|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Facing the Challenge 21st Century Thailand Economic Policy & Strategy
ผู้เขียน: Pansak Vinyaratn
ผู้จัดพิมพ์: CLSA BOOKS, Hong Kong
จำนวนหน้า: 122
ราคา: ฿995
buy this book
|
|
|
|
หากเข้าใจไม่ผิด หนังสือเล่มนี้มีเจตนาเพื่อให้คนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน นักวางกลยุทธ์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้บริหารธุรกิจ และคนที่อยากรู้เรื่องประเทศไทย มากกว่าจะให้คนไทยด้วยกันอ่านโดยตรง โดยเฉพาะในบทที่ 5 ซึ่งมีการตั้งโจทย์และตอบคำถาม ซึ่งมักจะถูกต่างชาติยกขึ้นมามากที่สุดเกี่ยวกับผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ผู้เขียน อดีตนักหนังสือพิมพ์ ที่กลายเป็นนักคิดร่วมสมัยและอยู่เบื้องหลังนโยบายที่สร้างตำนานหลายอย่างของรัฐบาลไทยยุคหลัง พ.ศ.2531 มาแล้ว 2 ครั้ง ได้รับสมญาจากหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับว่า "คนขายฝัน" ดังนั้น การนำเอกสารปกขาวเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้ออกมา จึงมีความน่าสนใจในตัวเองมากพอที่จะทำให้ต้องหยิบฉวยมาอ่านชนิดพลาดไม่ได้
คำถามส่วนใหญ่สำหรับคนที่หยิบหนังสือนี้ขึ้นอ่านหลักดูเหมือนจะมีอยู่ 2 ข้อคือ 1) ผู้เขียนคิดอะไร 2) ผู้เขียนกำหนดเป้าหมายอย่างไรในอนาคต
คำตอบสำหรับคำถามนี้ ดูเหมือนค่อนข้างเปิดกว้างเอาไว้ เพื่อให้คิดต่อกัน
การเปิดให้คิดนี้แหละ คือเสน่ห์ของผู้เขียนในฐานะนักคิดเชิงกลยุทธ์ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจคนสุดท้ายทางด้านนโยบายรัฐซึ่งต้องการเหตุผลทางการเมืองประกอบ และผู้เขียนเองก็แสดงเจตนาเช่นนั้นด้วย
หนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีสาระหลักว่าด้วยการพลิกฟื้นความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยจากซากปรักหักพังของยุคฟองสบู่แตก เพื่อมุ่งหน้าสู่การแสวงหาโอกาสใหม่ทางการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในอนาคต แบ่งเนื้อหาหลักออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก เรียกว่า พันศักดิ์ วิญญรัตน์แท้
อีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า พันศักดิ์ วิญญรัตน์เทียม
ส่วนแรกนั้นอยู่ที่บทเกริ่น (Preface) ซึ่งคนที่รู้จักความรอบรู้และภูมิปัญญาของผู้เขียนดี ย่อมคุ้นเคยกับลีลาแบบนักหนังสือพิมพ์เก่า และกรอบวิธีคิดแบบเสรีนิยมอันเฉียบคมของนักคิดคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยไม่ต้องมีตัวเลข ตาราง หรือกราฟเพื่อแสดงสถิติที่รกรุงรังสายตา
สนุกเหมือนกับย้อนกลับไปอ่านข้อเขียนในยุค "จัตุรัส" เมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อนเลยทีเดียว
ใครที่ใคร่รู้ว่า ที่ปรึกษาคนสำคัญของนายกรัฐมนตรีคนนี้ คิดอะไรอย่างแท้จริง ทั้งบนบรรทัดและระหว่างบรรทัด ต้องไม่พลาดอ่านตรงนี้ ซ้ำหลายครั้ง
ส่วนที่สอง อยู่ที่เนื้อเรื่องทั้งเล่มของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าการเอาข้อมูลของ "ช่างเทคนิคทางวิชาการ" จากเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหลายแห่งของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานเขียนชิ้นนี้ ใส่ลงไปเพื่อยืนยันความชอบธรรมของกรอบคิดผู้เขียนที่กำหนดเอาไว้กว้างๆ ซึ่งหากตัดรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมดไป ก็เหลือเพียงเนื้อหาส่วนที่ปรากฏอยู่ในบทนำอันเป็นส่วนแรกของหนังสือเล่มนี้ ที่ลดทอนความเฉียบคมลงไปมาก
ประเด็นนี้ เป็นปัญหาความลักลั่นของการพยายามประยุกต์ใช้กรอบวิธีคิดให้กลายเป็นรูปธรรมที่มีข้อจำกัดในการแสดงออก เพื่อให้ดู "สมเหตุสมผล" และ "ติดดิน" เพื่ออรรถาธิบายที่มาที่ไปและที่กำลังจะมุ่งไปของนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในด้านต่างๆ ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผู้เขียนเองก็ระบุแบบยอมรับเอาไว้ชัดเจนในบทนำเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
ดังนั้น หนังสือที่มีสองส่วนเล่มนี้ เหมาะสำหรับที่จะอ่านได้ทั้งเพื่อแกะรอยและ "รู้ทันพันศักดิ์" (เพื่อไป "รู้ทันทักษิณ" อีกทอดหนึ่ง) กับอ่านเพื่อดูดซับ/จับผิด/เห็นพ้องกับข้อมูลสนับสนุน "ทางวิชาการ" ที่อธิบายเบื้องหลังพลวัตของเศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยภายใต้นโยบาย "ประชานิยม" ในช่วงเกือบ 4 ปีมานี้
คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ แล้วเชื่อว่าตนเอง "รู้ทันพันศักดิ์" หรือไม่ก็บอกตัวเองว่า "อ่านไม่รู้เรื่อง" ถือว่าเป็นพวกสุดขั้วที่ต้องทบทวนตัวเองเสียใหม่ เพราะสิ่งที่ผู้เขียนทิ้งท้ายเอาไว้ระหว่างบรรทัด อยู่ที่การเปิดประเด็นส่งต่อประกายความคิดใหม่ๆ เพื่อช่วยกันสร้างความสามารถในการแข่งขันแก่เศรษฐกิจและคนไทยในอนาคต
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับอ่านควบคู่ไปกับหนังสือของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร เกี่ยวกับรัฐบาลทักษิณ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะได้อารมณ์คนละแบบและถ่วงดุลกันดีทีเดียว สำหรับสังคมประชาธิปไตยที่ภูมิปัญญาอยู่เหนือสามัญสำนึก
รายละเอียดในหนังสือ
Preface
Introduction: Crisis and renewal ที่มาของข้อเขียนชิ้นนี้
1. Policy legacy and redesign ปัญหาหมักหมมก่อนที่ทิ้งให้รัฐบาลเข้ามาสะสางและการออกแบบนโยบายใหม่เพื่อรับมือ จนกลายเป็นนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual tracks)
2. Policy strategy and implementation กลยุทธ์เชิงนโยบายและการปรับใช้เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ 5 ประการ
3. Policy outcomes and achievements ผลลัพธ์และความสำเร็จของนโยบายที่กระทำไปในด้านต่างๆ ต่อเศรษฐกิจระดับมหภาค และธุรกิจเอกชน
4. Public debt & household debt การตอบข้อสงสัยและโจทย์เกี่ยวกับการสร้างหนี้สาธารณะและหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งมักจะถูกยกมาถามกันบ่อยครั้ง
5. Puzzles in the recent story โจทย์และคำอธิบายเกี่ยวกับการประเมินความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลปัจจุบันหลายหัวข้อ
6. Next steps บทบาทเชิงรุกล่วงหน้าของรัฐบาลในการกระตุ้น และสร้างโอกาสใหม่เพื่อสร้างฐานธุรกิจใหม่ๆ ที่ได้เปรียบในการแข่งขันเพื่ออนาคต พร้อมกับการผดุงธุรกิจเดิมที่เคยเป็นฐานธุรกิจหลักของประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจโลก
Appendices
|
|
|
|