Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Intelligence in War
ผู้เขียน: John Keegan
ผู้จัดพิมพ์: Vintage
จำนวนหน้า: 385
ราคา: ฿616
buy this book

จอห์น คีแกน เป็นบรรณาธิการข่าวสายทหารของหนังสือพิมพ์ใหญ่ในอังกฤษ และเขียนหนังสือยุทธสงครามโด่งดังหลายเล่ม ที่ดังสุดได้แก่ The First World War เพียงแต่หนังสือระยะหลังๆ หลายเล่มของเขามีคนวิจารณ์มากขึ้นว่า มือกำลังตก แต่ถึงจะมือตกจริง ก็ยังหาคนเขียนหนังสือที่ชำนาญเรื่องนี้เทียบได้ยากอยู่ดี เพราะความเก๋าของเขานั่นเอง

นักวิจารณ์หนังสือบางคน มองว่าคีแกนคือนักคิดในห้องแอร์ที่ไม่เคยสัมผัสโลกของความเป็นจริง แต่ก็ยากจะปฏิเสธได้ว่า ข้อเสนอของเขานั้นน่าสนใจไม่น้อยเลย อย่างน้อยก็ยังหาใครแทนไม่ได้

หนังสือเล่มนี้ถือว่าทันยุคสมัยทีเดียว เนื่องจากคีแกนพยายามประเมินบทบาทของงานจารกรรม หรือข่าวกรองทางทหารว่า มีคุณค่ามากน้อยแค่ไหนในยุทธสงคราม โดยพยายามวิเคราะห์ภาพที่ชัดเจนว่างานข่าวกรองนั้นแตกต่างจากการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือสื่อต่างๆ และต่างจากเรื่องตื่นเต้นแบบนวนิยายสายลับขายดีทั้งหลายที่ฮอลลีวูดชื่นชอบ

ภารกิจของงานข่าวกรองที่สำคัญคือ ช่วยบ่งชี้ความอ่อนแอและเข้มแข็งของศัตรูเป้าหมาย เตือนภัยเกี่ยวกับเจตนาที่แท้จริงของศัตรู และเปิดเผยกลยุทธ์ของศัตรู เพื่อกำหนดยุทธวิธีรับมือที่เหมาะสม

โดยเฉพาะวิวัฒนาการของงานข่าวกรองที่คลี่คลายไปจากยุคเก่าสมัยจีนและโรมันมาสู่ยุคของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดาวเทียม และล่าสุด กำลังจะกลับไปสู่พื้นฐานเก่าอีกครั้งในยุคของสงครามต่อต้านก่อการร้าย นั่นคือ จากคนสู่คน

สไตล์ของคีแกนนั้น เหมือนกับสไตล์ของคนทำหนังสือพิมพ์ทั้งหลายที่มาเป็นนักเขียน นั่นคือ รวมกรณีศึกษาเก่าๆ ในอดีตมาอุปมานเข้ากับกรอบวิธีคิด เพื่อที่จะประเมินให้เห็นวิวัฒนาการของงานข่าวกรอง ซึ่งเลือกเอามาจากตำนานของยุทธสงครามในอดีต นับแต่ยุคของนโปเลียน มาจนถึงยุคล่าสุดคือสงครามเย็น

บทที่เด่นและถือเป็นสรุปแนวคิดที่แท้จริงของผู้เขียน กลับไปอยู่ที่ข้อสรุปในตอนท้ายเรื่อง 2 ท่อน คือท่อนว่าด้วยการคลี่คลายของงานข่าวกรอง โดยเฉพาะที่เขาสรุปว่า ยุคของงานข่าวกรองต่อต้านนักก่อการร้ายนั้น จะใช้วิธีการเดิมไม่ได้ เนื่องจากพวกมุสลิมหัวรุนแรงนั้นมีรูปแบบองค์กรแตกต่างจากอำนาจรัฐแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง อาศัยความเชื่อมากกว่าชาติพันธุ์ และเทคโนโลยีใดๆ การใช้รูปแบบ "สายลับ" และ "ข่าวกรอง" ปกติที่เคยกระทำมาอย่าง M16 หรือ CIA ยากจะได้ผล

ส่วนบทส่งท้ายนั้นก็ย้ำชัดว่า งานข่าวกรองอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้การวางแผนสงครามทำได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่ตัวแปรชี้ขาดชัยชนะและความพ่ายแพ้ของสงครามอย่างแน่นอน กุญแจอยู่ที่การอ่านความคิด และการใช้กำลังที่เหมาะสมกับเวลา และยุทธภูมิมากกว่า บทบาทที่แท้จริงของงานข่าวกรองน่าจะอยู่ที่การลดความสูญเสียในทรัพยากรมากกว่า

เท่ากับว่าคีแกนได้เสนอกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับทบทวนและพิจารณาบทบาทของงานข่าวกรองจากจารีตของความคิดเดิมๆ ซึ่งท้าทายนักยุทธศาสตร์สงครามไม่น้อย

ปัญหาที่ท้าทายให้ครุ่นคิดก็คือ การก่อการร้ายนั้น เป็นการคุกคามของศัตรูที่น่าพรั่นพรึงมากน้อยแค่ไหน? และสามารถที่จะใช้ "ปฏิบัติการพิเศษ" ด้วยกองกำลังพิเศษเฉพาะกิจเพื่อทำสงครามกองโจรในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มก่อการร้าย? หรือเพียงแค่จำกัดความสูญเสีย ให้การก่อการร้ายมีประสิทธิผลต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้?

คีแกนยังไม่ได้ตอบประเด็นเหล่านี้ เพราะเขายังไม่ได้ตีประเด็นออกมาชัดเจนเช่นกันว่า ปฏิบัติการไร้พรมแดนของนักก่อการร้ายอย่าง อัล-กออิดะห์ นั้น เป็นสงครามรูปแบบใดกันแน่?

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับอ่านเพื่อเตรียมความคิดและหาทางรับมือกับสถานการณ์ "ไฟใต้" ใน 3 จังหวัดชายแดนของเราเสียจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกรณี "ตากใบ 85 ศพ" ผ่านไปแล้ว

รายละเอียดในหนังสือ

Introduction เกริ่นนำถึงบทบาทของจารกรรมในสงคราม โดยวิเคราะห์เป้าหมาย 5 ขั้นตอนของจารกรรม 1) เข้าถึง "ความลับ" ของเป้าหมาย 2) การส่ง "ความลับ" ให้ถูกเวลาและถูกคน 3) การสร้างความน่าเชื่อถือของความลับ 4) การตีความกับข่าวลับ 5) การนำไปใช้ประโยชน์เพราะไม่มี "ความลับบริสุทธิ์"

Chapter 1 Knowledge of the Enemy การจารกรรมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยของสงคราม เป็นยุทธศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะข้อมูลที่มีลักษณะ "ทันการณ์" นับแต่ยุคของจีนและโรมันโบราณ ซึ่งแบ่งงานด้านจารกรรมออกเป็นสามระดับ คือ procursatores (คนที่ให้คำปรึกษาเฉพาะหน้าแก่กองทัพ) exploratores (คนสืบข้อมูลทางไกลอย่างกว้างๆ ในเรื่องยุทธภูมิและความพร้อมของศัตรู) และ speculators (คนที่เข้าถึงข้อมูลวงในของศัตรู) แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตัดสินชี้ขาดชัยชนะขั้นสุดท้ายในสงคราม

Chapter 2 Chasing Napoleon ตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ข้อมูลจารกรรมที่แม้จะดีแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้นายพลเนลสันไล่ล่าทัพเรือของนโปเลียนที่พลิกแพลงรวดเร็วได้ ต้องอาศัยความสามารถในการนำและความเด็ดขาดในการตัดสินใจช่วยให้เนลสันทำลายทัพเรือนโปเลียนได้ในที่สุด

Chapter 3 Local Knowledge : Stonewall Jackson in the Shenadoah Valley การยุทธ์ที่พิสูจน์ว่าผู้รอบรู้ชัยภูมิ และรู้จักใช้ประโยชน์จากชัยภูมิ จะได้รับประโยชน์เพียงใด กรณีศึกษาของนายพลฝ่ายใต้ โธมัส แจ็กสัน เจ้าของฉายา "กำแพงหิน" ที่ยุทธภูมิหุบเขา เชนาโดห์ ในเวอร์จิเนีย ที่โด่งดัง

Chapter 4 Wireless Intelligence ความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทในการจารกรรมมากยิ่งขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น

Chapter 5 Crete : Foreknowledge No Help บทบาทสำคัญของสงครามจารกรรมผ่านเครื่องส่ง และถอดรหัสที่มีชื่อว่า Enigma ซึ่งกลายเป็นตำนานโด่งดังและทำให้ยุทธภูมิที่เกาะครีตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเรื่องต้องศึกษาในสงครามจารกรรมยุคใหม่

Chapter 6 Midway : The Complete Intelligence Victory? สมรภูมิมิดเวย์ คือจุดผกผันสำคัญของการรบทางเรือในมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น ซึ่งต้องการตัดกำลังอเมริกา-อังกฤษ ออกจากจีน และออสเตรเลีย การไล่ล่ารหัสลับที่เปลี่ยนไปมาอย่างชิงไหวพริบ อาจจะเป็นประโยชน์ในระยะแรก แต่ท้ายที่สุดก็เป็นชัยชนะของความเหนือกว่าทางด้านประสิทธิภาพและทรัพยากรของกองกำลังรบที่ทำให้ญี่ปุ่นหยุดการรุกทางทะเลไปได้เกือบสิ้นเชิง ชี้ขาดว่าจารกรรมไม่ใช่ตัวกำหนดการยุทธ์

Chapter 7 Intelligence, One Factor Among Many : The Battle of the Atlantic สงครามในระดับประจัญบานของสัมพันธมิตรกับพวกอักษะในมหาสมุทรแอตแลนติก และตำนานการต่อสู้ของหน่วยจารกรรมสองค่าย M16 และเกสตาโป ที่มีบทบาทน้อยต่อการยุทธ์ เพราะข้อมูลจากจารกรรมเพียงแต่ช่วยลดความสูญเสียเท่านั้น ไม่ได้ตัดสินชี้ขาดชัยชนะ

Chapter 8 Human Intelligence and Secret Weapons บทบาทของสายลับ และอาวุธลับเพื่อทำลายล้างฉับพลัน ซึ่งแตกต่างจากเรื่องโรแมนติกในนวนิยายของนักเขียนเรื่อง จารกรรมทั้งหลายแหล่ รวมทั้งการทรยศหักหลังของสายลับสองหน้า

Epilogue Military Intelligence Since 1945 วิวัฒนาการของจารกรรมที่ปรับจากยุคสงครามเย็นมาสู่ยุคของการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งผู้เขียนตั้งสมมติฐานว่า กระบวนวิธีที่เคยใช้มาต้องปรับเปลี่ยน เนื่องจากพวกก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงนั้น มีการจัดองค์กรที่ยากที่จะเข้าถึงมากกว่าจารกรรมตามรูปแบบเดิมจะตามทันได้ อาจจะต้องกลับไปใช้วิธีการของพวกยิว (มอสสาด) และตัวละครในนวนิยายของรัดยาร์ด คิปลิง เรื่อง Kim แทน

Conclusion The Value of military Intelligence สงคราม ไม่ใช่งานของปัญญาชน แต่เป็นการใช้กำลังประหัตประหารกัน การทำความเข้าใจบทบาทที่แท้จริงของจารกรรมในสงครามนั้น ต้องชัดเจน และไม่ประเมินสูงเกินไป บทบาทของจารกรรมซึ่งกระทำได้ทั้งค้นหาความลับ และต่อต้านการถูกล้วงความลับ ซึ่งเป็นงานที่มากกว่าเรื่องราวในนวนิยายสายลับที่ขายดี



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us