|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
On Money and Markets
ผู้เขียน: Henry Kaufman
ผู้จัดพิมพ์: McGraw-Hill
จำนวนหน้า: 388
ราคา: ฿763
buy this book
|
|
|
|
มีนักจิตวิทยามวลชนเคยกล่าวว่า บุคลิกภาพทั่วไปของคนยิว คือ การมองโลกในแง่ร้าย หรือทุนิยม ดังนั้น เมื่อสุดยอดคนยิวยุคใหม่แห่งวอลล์สตรีทอย่าง เฮนรี่ คอฟมาน จะมีชื่อเสียงว่า ดร.ดูม (Dr.Doom) ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างใด
ที่น่าประหลาดก็คือ เขาช่างเหมือนกับคนอย่างไชล็อก ตัวละครร้ายแห่งเวนิสวานิสอย่างมาก แถมยังมีชื่อเสียงในตลาดหุ้นละม้ายพ่อมดแห่งตลาดหุ้นลอนดอน ตระกูลร็อธไชลด์ในอดีตเสียด้วย
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือกึ่งชีวประวัติ และกึ่งประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ว่าด้วยบทบาทของปัญญาชนยิว ที่ทำงานในบริษัทค้าหุ้นยิว และเป็นคนที่สามารถสร้างนวัตกรรมออกมาที่สามารถสร้างผลสะเทือนได้อย่างกว้างขวาง
นวัตกรรมของเฮนรี่ คอฟมาน ยิวลี้ภัยจากเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แก่ ศาสตร์ของการ "อ่านริมฝีปากเฟด" หรือ Fed's Lips (วิชาว่าด้วยการตีความนัย หรือ ถ้อยคำบอกใบ้ ที่ผู้ว่าการธนาคารชาติ หรือตัวแทนธนาคารชาติของอเมริกาเอ่ยออกมาอ้อมๆ) เพื่อส่งสัญญาณให้นักลงทุนในวอลล์สตรีทนำไปวางกลยุทธ์บริหารพอร์ตลงทุนให้แม่นยำ
จารีตของเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ นั้นรับมาจากแบงก์ ออฟ อิงแลนด์ ที่ระบุว่านายธนาคารกลาง ต้องพูดกำกวมให้ตีความ อย่าพูดชัดเจนจนตลาดจับทางได้ (ไม่เหมือนนายธนาคารกลางจากประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ที่พูดมากและพูดบ่อยเสียจนไม่มีใครเชื่อถือ)
ความแม่นยำในการอ่านสัญญาณทางลบ ทำให้คอฟมานโด่งดังในฐานะ ดร.ดูม ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสามส่วนซึ่งเหลื่อมกันอยู่อย่างน่าสนใจ ส่วนแรก บทที่ 1-9 เป็นประวัติพื้นฐานส่วนตัวซึ่งดูเหมือนเจ้าตัวไม่อยากเอ่ยถึงมันมากนัก (เพราะพวกยิวในอเมริกานั้น ก็ไม่ใช่เป็นกลุ่มคนที่น่ารักในสังคมมากนัก) แต่เพื่อเกริ่นนำเรื่องให้เห็นถึงภาพของคนอพยพที่ได้รับโอกาสใหม่เพื่อลงรากในสังคมที่ไม่คุ้นเคย
ส่วนที่สอง บทที่ 3-15 เป็นประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆ ของตลาดหุ้นนิวยอร์กและการสร้างชื่อของเขาให้โด่งดังขึ้นมาพร้อมกับศาสตร์ใหม่ ในฐานะนักวางกลยุทธ์ของบริษัทซาโลมอน บราเธอร์ส ซึ่งนักวิเคราะห์หุ้นในอเมริกาปัจจุบันต้องเรียนก่อนเข้าสู่วงจรใหญ่
ส่วนสุดท้าย ตั้งแต่บทที่ 11-18 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสุด ว่าด้วยการฉกฉวยโอกาสของ "ขาใหญ่" ที่เป็นพ่อมดในตลาด จากช่องโหว่ของการมีผู้รักษากฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายที่ถือกฎหมายต่างฉบับกันให้เป็นประโยชน์ในการสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาบนความโง่ของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไร
คอฟแมนพยายามย้ำเสมอว่า เขาไม่ใช่คนมองโลกในแง่ร้าย แต่เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เคร่งครัดต่อหลัก "มือที่มองไม่เห็น" ของอาดัม สมิธมากกว่า เพราะเขาเชื่อว่า ความวุ่นวายและปั่นป่วนในโลกการเงินนั้น จะไม่เกิดขึ้นมากมายอย่างที่เห็นกันในประวัติศาสตร์หากว่าทุกคนรับฟัง "เสียงแห่งเหตุผล" ที่ระบุให้เห็นถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นได้ดีกว่า แต่น่าเสียดายที่อคติแห่งผลประโยชน์และความหวังดี กลับกลายเป็นตัวสร้างปัญหามาโดยตลอด
บทเรียนที่คอฟแมนสอนโดยไม่ต้องเทศนาก็คือ อคติแห่งความหวังดี ซึ่งปฏิเสธ "เสียงของเหตุผล" ของหน่วยงานรัฐที่พยายามจะสร้างกติกาและกฎหมายต่างๆ ออกมาคุ้มครองนักลงทุน หรือประชาชน โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ถือกฎหมายคนละฉบับ แทนที่จะเป็นผลดี กลับจะให้ผลร้ายมากกว่า ทำให้นักฉวยโอกาสสามารถขูดรีดนักลงทุนหรือประชาชนที่มีข้อมูลไม่สมบูรณ์หรือรู้ไม่เท่าทันได้ถนัดมือมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยความไร้เอกภาพระหว่างหน่วยงาน หาช่องหนีเงื้อมมือกฎหมายไปได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น กฎหมายควบคุมนักบัญชี กฎหมายควบคุม ผู้บริหารโบรกเกอร์ กฎหมายควบคุมกองทุนรวม กฎหมายควบคุมธนาคาร กฎหมายฟอกเงิน กฎหมายภาษี
กฎหมายเหล่านี้ นักกฎหมายของบริษัทหรือบุคคลที่ฉ้อฉล สามารถใช้ความช่ำชองเป็นพิเศษวางแผนที่จะหลบรอดการไล่ล่าไปได้อย่างลอยนวลง่ายกว่าบุคคลธรรมดาที่ไม่มีความรู้ ซึ่งคนประเภทหลังมักจะกระทำผิดโดยความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่า
แม้สิ่งที่คอฟแมนพูดจะเป็นเรื่องของอเมริกา ประเทศที่มือกฎหมายมีบทบาทสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ และมีค่าตัวสูงกว่าอาชีพอื่น แต่ก็น่าจะเป็นข้อเตือนใจ และนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีกับสังคมที่กำลังรับเอากลไกทุนนิยมเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะในตลาดเงินและตลาดทุนที่กำลังโตวันโตคืน จูงใจให้แมงเม่า และตัวเหลือบ เข้ามาหาผลประโยชน์พร้อมกันอย่างหนุนเนื่อง
ในบทที่ 13 และ 14 มีเรื่องน่าสนใจก็คือ การสรุปบทเรียนจากวิกฤติการเงินเพราะสถาบันการเงินฉ้อฉลที่ทำเอาตลาดหุ้นย่อยยับ กับอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีเงินล้นเกินระบบจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่ก็ทำให้ตลาดหุ้นย่อยยับอีก ทำให้น่าคิดเกี่ยวกับโอกาสที่เป็นไปได้ของเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อหลายปีก่อน และเริ่มสู่วงจรขาขึ้นใหม่ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ฟองสบู่จะกลับมาอีกครั้งหรืออย่างไร
ส่วนบทที่ 15 น่าสนใจอย่างมากสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ และนักบริหารซึ่งเชื่อมั่นใน "สัญชาตญาณ" และเจตคติทางบวก ควรต้องอ่านเพื่อเตือนสติตนเองเป็นพิเศษ ไม่ให้หลงระเริงไปกับอัตตาส่วนตัวเกินสมควร
ท้ายสุด สิ่งที่ผู้อ่านต้องเตือนเอาไว้เสมอก็คือ ผู้เขียนนั้นมีสมญาว่า ดร.ดูม ดังนั้นงานเขียนของเขาก็สะท้อนทัศนคตินี้ออกมา ซึ่งอาจจะทำให้คนอ่านมองอนาคตอย่างหวาดระแวงเสียจนไม่กล้าเดินไปข้างหน้า และพลาดโอกาสงามๆ เสียหมด เพราะมีอาการของโรคพารานอยด์มากเกินระดับ แต่ขอยืนยันว่า งานเขียนในท่วงทำนอง "สารภาพบาป" ของพ่อมดที่เกษียณอายุแล้วอย่างนี้แหละ ที่ช่วยเตือนสติคนที่กำลังหลงระเริงกับความมั่งคั่งครั้งใหม่ได้ชะงัดดีนัก ก่อนที่จะกลายเป็นแมงเม่ารายต่อไป
รายละเอียดในหนังสือ
1. From Nazi Germany to the New World ประวัติสั้นๆ ของเด็กยิวเยอรมัน ที่ต้องหนีจากเก็ตโต้ยิวในเยอรมนี กลายเป็นคนอพยพแปลกหน้าในนิวยอร์ก ก่อนจะได้รับอิทธิพลของเฟดดริก ฮาเยก นักเศรษฐศาสตร์สายตรงข้ามเคนส์ และเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในเรื่องการเงินและธนาคาร
2. The Road to Wall Street ชีวิตเมื่อจบมหาวิทยาลัยแต่ไม่มีงานธนาคารให้ทำ แม้จะได้ฝึกงานในเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟบ้างก็ตาม ต้อง "ลดตัว" ไปทำงานในบริษัทค้าหลักทรัพย์เล็กของพวกยิวที่ชื่อซาโลมอน บราเธอร์สแทน และพบว่าตลาดหุ้นบูมอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา
3. The Growth and Transformation of Markets ความเฟื่องฟูอย่างน่ามหัศจรรย์ และวิวัฒนาการของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท
4. The Derivatives Revolution การปฏิวัติธุรกิจตราสารอนุพันธ์ที่ซับซ้อน ซึ่งมีทั้งจุดดีและจุดอ่อน
5. The Corporatizing of Wall Street ธุรกิจหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจห้องแถวอีกแล้ว แต่กลายเป็นบรรษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศแข่งกับธนาคาร
6. Salomon's Growing Pains ความเติบใหญ่ที่ทำให้บริษัทแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆของยักษ์ใหญ่หลักทรัพย์ที่กลายเป็นตำนานแห่งอดีตในเวลาต่อมา
7. The Amricanisation of Global Business and Finance กระแสโลกาภิวัตน์ของธุรกิจการเงินข้ามชาติที่ทำให้บริษัทหลักทรัพย์และกองทุนอเมริกันมีบทบาทเข้าไปมีอิทธิพลระดับโลก
8. The Risk of Financial Forecasting กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้โลกการเงินมีความเสี่ยงรุนแรงจนต้องคิดค้นนวัตกรรมประมาณการความเสี่ยงล่วงหน้าขึ้นมาเพิ่มบทบาทของหน่วยวิจัยความเสี่ยงมากขึ้น
9. Forecasting and the Great Bull Market โลกค้นพบความยิ่งใหญ่ของนวัตกรรมที่คอฟแมนคิดค้นขึ้นมา หลังจากตลาดหุ้นบูมสุดขีดทั่วโลก และทำให้โลกรู้จักดร.ดูม
10. The Fed's Rise to Dominance การเข้ามามีอำนาจของนโยบายการเงินในฐานะ "ศาสตร์แห่งความเซ็ง" ต่อกลไกเศรษฐกิจอเมริกา หลังจากนโยบายการคลังทั่วไป เริ่มใช้การไม่ได้ ทำให้ตลาดหุ้นต้องหันมาให้ความสนใจกับการอ่านริมฝีปากตัวแทนของธนาคารกลางมากขึ้น คอฟแมนโด่งดังมากขึ้นพร้อมกับวลีอมตะ "เงินน่ะสำคัญ แต่เครดิตสำคัญกว่า"
11. Shortcomings of Fed Policy ชี้จุดอ่อนเปราะ 3 ประการของนโยบายการเงินที่ทำให้นักลงทุนพลาดอยู่เสมอในการทำความเข้าใจและเชื่อมโยงโลกของหุ้นเข้ากับนโยบายการเงิน ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญตีความขึ้นมาเฉพาะ
12. The Urgent Need for Regulatory and Supervisory Reform งานที่ยังไม่มีวันแล้วเสร็จของปัญหาเรื่องระเบียบตลาดเงินในประเทศและระหว่างประเทศที่สำคัญๆ
13. Learning from Financial Crises บทเรียนหลายครั้งที่ไม่ยอมสรุปของวิกฤติการเงินเมื่อเครดิตแห้งเหือด เพราะเศรษฐกิจถดถอย สถาบันการเงินมีปัญหา และราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นแย่
14. Learning from the Financial Excesses of the 1980s and 1990s บทเรียนที่เกิดจากด้านตรงกันข้าม เมื่อปริมาณล้นเกินเพราะสภาพคล่องในตลาดมากเกิน และงบประมาณขาดดุลภาครัฐ ก่อให้เกิดฟองสบู่ตลาดหุ้น และพังลงมา
15. The Role of Bias in Economics and Finance ข้อเตือนใจสำหรับการใช้ "เสียงแห่งเหตุผล" และ "ความหวังดี" ตามสัญชาตญาณที่มักจะปะทะกัน โดยฝ่ายแรกพ่ายแพ้ แล้วตามมาด้วยหายนะทางธุรกิจ
16. Neglected Financial Lessons บทเรียนเก่าแก่ที่ 3 กลุ่มผลประโยชน์เกี่ยวข้องในตลาดเงินตลาดทุน ได้แก่ คนกำหนดนโยบาย สถาบันการเงิน และนักลงทุน มักจะหลงๆ ลืมๆ อยู่เสมอ
17. Financial Institutions in the New Century การกระจายอำนาจ และการมาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ทางเลือกของสถาบันการเงินในโลกจากนี้ไปมีแค่ 3 อย่างเท่านั้น
1) เป็นธุรกิจใหญ่
2) ทำธุรกรรมข้ามชาติได้
3) มีบริการทางการเงินแบบหลากหลายให้เลือกตามสะดวก แต่ไม่ได้หมาย ความว่า ตลาดเงินจะหายผันผวน เพราะเป็นคนละเรื่องกันกับความใหญ่
18. Looking to the Future ทิ้งท้ายด้วยการคาดเดาหลายเรื่องเกี่ยวกับตลาดเงินและความเสี่ยงในอนาคต
|
|
|
|