|

new releases
Manager 360 aStore
|
|
|

 |
 |
The Crisis of Islam
ผู้เขียน: Bernard Lewis
ผู้จัดพิมพ์: Phoenix
จำนวนหน้า: 161
ราคา: ฿402
buy this book
|
 |
|
 |
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้วิเคราะห์ลงรากลึกถึงระดับจิตสำนึกของอิสลามและตะวันตกเหมือนเล่มอื่น ๆ ของผู้เขียน แต่ออกมาทันเหตุการณ์ของยุคก่อการร้ายโดยมุสลิมหัวรุนแรง และการต่อต้านก่อการร้ายระดับโลกโดยอเมริกาเป็นหัวโจก
โดยสาระสำคัญ ผู้เขียนพยายามเสาะหารากเดิมที่ทำให้กระแสญิฮัดต่อต้านตะวันตก เฟื่องฟูขึ้นมา ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของอิสลามนับแต่ศาสดามะหะหมัดนั้น ได้เอาชนะทางด้าน อุดมการณ์เหนือศาสนาอื่นๆ โดยเฉพาะคริสต์และยิวในย่านตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชียอย่างกว้างขวาง แม้ว่าบางแห่งอาจจะมีการใช้กำลังกัน เช่น ในอินเดีย หรือ แอฟริกาเหนือ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ถือว่าเป็นไปโดยสันติ รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
บางครั้ง สงครามศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามยังหมายถึงการสร้างพันธมิตรนอกศาสนาเพื่อร่วมสู้กับมุสลิมด้วยกัน ดังเช่นกรณีของพวกอาหรับในช่วงสงครามโลกครั้งแรก ที่ร่วมมือกับอังกฤษ (ภายใต้ ที อี ลอเรนซ) ร่วมมือต่อต้านกองทัพออตโตมันอย่างกว้างขวาง เป็นต้น
ในอดีต การปะทะกันของสงครามระหว่างอิสลามกับตะวันตกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็น การทำสงครามกับคริสเตียนจากยุโรปเป็นสำคัญ แต่ในยุคใหม่นี้ ลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก ได้ยื่นมือเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากน้ำมันในตะวันออกกลางอย่างเต็มที่ ทำให้สังคมมุสลิมเกิดความวุ่นวายอย่างรุนแรง กลายเป็นกระแสต่อต้านตะวันตกขึ้นมา
ในช่วงสงครามเย็น มุสลิมในตะวันออกกลางพยายามถ่วงดุลด้วยการสร้างพันธมิตรกับโซเวียต แต่เมื่อโซเวียตล่มสลายไป ดุลอำนาจที่เสียไป และกลายเป็นช่องว่างระหว่าง จารีตของสังคมอิสลามกับแนวคิดเสรีและนิยมวัตถุของตะวันตก ก็เปิดช่องให้กับความเฟื่องฟู ของกลุ่มหัวรุนแรงที่พยายามถ่วงดุล ด้วยการย้อนกลับไปหาแนวคิดวาฮาบี พร้อมกับนำญิฮัดมาใช้ในความหมายใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรง
ผู้เขียนถือว่า นี่เป็นวิกฤติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในอิสลามเอง เพราะญิฮัด และการก่อการร้ายนั้น เป็นสิ่งที่ขัดแย้งและไปด้วยกันไม่ได้
หนังสือนี้ระบุว่า ความชอบธรรมของการอ้างญิฮัดกับการใช้ความรุนแรงอย่างปราศจากขอบเขต เป็นเพียงปฏิบัติการของมุสลิมจำนวนน้อย แต่ก็ได้สร้างกระแสใหม่ๆของการใช้ความรุนแรง (ตัวอย่างได้แก่ โอซามา บิน ลาดิน) โดยอ้างถึงปฏิบัติการในอดีต เพื่อจูงใจให้มีสาวกเข้าร่วมขบวนการมากขึ้น
ความรุนแรงที่เกินขอบเขตนี้ ด้านหนึ่งอาจจะดูเหมือนมีผล แต่ที่จริงแล้ว เป็นการสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นมากด้วย เพียงแต่ฝ่ายที่พยายามต่อต้านพวกหัวรุนแรงมุสลิมเหล่านี้ ยังไม่รู้จักและรับมือได้ดีเพียงพอ ด้วยการปฏิเสธขันติธรรมทางศาสนาและความเชื่ออย่างไม่จำแนก ทำให้แยกไม่ออกระหว่างนักก่อการร้ายกับมุสลิมทั่วไปได้อย่างชัดเจน
บทที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ อยู่ในบทที่สอง ว่าด้วยญิฮัด ซึ่งได้อธิบายอย่างละเอียด โดยอ้างถึงแนวทางของจารีต และคัมภีร์อิสลาม เพื่อยืนยันว่า ความหมายของญิฮัดกับความรุนแรงนั้น ไม่ได้สอดคล้องกันเลย เพราะมีตอนหนึ่งของจารีตให้ปฏิบัติในญิฮัดอย่างเคร่ครัดคือ ปฏิบัติต่อเชลยอย่างดี ห้ามการปล้น-ขโมย และห้ามฆ่าสตรีและเด็ก
คำอธิบายในหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ ถือว่าชัดเจน เพียงแต่น่าเสียดายที่เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ได้บอกเลยว่า วิกฤติในอิสลามตามชื่อหนังสือที่ปกนั้น ที่แท้แล้วเป็นอย่างไร คำอธิบายสั้นๆ ไม่เพียงพอที่จะบอกว่า การที่มุสลิมหัวรุนแรงบางกลุ่มอ้างเรื่องญิฮัดก่อความรุนแรงไร้ขอบเขตนั้น ทำให้ศาสนาวิกฤติขึ้นมา
น่ากลัวหนังสือเล่มนี้จะตั้งชื่อผิด หรือจงใจขายตามสถานการณ์ที่คนกำลังสนใจเรื่องก่อการร้ายของมุสลิมหัวรุนแรงพอดี แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นหนังสือที่ควรอ่านในยามนี้ โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวกับปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายเดือนเต็มที
รายละเอียดในหนังสือ
I n t r o d u c t i o n ตั้งโจทย์เพื่อให้เกิดความกระจ่างว่า สงครามที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มหัวรุนแรงมุสลิมนั้น เป็นเรื่องที่ต้องการคำอธิบายมากกว่าแค่ "ต่อต้านนักก่อการร้าย"
Chapter 1 Defining Islam พูดถึงที่มาว่า เริ่มแรกนั้น อิสลามไม่เคยมีมติเอกฉันท์ที่ปฏิเสธอารยธรรมตะวันตกแต่อย่างใด แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปจนกระทั่งเกิดการตระหนักร่วมว่า ตะวันตกนำโดยอเมริกา ได้กลายมาเป็นศัตรูที่เลี่ยงไม่ได้ของอิสลามได้อย่างไร
Chapter 2 The House of War ประวัติย่อของญิฮัด (สงครามศักดิ์สิทธิ์) นับแต่เริ่มต้นจนได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการลุกขึ้นสู้ และเป็นข้ออ้างของพวกหัวรุนแรง ทั้งที่ในประวัติศาสตร์แล้ว ญิฮัดไม่เคยปฏิเสธการสร้างแนวร่วมหรือพันธมิตรในสงครามกับคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ที่ต่างออกไป แม้กระทั่งในสงครามลุกขึ้นต่อต้านมุสลิมผู้รุกรานด้วยกันเอง แถมญิฮัดก็ไม่ได้เน้นความรุนแรงต่อคนอยู่นอกศาสนา หรือศัตรู
Chapter 3 From Crusaders to Imperialists สงครามครูเสดในสมัยกลางอาจจะเป็นชัยชนะของพวกคริสเตียนโดยเฉพาะในการยึดครองเยรูซาเล็ม ค.ศ. 1099 แต่มันได้ทำลายความภาคภูมิของอิสลาม และชาวยิวไปพร้อมๆ กัน และมุสลิมก็ถือเอาพวกคริสเตียนเป็นผู้รุกรานนั้นแต่นับมาถึงปัจจุบัน การกลับเข้ามายึดครองตะวันออกกลางอีกครั้งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันโดยพวกจักรวรรดินิยมยุโรป อเมริกัน และโซเวียต ได้สร้างความขุ่นเคืองและทัศนคติทางลบในกลุ่มมุสลิมตะวันออกกลางอย่างล้ำลึก
Chapter 4 Discovering America การเพิ่มขึ้นของกระแสต่อต้านอเมริกาในลักษณ์จากน้อยสู่มากในตะวันออกกลางและชุมชนมุสลิมทั่วโลก นับแต่ปี ค.ศ.1966 เป็นต้นมา
Chapter 5 Satan and Soviets การรุกคืบของอเมริกาในตะวันออกกลางนับแต่ ค.ศ.1979 ชักจูงให้ชาติมุสลิมดึงเอาพันธมิตรโซเวียตเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อถ่วงดุลอำนาจ จนกระทั่งเมื่อโซเวียตล่มสลาย ดุลนี้ก็ขาดหายไป และเปิดช่องโหว่ให้กับพวกหัวรุนแรงในเวลาต่อมา
Chapter 6 Double Standards มาตรฐานสองระดับที่แตกต่างกันอย่างมาก ระหว่าง "ระเบียบ+สิทธิของคนท้องถิ่น" กับเสรีนิยม ทำให้ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลามเกิดขึ้นกลายเป็นความแตกแยกโดยพื้นฐาน
Chapter 7 A Failure of Modernity ความล้มเหลวที่จะพัฒนาสังคมมุสลิมให้ก้าวทันพัฒนาการทางโลกแบบตะวันตกที่เป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดทางเลือกใหม่โดยมองผ่านความล้มเหลวของ "ความทันสมัย" ที่ทำให้ความคับข้องใจกลายเป็นความหวาดระแวงในวัฒนธรรมตะวันตก
Chapter 8 The Marriage of Saudi Power and Wahabi Teaching การปฏิเสธตะวันตก มีส่วนทำให้หลักคำสอนของพวกวาฮาบี เฟื่องฟูขึ้นมาครั้งใหม่ในยุคปัจจุบันได้รวดเร็วท่ามกลางความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกันจากผลประโยชน์ของธุรกิจน้ำมันใต้ผืนดินตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้คนร่ำร้องหาฐานะความเป็น "คนของพระเจ้า" มากขึ้น
Chapter 9 The Rise of Terrorism มุสลิมส่วนใหญ่ ไม่ใช่พวก "กลับสู่รากเหง้า" (Fundamentalists) แต่คนส่วนใหญ่ของพวกนี้ ก็ไม่ใช่คนหัวรุนแรง นักก่อการร้ายมุสลิม ซึ่งพยายามฟื้นจารีตนักล่าสังหารในอดีตกลับมา จึงเป็นคนส่วนน้อยมาก และไม่อาจจะเป็นตัวแทนของมุสลิมได้อย่างแท้จริง แต่การขาดขันติธรรมทางศาสนาของตะวันตก และการไม่จำแนกมุสลิมทั่วไปออกจากนักก่อการร้าย ทำให้พวกหัวรุนแรงมีสาวกมากขึ้น โดยอ้างถึงการต่อต้านพวกนักรบครูเสดร่วมสมัย (หมายถึงอเมริกัน) แต่นั่นก็หมายความว่า พวกหัวรุนแรงจะมีศัตรูมากขึ้นด้วยเช่นกัน
|
 |
|
|