า ซึ่งเป็นต้นตอของความขัดแย้งในระดับจิตสำนึกและทัศนคติ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้จะแตกต่างและขัดแย้งในระดับจิตสำนึก ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาหากขาดความลึกซึ้ง แต่พัฒนาการของตะวันตกและอิสลาม ก็เป็นไปในลักษณะทั้งทำลาย และส่งเสริมกันเองไปตลอดสมัยประวัติศาสตร์ ผลัดกันแพ้-ชนะ และเอื้ออาทรกันจนกระทั่งการต่อสู้ยุคเก่าสิ้นสุดลง เมื่ออาณาจักรออตโตมันล่มสลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งถือเป็นชัยชนะเบ็ดเสร็จของตะวันตก และเป็นหายนะของโลกอิสลาม ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงจังหวะของการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ทำให้โลกทางวัตถุมีอิทธิพลต่อผู้คนเหนือศาสนามากขึ้นทุกขณะ

ในทางกลับกัน ผู้เขียนมองว่า การรุกคืบของลัทธิจักรวรรดินิยม และการเข้าไปครอบงำผลประโยชน์ในธุรกิจน้ำมันในตะวันออกกลางของตะวันตก คือ จุดถือกำเนิดใหม่ของอิสลามร่วมสมัยที่กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เนื่องจากภาวะล่มสลายของสังคม และความไม่เท่าเทียมกันของผู้คน ทำให้พวก "กลับสู่รากเหง้า" ได้กลับมามีอิทธิพลอีกครั้งหนึ่ง นับแต่ชัยชนะของโคไมนีในการปฏิวัติอิสลามที่อิหร่าน

ผลพวงที่เกิดขึ้นทำให้อิสลามฟื้นคืนกลับมาเป็นพลังทางการเมืองทางอ้อมของโลกครั้งใหม่ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับกระแสต่อต้านตะวันตกที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟไหม้ฟาง และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามกับตะวันตก มีลักษณะเผชิญหน้ากันมากขึ้น โดยผ่านพฤติกรรมของพวกมุสลิมหัวรุนแรงจำนวนน้อย

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผู้เขียนพยายามใช้มุมมองแบบ "ภววิสัย" อย่างยุติธรรม ที่จะสรุปว่า ความแตกต่างกัน และเอื้ออาทรกันจะยังคงดำเนินต่อไป คำถามที่ต้องตอบ ต่อไปก็คือ การอยู่ร่วมกันของความแตกต่างในรากฐานระหว่างอิสลามกับตะวันตก และอิสลามกับโลกทางวัตถุจะทำได้ดีเพียงใด

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นทางออกของปัญหาความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลาม แต่ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจอย่างมากในความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างอิสลามกับตะวันตก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องชี้ทางออกอะไร

เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่า อิสลามก็มีเงาของตะวันตกอยู่ในตัวเอง และตะวันตกก็มีธาตุของอิสลามเช่นเดียวกัน ก็ช่วยเตือนสติผู้คนให้ยั้งคิดมากพอสมควร ไม่ปล่อยให้พวกคลั่งสงครามฉวยจังหวะทำลายขันติธรรมทางศาสนาและความเชื่อของผู้คน มาเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์และอำนาจอย่างสะดวกดายมากเกินไป

ถือเป็นหนังสือขนาดเล็กที่ลึกซึ้งเล่มหนึ่ง แม้จะมีจุดอ่อนคือ ขาดรายละเอียดของประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะทำให้คนอ่านต้องงุนงงกันพอสมควรกับเนื้อหาบางตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์และคนบางคนในอดีต แต่คมความคิดของผู้เขียนก็น่าจะทำให้เราต้องย้อนกลับไปศึกษากันมากขึ้น

ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันสติปัญญา ไม่ปล่อยให้คนอย่าง คอนโดรีซ่า ไร้ซ, โดนัลด์ รัมสเฟลด์ และโอซามา บิน ลาดิน มีอิทธิพลครอบงำจิตสำนึกได้


รายละเอียดในหนังสือ
Part 1: ENCOUNTERS

Chapter 1 Europe and Islam ฉายภาพย้อนประวัติศาสตร์ให้เห็นปฏิสัมพันธ์ทางอารยธรรมระหว่างยุโรปกับอิสลามที่มีรากเดียวกัน นั่นคือ พัฒนาการของศาสนา "สากล" (ใช้ได้กับทุกคนไม่เลือกสถานที่และเวลา) ที่ว่าด้วยการยอมรับพระเจ้าองค์เดียว โดยมีทั้งการต่อสู้ และถ่ายทอดซึ่งกันและกันต่อเนื่องระหว่างคริสเตียน และอิสลาม จนถึงปี ค.ศ.1920 อันเป็นปีชี้ขาดที่อารยธรรมคริสเตียนเอาชนะอิสลามได้อย่างเบ็ดเสร็จและแสดงบทบาทครอบงำมาโดยตลอด

Chapter 2 Legal and Historical Reflections on the Position of Muslim Under Non-Muslim Rule ฐานะทางกฎหมายและแรงสะท้อนของคนมุสลิมที่ต่ำต้อยลงภายใต้กติกาของคนที่ไม่ใช่มุสลิมที่มีอำนาจในโลก ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมุสลิมด้วยกันเองเรื่องมาตรฐานของจิตสำนึกแล้ว ยังเป็นรากเหง้าของความไม่พอใจของคนมุสลิมต่ออารยธรรมตะวันตก

Part 2 : STUDIES and PERCEPTIONS

Chapter 3 Translation from Arabic ภาพลักษณ์ที่บิดเบี้ยวของอิสลามและมุสลิม อันเกิดจากการใช้ภาษาที่ผิดพลาดทั้งโดยเจตนาและโดยความเข้าใจบกพร่องของการแปลจากคัมภีร์และความรู้ภาษาอารบิกมาเป็นภาษาในยุโรปและอื่นๆ

Chapter 4 The Ottoman Obsession ฐานะอันเข้มแข็งที่ค่อยๆ เสื่อมทรามลงของการปกครองแบบอาณาจักรออตโตมันในระหว่างที่ยุโรปกำลังทำสงครามหลังยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ทำให้ภาพของอาณาจักรอิสลามในมุมมองของคนยุโรปในยุคแสวงหาเสรีภาพ ดูน่าสะพรึงกลัว และไม่น่าไว้วางใจ พันธมิตรที่ต้องรักษาระยะห่าง มีความหมายเพียงแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น

Chapter 5 Gibbon on Muhammad การพยายามเข้าถึงรากเหง้าของอิสลาม โดยเอ็ดเวอร์ด กิบบอน นักประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเขียนประวัติศาสตร์แนวใหม่ของอิสลามโดยยึดเอาประวัติศาสดามะหะหมัดเป็นแกน ซึ่งทำให้อิสลามศึกษาเปลี่ยนไป และโลกได้รู้มากขึ้นว่า อิสลามมีบทบาทสำคัญในการธำรง (ไม่ใช่ทำลายล้าง) อารยธรรมกรีกและโรมันเพียงใด แต่ภาพของการเผยแผ่ศาสนาของศาสดามะหะหมัดด้วยมือข้างหนึ่งถืออัลกุรอาน อีกข้างหนึ่งถือดาบ ตามที่กิบบอนสร้าง กลายเป็นภาพลักษณ์อันบิดเบี้ยวของอิสลามในสายตาชาวโลกต่อมาถึงปัจจุบัน

Chapter 6 The Question of Orientalism วิเคราะห์ความบิดเบี้ยว และความผิดพลาดหลายประการที่สำคัญของการศึกษาที่มีอคติของนักคิดยุโรปต่ออิสลามภายใต้สำนักวิชาการ โอเรียนตอลลิซึ่ม ที่ยังเป็นมรดกมาถึงปัจจุบัน

Chapter 7 Other Peopležs History วิเคราะห์อคติของนักประวัติศาสตร์ตะวันตก ที่พยายามศึกษาอารยธรรมของอิสลามและตะวันออกอย่างขาดขันติธรรม ด้วยอหังการและมาตรฐานของผู้ที่เหนือกว่า โดยสร้างเกราะกำบังเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ แต่ไม่สนใจที่จะเข้าถึงรากเหง้าที่ซับซ้อนของ "คนแปลกหน้า" อย่างจริงจังและด้วยความเคารพ

Part 3: ISLAMIC RESPONSE and REACTION

Chapter 8 The Return of Islam การฟื้นคืนสู่รากเหง้าและกลับมาสู่ความนิยมครั้งใหม่เพื่อฟื้นฟูจิตสำนึกและจารีตท้องถิ่น หลังจากการลุกขึ้นสู้ของพวกชิอะห์ในอิหร่านในคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยอลาตุลยาห์ โคไมนี ที่ทำให้เกิดกระแสปฏิเสธตะวันตกเฟื่องฟูขึ้นมาในกลุ่มมุสลิม และทำให้อิสลามกลายเป็นพลังทางอ้อมในทางการเมืองขึ้นมาในโลก

Chapter 9 The Shiža in Islamic History ประวัติของจารีตแห่งการลุกขึ้นสู้ และกติกาแห่งการใช้อำนาจซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับแนวคิดเสรีนิยมของตะวันตก ซึ่งถูกพวกมุสลิมหัวรุนแรงนำไปใช้กล่าวอ้างเพื่อสร้างความรุนแรงทั่วโลก

Chapter 10 Country and Freedom มุมมองของลัทธิชาตินิยมอาหรับซึ่งขัดแย้งกับเสรีภาพในโลกของชาติที่มุสลิมปกครอง นำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความขัดแย้งกับหลักของอิสลามว่าด้วยความเป็นพี่น้องกันของคนร่วมศาสนา

Chapter 11 Religious Coexistence and Secularism โจทย์ที่คั่งค้างในประเด็นว่าด้วยการดำรงอยู่ร่วมกันของอิสลามกับศาสนาอื่นๆ ในโลกท่ามกลางความแตกต่างทางความเชื่อ และการดำรงอยู่ร่วมกันแบบทวิลักษณ์ของศาสนาอิสลามกับความเจริญทางวัตถุในโลกปัจจุบันและอนาคต



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us