|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Market Driven Politics
ผู้เขียน: Colin Leys
ผู้จัดพิมพ์: Verso
จำนวนหน้า: 280
ราคา: 806฿
buy this book
|
|
|
|
แนวโน้มที่พรรคการเมือง และนักการเมืองจะนำเอาเคล็ดวิชาการตลาดมาใช้ เป็นกระแสที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บรรดานักรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์หรือคนที่มีมุมมองการเมืองในฐานะอุดมการณ์อึดอัด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก พรรคการเมืองร่วมสมัยยามนี้จึงมีลักษณ์ของบริษัทการตลาด มากกว่าชุมชนของผู้นำทางปัญญาและผู้รับใช้ประชาชน
ข้อเท็จจริงเบื้องหลังกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้คือ ผลพวงของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์นั่นเอง
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยคนอังกฤษ และมีเนื้อหาว่าด้วยการเมืองในอังกฤษโดยตรง แต่สาระของหนังสือกลับมีเนื้อหาสากลที่นำไปประยุกต์ศึกษาต่อได้ดีทีเดียว
โครงสร้างหลักของหนังสือนี้อยู่ที่การอธิบายให้เห็นภาพของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เข้ามาคุกคามให้การเมืองท้องถิ่นในทุกระดับของประเทศหนึ่งต้องปรับตัวอย่างรุนแรง เพราะอิทธิพลของการแพร่กระจายสินค้า บริการ ทุน และสื่อข้ามชาติที่ไร้พรมแดน ซึ่งทำให้กรอบและกระบวนทัศน์ของการเมืองแบบจารีตดั้งเดิมใช้การไม่ได้ หรือพิกลพิการไปบางส่วน
ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องชาตินิยมอันเติบโตมากับการสร้างรัฐประชาชาติซึ่งริเริ่มขึ้นมาในตะวันตกเมื่อ 300 ปีก่อน ไม่สามารถจะเปล่งพลังออกมาเพียงพอที่จะอธิบายกับประชาชนได้อีกต่อไปแล้ว เพราะประชาชนสามารถที่จะ "ข้ามรัฐ" และ "ลอดรัฐ" เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงต่อคนทั่วโลกอย่างไร้ขีดจำกัด
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนกำลังทำหน้าที่ "เลือก" กรอบความคิดใหม่ของอำนาจรัฐที่เหมาะสมกับตนเอง โดยอำนาจรัฐท้องถิ่นนั้นจะถูกถือว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการสนองตอบความต้องการ ที่เป็นรูปธรรมในการแข่งขันระหว่างประเทศที่นับวันจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
กุญแจสำคัญที่รัฐบาลท้องถิ่นทุกระดับจะต้องเป็นเครื่องมือ ในการสร้างความสามารถแข่งขันในระดับข้ามชาติ ทำให้จุดเน้นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง และความยุติธรรมทางสังคมเริ่มรางเลือนลงไป เปิดทางให้กรอบวิธีคิดทางการตลาดสมัยใหม่โดยเฉพาะในเรื่องของการหาตำแหน่งของสินค้า การสร้างตราสินค้า และการส่งเสริมการขาย เข้ามามีบทบาทแทน
การเมืองภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่เรื่องการตลาดเช่นนี้ ผู้เขียนหนังสืออธิบายว่า เป็นการถูกกำหนดด้วย "วาระร่วมสมัย" ที่เลี่ยงไม่พ้น
ผลที่เกิดขึ้นคือพรรคการเมืองก็เหมือนบริษัทการตลาด ที่เสนอตนเอง "ขาย" ต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค โดยมีนโยบายพรรคเป็น "สินค้า" ที่มีการศึกษามาอย่างดีผ่าน "งานวิจัย" และ "แบบสอบถาม" ทางการตลาดมาเรียบร้อย โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ สื่อ เพื่อใช้โปรโมตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม
กระบวนการนี้ผู้เขียนเรียกว่าเป็นกระบวนการทำให้เป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายในลักษณะที่ทำให้นักคิดทางการเมืองในอดีตอย่าง โสกราตีส พลาโต อริสโตเติล ฮอบส์ ล็อค รุสโซ อาดัม สมิธ หรือ มาร์กซ์ กลายเป็นไดโนเสาร์ไปในบัดดลเลยทีเดียว เนื่องจากแนวคิดแบบ ฟิลลิป คอตเลอร์ ไมเคิล พอร์ตเตอร์ เดวิด โอกิลวี่ หรือ บิล เบิร์นแบค หรือ ครีเอทีฟแห่งย่านถนนเมดิสัน ในนิวยอร์กกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาสู่วงการเมือง
ด้วยลักษณ์เช่นนี้ วงการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคการเมืองจะชูกระแสนโยบาย "ประชานิยม" ขึ้นมาเป็นจุดขาย โดยนโยบายเช่นนี้ไม่อาจจะนับเป็นอุดมการณ์ตามนิยามที่ชัดเจน แบบจารีตทางรัฐศาสตร์ได้อีกเหมือนเดิม
สิ่งที่น่าคิดก็คือ อำนาจรัฐแบบ "ประชานิยม" จะเป็นอำนาจรัฐแบบใดกันแน่ เพราะภายใต้โครงสร้างใหม่ที่รัฐบาลมีค่าเป็น "บริษัทวิสาหกิจ" เสียแล้ว รูปแบบของการจัดการรัฐต้องไม่เหมือนในอดีตอีกต่อไปทั้งในเรื่องการจ้างงาน สิทธิประโยชน์ และการวัดประสิทธิภาพ
บทที่ 4 และ 7 ของหนังสือเล่มนี้ จะฉายภาพที่น่าสนใจในอนาคตของการเมืองแบบใหม่ที่เราต้องทำความคุ้นเคย โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่ว่าด้วย "ประโยชน์สาธารณะ" เพราะเป็นเรื่องที่ยังมีข้อถกเถียงกันอย่างมากในกลุ่มชนต่างๆ มากทีเดียว
เหมาะสำหรับพรรคการเมืองและนักการเมืองที่กำลังแสวงหาแนวทางใหม่ เพื่อสร้างจุดขายในการเลือกตั้งทั่วไปต้นปีหน้าอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะพรรคที่อยากอ้างตัวเป็น "ทางเลือกที่สาม" ที่มีความหมายมากกว่าจุดนัดพบใหม่ของสัมภเวสีทางการเมือง
รายละเอียดในหนังสือ
Chapter 1 Introduction
พูดถึงสภาวะและบรรยากาศของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เข้ามากัดกร่อนให้โครงสร้างการเมืองท้องถิ่นแบบเดิมต้องปรับกระบวนทัศน์กันเสียใหม่ โดยให้น้ำหนักกับกลไกการไหลเวียนของตลาดทุน สินค้า และข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เหนือกว่าคำว่าอุดมการณ์แห่งรัฐประชาชาติแบบเดิมที่ใช้กันมานานหลายศตวรรษ
Chapter 2 The Globalization and National Politics
พูดถึงการก่อกำเนิดเศรษฐกิจโลกแบบใหม่หลังสงครามเย็นและข้อตกลงองค์การการค้าโลก ที่ทำให้กระบวนการสั่งสมทุน การแข่งขันระหว่างประเทศ และการถือกำเนิดของบริษัทข้ามชาติแบบใหม่ๆ ซึ่งมีส่วนกำหนดให้รัฐบาลทั้งถิ่น "ถูกเลือก" ให้เป็นเครื่องมือสนองตอบการปรับตัวใหม่ๆ ตามโครงสร้างทางสังคมของผู้คนที่ถูกทุนขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนและวัฒนธรรมใหม่ๆ โดยอาศัยกรณีศึกษาของอังกฤษ ประเทศประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดในโลก
Chapter 3 British Politics in a Global Economy
พูดถึงโครงสร้างทางการเมืองที่เปลี่ยนไปของอังกฤษทั้งในนโยบายพรรคที่ต้องเสนอ "วาระใหม่" ตลอดจนถึงการจัดโครงสร้างกระทรวงในรัฐบาลใหม่ และกำหนดหน้าที่ใหม่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งด้านหนึ่งสนองตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจในการแข่งขัน อีกด้านหนึ่งเพื่อขานรับกระแสของกลุ่มพลังทางสังคม ที่ต้องการมีส่วนร่วมในอำนาจทางเมืองมากขึ้น ภายใต้บรรยากาศของการแข่งขันทางการตลาด และการแพร่กระจายของสื่อมวลชนทุกช่องทาง ที่เรียกว่ากระบวนการ "ทำให้เป็นพาณิชย์" (commercialisation) โดยเฉพาะในช่วงการสร้าง "วัฒนธรรมวิสาหกิจ" ของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ซึ่งทำให้พรรคการเมืองมีรูปแบบคล้ายคลึงกับวิสาหกิจทำกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ
Chapter 4 Markets, Commodities and Commodification
พูดถึงภาวะเมื่อเส้นแบ่งระหว่างตลาดสินค้าหรือทุนเคลื่อนตัวเข้าหาการเมือง จนกระทั่งแยกไม่ออก ซึ่งส่งผลให้การเมืองแบบอุดมการณ์ แปรสภาพเป็นการเมืองที่ "ติดดิน" และจับต้องได้มากขึ้น โดยมีเกณฑ์วัดที่ประยุกต์มาจากสัมฤทธิผลของตลาดหุ้น ตลาดเก็งกำไร และตลาดสื่อ เป็นสำคัญ อาทิ นโยบายการเมืองใดๆ จะถูกตีความเป็น "สินค้าสาธารณะ" ซึ่งรัฐจะทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อน
Chapter 5 Public Service Television
พูดถึงบทบาทที่เด่นชัดของรัฐในฐานะผู้จัดการธุรกิจสื่อที่ต้องแสวงหากำไร แทนจะพึ่งพางบประมาณฝ่ายเดียวเหมือนในอดีต ตามแรงผลักดันของการเปิดเสรีสื่อ พร้อมกับแรงจูงใจเบื้องหลังการขับเคลื่อนดังกล่าวในหลายช่องทาง จนกระทั่งสื่อสาธารณะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสินค้า และการสั่งสมทุนภาครัฐ
Chapter 6 The National Health Service
พูดถึงการเปิดเสรีธุรกิจบริการสุขภาพที่นำกรอบวิธีคิดทางธุรกิจเข้ามาใช้ เพื่อลดภาระของภาครัฐในบริการสุขภาพ และกลายเป็นธุรกิจแสวงหากำไรแบบสินค้าสามัญ จนมีคำถามตามมาในเรื่องจริยธรรม
Chapter 7 Market-Driven Politics versus The Public Interest
พูดถึงการปรับกระบวนทัศน์เพื่อทำให้ประเด็นทางการเมือง หรือเรื่องทางสาธารณะกลายเป็น "ผลิตภัณฑ์" เช่นเดียวกันกับสินค้าที่วางขายทั่วไป ด้วยการสร้างกรอบคิดแบบ "มาร์เก็ตติ้ง" เรียกว่า marketising ขึ้นมาเป็นอาวุธใหม่ในการแสวงหาคะแนนนิยม
|
|
|
|