Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The King, the Crook, and the Gambler
ผู้เขียน: Malcolm Balen
ผู้จัดพิมพ์: Fourth Estate/ HarperCollins
จำนวนหน้า: 246
ราคา: ฿552
buy this book

ช่วงคริสต์ศตวรรษ 1700 เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์โลกครั้งสำคัญ ซึ่งใครก็มักจะคิดถึงการประกาศเอกราชของอเมริกา (1776) และการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) ทั้งที่ความจริงแล้ว ช่วงเวลานี้คือยุคความเป็นเจ้าโลกของอังกฤษ และเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งให้กำเนิดนักคิดอย่างอาดัม สมิธ

ในยุคนี้เองมีบุคคล 2 คนที่กลายเป็นต้นแบบในตำนานแห่งความชั่วร้ายของโลกการเงินเกิดขึ้นมาโดยทั้งสองคนมีชื่อคล้ายกัน และมีพฤติกรรมคล้ายกันด้วย

จอห์น ลอว์ ชาวสกอต และจอห์น บลั้นท์ ชาวอังกฤษ คือต้นแบบของนักปั่นหุ้นรุ่นแรกของโลก และวิธีการปั่นหุ้นผสมกับการฉ้อฉลของเขายังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

จอห์น ลอว์ เข้าไปสร้างบริษัทพัฒนาที่ดินจอมปลอมในอาณานิคมฝรั่งเศสในอเมริกา และปั่นราคาหุ้นในฝรั่งเศส

ส่วนจอห์น บลั้นท์ สร้างบริษัทเดินเรือจอมปลอมขึ้นในอังกฤษ ชื่อว่า South Sea Company แล้วก็ปั่นหุ้นขึ้นมา ก่อนที่จะล่มสลายและทำให้ตลาดหุ้นลอนดอนที่เกิดฟองสบู่พังพินาศ เป็นหายนะครั้งแรกของตลาดหุ้นในโลกในปี 1720 ซึ่งเป็นที่มาของความวุ่นวายทางการเมืองที่ทำให้จักรวรรดิอังกฤษสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง

กำเนิดและหายนะของบริษัทนี้ กลายเป็นศัพท์ทางการเงินที่ใช้อ้างอิงในพจนานุกรม ธุรกิจต่อมาถึงปัจจุบันว่า South Sea Bubble พร้อมกับบทสรุปตอนท้ายของการฉ้อฉลทุกชนิดว่า "..ฟองสบู่ธุรกิจ ทำให้บางคนร่ำรวยชั่วข้ามคืน บางคนกลับโง่ดักดาน แต่ชนชั้นปกครองที่ฉ้อฉลจะอยู่รอดเพื่อเล่าเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาเป็นตัวเอกในฐานะผู้กอบกู้สถานการณ์..."

หนังสือประวัติศาสตร์แห่งการฉ้อฉลทางธุรกิจในตลาดหุ้นเล่มนี้ แม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นมานานเกือบ 300 ปีแล้ว แต่เมื่ออ่านกลวิธีและรายละเอียดของการสร้างบริษัทจอมปลอมขึ้นมาเพื่อปั่นหุ้นโดยจุดกระแสความโลภของชนชั้นกลางที่เห็นตลาดหุ้นเป็นแหล่งสร้างโอกาสทางลัดสู่ความร่ำรวยแล้ว เหมือนกำลังนั่งอยู่ในเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นใกล้ตัวนี้เอง

ห้วงเวลานั้นลอนดอนเพิ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกแทนที่อัมสเตอร์ดัม หลังจากยุคที่พวกดัตช์ครองโลกได้จบสิ้นลงไป เพราะความเสื่อมถอยของการค้าเครื่องเทศโลก และการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้ฝ้ายและเครื่องจักรไอน้ำกลายเป็นสินค้าสำคัญของโลกขึ้นมา

ความบ้าคลั่ง และทะเยอทะยานเกินจริงของโลกทุนนิยมในลอนดอนในอดีต ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันแต่อย่างใด

รายละเอียดอาจจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สาระของการฉ้อฉลยังคงเดิม...มนุษย์ก็ยังไม่ทิ้งสันดานหยาบกระด้างเหมือนเดิม

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนที่สนใจประวัติธุรกิจในโลกทุนนิยมของตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีรายละเอียดมากมายที่ให้ภาพของธุรกิจ กติกา และสีสันของตลาดทุนและตลาดเงินในลอนดอนก่อนที่พวกรอธไชลด์จะอพยพมาจากเยอรมนีเพื่อครอบครองตลาดดังกล่าวในยุคต่อมา

สีสันและการสืบค้นที่ละเอียดของผู้เขียนซึ่งเป็นอดีตผู้สื่อข่าวของโทรทัศน์ บีบีซีในหนังสือนี้ เร้าใจด้วยลีลาการเขียนแบบ new journalism ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่น่าเบื่อเลยสักนิด ต่างจากตำราประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ

อ่านหนังสือเล่มนี้ สนุกและได้ความรู้เหมือนชมภาพยนตร์เรื่อง Wall Street ของโอลิเวอร์ สโตน ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว

ขอแนะนำด้วยความตื่นเต้นทีเดียว...ไม่ว่าคุณจะชอบหนังสือประวัติศาสตร์หรือไม่

รายละเอียดในหนังสือ

1. The Dome ฉายภาพความคึกคักของลอนดอนในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก โดยมีแกนอยู่ที่ย่านการเงิน ซิตี้ ออฟ ลอนดอน ในปี ค.ศ.1720 พร้อมกับเปิดตัว 3 คนหลักของเรื่องที่ก่อตั้งบริษัท South Sea ได้แก่ จอห์น บลั้นท์ จอห์น ลอว์ และโรเบิร์ต วอลโพล

2. A National Lottery, and a Rake's Progress ปูมหลังอันน่าตื่นเต้นของจอห์น ลอว์ นักการพนันที่หลบหนีคดีจากอังกฤษไปอยู่ในอัมสเตอร์ดัม เพื่อพบทฤษฎีการเงินใหม่ในช่องโหว่ของลัทธิปกป้องการค้าของชาติยุโรปในยุคนั้น นั่นคือ การสร้างเงินกระดาษและตราสารหนี้ในรูปลอตเตอรี่ขึ้นมา และจุดประกายไอเดียให้กับกระทรวงการคลังอังกฤษที่กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

3. Blunt Advice เปิดตัวปูมหลังนักหมุนเงินที่พบขุมทรัพย์แห่งโอกาสจากธุรกิจขนส่งทางทะเลข้ามทวีป โดยผ่านหุ้นกู้ที่เขาช่ำชอง จนได้กลายเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของขุนคลังอังกฤษที่จนแต้มกับการหาเงินมาสร้างเรือให้กับกองทัพเรือ แต่เมื่อขุนคลังตกกระป๋องจากอำนาจ นักการเมืองคู่ปรับก็ก้าวเข้ามาพร้อมกับข้อเสนอใหม่

4. Walpole and the Maypole วอลโพล และบลั้นท์ สามารถชักจูงกษัตริย์จอร์จ ที่ 1 ของอังกฤษให้เข้าร่วมทุนก่อตั้งบริษัท South Sea ขึ้นมา ท่ามกลางควันสงครามอังกฤษ-ฝรั่งเศส คุกรุ่น

5. Who Wants to Be a Millionaire? จอห์น ลอว์ ชักจูงให้รัฐบาลฝรั่งเศสในยุคประเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่การคลังร่วงโรย ให้ก่อตั้ง Banque Generale เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับทฤษฎีเงินกระดาษของเขา โดยการปล่อยเงินกู้ให้บริษัทที่มีอนาคตในอังกฤษและโลกใหม่ ในนาม Mississippi Company

6. The New Economy การใช้อภิสิทธิ์ทางกฎหมาย และสินบนเสริมเพื่อให้บริษัท South Sea ออกหุ้นกู้และหุ้นสามัญขายได้โดยไม่จำกัดเพื่อระดมทุนสำหรับสร้างกองเรือพาณิชย์ข้ามทวีป จอห์น ลอว์ เข้ามาถือหุ้นด้วย

7. Greed is Good จุดเริ่มต้นของข่าวลือและการทะยานขึ้นของราคาหุ้นโดยผ่าน "ร้านกาแฟ" ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของนายหน้าค้าหุ้นในลอนดอนระลอกแรก

8. Paper Fortunes ราคาหุ้นทะยานรอบสองกลายเป็นฟองสบู่ด้วยข่าวลือสารพัด จนราคาหุ้นสู่สุดยอดเหนือกว่าราคาพาร์หลายร้อยเท่า ทุกคนที่ก่อตั้งรวยทั่วหน้า กษัตริย์จอร์จที่ 1 แต่งตั้งบลั้นท์เป็นอัศวิน ราคาหุ้นกู้ก็พุ่งตาม วอลโพลเริ่มขายหุ้นเอาเงินไปซื้อที่ดินเก็งกำไรต่อ

9. Bonfire of the Vanities เปลวเพลิงแห่งความมั่งคั่งที่ลามจาก South Sea ไปยังหุ้นกู้ของบริษัท Mississippi และ Banque Generale ในปารีส กลายเป็นฟองสบู่อีกรายหนึ่ง และยิ่งมากขึ้น เมื่อมีการประกาศซื้อหุ้นคืนในราคาสูงกว่าตลาด ในขณะที่เศรษฐกิจรวมของรัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มส่อเค้าอันตราย

10. Time and Tide and a Fall from Grace การขายหุ้นของผู้บริหารและผู้ที่ร่วมก่อตั้งมากขึ้น กลายเป็นข่าวซุบซิบและรั่วไปทั่วลอนดอนและปารีส ตามมาด้วยการแฉโพยว่า บริษัทมีแต่กระดาษเปล่า ไม่เคยมีเรือสักลำ ทำให้ราคาหุ้นตกลงอย่างรวดเร็ว ไม่กี่วันจากระดับใกล้ 900 ปอนด์ ลงมาเหลือ 180 ปอนด์ และตลาดหุ้นพังทลาย

11. Not a Penny Sterring ความวุ่นวายหลังการล่มสลายของบริษัท

12. A Lasting Foundation วอลโพลเปลี่ยนข้างไปเปิดโปงความเน่าเฟะภายในบริษัทเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองส่วนตัว และล้มล้างรัฐบาล ในขณะที่อาณาจักรจอห์น ลอว์ ในฝรั่งเศสก็พังไปด้วย

13. In the Darkness of the Night ทุกคนที่ร่วมสมคบคิดในเครือข่าย หาทางหนีเอาตัวรอดด้วยการสาดโคลนผู้อื่นมั่วไปหมด ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น

14. Hall of Mirrors เรื่องที่บานปลายเกือบเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศเมื่อผู้ร่วมก่อตั้งหลายคนหนีไปลี้ภัยในชาติยุโรปหาที่พึ่งพิง

15. Friends in High Places การลงโทษและกวาดล้างคอรัปชั่นหลังเหตุการณ์ โดยฝีมือวอลโพลผู้ฉวยโอกาส

16. Doubtful and Desperate Debts จุดจบของบลั้นท์ และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ ที่แตกต่างกัน

17. The Architecture of Eternity บทส่งท้ายความโลภที่ไม่เคยตายตราบใดที่ตลาดหุ้นยังดำเนินต่อไป



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us