Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Eden in the East
ผู้เขียน: Stephen Oppenheimer
ผู้จัดพิมพ์: Phoenix
จำนวนหน้า: 560
ราคา: 600฿
buy this book

เสียงโหยหาความเป็นไททางปัญญาของคนไทยในหลายปีมานี้ อยู่ที่การพยายามป่าวประกาศว่า ตนเองปฏิเสธภูมิปัญญาตะวันตก และกลับมาหาคุณค่าของภูมิปัญญาตะวันออก บางคนไปไกลกว่านั้น ถึงขั้นประกาศแนวคิดใหม่ Post-Westernization ซึ่งอ่านไปอ่านมาก็ไม่เห็นอะไร นอกจากความว่างเปล่าแห่งอหังการส่วนตน และสำนวนโวหารที่ฟุ่มเฟือย

หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้ป่าวประกาศอย่างนั้น เพราะผู้เขียนเป็นฝรั่งตะวันตก และใช้วิทยาการหรือมุมมองตะวันตกแบบบูรณาการเข้ามาศึกษาอดีต ในแง่มุมมานุษยวิทยาผสมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ (ไม่นับความสามารถเดิมของผู้เขียนที่เป็นแพทย์) ได้เป็นองค์ความรู้ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะคนที่กำลังค้นหา "รากเหง้าแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" หรือ "รากเหง้าแห่งอุษาคเนย์" อยู่พอดี

ผู้เขียนเป็นกุมารแพทย์ที่รักการเดินทางในเอเชีย เดินทางไปทั่วพร้อมกับพัฒนาความสนใจความรู้ที่นอกกรอบวิชาชีพของตนเอง โดยเฉพาะความสะดุดใจเกี่ยวกับกำเนิดอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการอพยพของผู้คน ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก หลังจากยุคน้ำแข็งสุดท้ายจบสิ้นลง พร้อมกับตำนานของลูกหลาน "คูลาบ็อบ และมานุพ" ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการมาของอารยธรรมจากภายนอก (พุทธ ขงจื๊อ ฮินดู อิสลาม คริสต์ และอื่นๆ)

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ใหม่เสียทีเดียว แต่พิมพ์จำหน่ายมา 2 ปีแล้ว หากเนื้อหาน่าสนใจมาก โดยเฉพาะข้อสรุปที่ว่า

1) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดในโลก ที่เป็นเอกภาพกัน แต่ถูกทำลายไปด้วยน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อ 7 พันปีก่อน เหลือเอาไว้แต่ชาติพันธุ์ที่เรียกในปัจจุบันว่า โพลีนีเชียน

2) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคน้ำแข็ง เคยเป็นทวีปใหญ่ 2 เท่าของอินเดีย แต่ได้จมหายไปในกระแสน้ำท่วมครั้งใหญ่ 3 ครั้ง กลายเป็นหมู่เกาะและจงอยแผ่นดินเล็กๆ

3) อารยธรรมจากภายนอกไม่ได้เข้ามาทำลายเอกภาพดังกล่าว แต่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางอารยธรรมในแผ่นดินที่มีผู้คนหลงเหลืออยู่ ทำให้ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยสีสันที่แตกต่างและขัดแย้งกันเองอย่างมาก

4) มีความเชื่อมโยงทางอารยธรรมของผู้คนที่อพยพหนีน้ำจากตะวันออกไปยังตะวันตกมายาวนานแล้ว นับแต่มนุษย์ยุคเริ่มแรกโดยผ่านตำนานและนิทานพื้นบ้านตั้งแต่หมู่เกาะทะเลใต้ คาบสมุทรอนุทวีป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันตก ซึ่งพูดถึงการอพยพจากทางตะวันออก เนื่องจากน้ำท่วมโลก อาณาจักรแอตแลนติสใต้บาดาลและสวนอีเดนที่สาบสูญ

5) การปลูกข้าวของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะกระทำมาตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง แล้วก็ได้

ข้อสรุปของผู้เขียนนี้ไม่สมบูรณ์ และผู้เขียนเองก็กล้าพอจะยอมรับ เพราะว่าการขาดแคลนหลักฐานทางโบราณคดีและอื่นๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การศึกษาแบบบูรณาการของคนที่ "รักในความรู้ที่แท้" จะไร้ซึ่งประโยชน์ไม่

อย่างน้อยก็เป็นการเปิด "ม่านตา" ใหม่ให้กับการศึกษาก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าเดิม.. ยกตัวอย่างเช่น ข้อสรุปของผู้เขียนว่า โนอาห์ กับมนู (พระมนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย) นั้น มีรากศัพท์เดียวกัน และอาจจะเป็นคนเดียวกัน...

ในทางตรงกันข้าม หากทฤษฎีของผู้เขียนใช้การไม่ได้ ก็ถือเสียว่า เป็นจินตนาการที่ยอดเยี่ยมของกุมารแพทย์ผู้เต็มไปด้วยความฝันต่อมวลมนุษยชาติ

น่าอ่านมากสำหรับคนซึ่งอยากอ้างตัวเองเป็นพวก "ทวนกระแสตะวันตกนิยม" ที่แท้จริง

เนื้อหาในหนังสือ
Prologue เกริ่นนำว่าด้วยที่มาของหนังสือ และทฤษฎีเบื้องหลังการเขียนหนังสือเล่มนี้

Part 1

G e o l o g y
Chapter 1 An Ice Age and Three Floods การรื้อฟื้นทฤษฎีธรณีวิทยาของมิลาน โกวิซแห่งเซอร์เบีย ในเรื่องน้ำท่วมโลก 3 ครั้งในอดีต

A r c h e o l o g y
Chapter 2 The Silt Curtain หลักฐานทางโบราณคดีที่โยงเรื่องน้ำท่วมโลกเข้ากับการหายไปของทวีปใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการแพร่กระจายของอารยธรรมปลูกข้าวทั่วเอเชีย โดยเฉพาะตะวันออกกลาง

Chapter 3 Wet Feet การแพร่กระจายของคนเชื้อสายโพลีนีเชียนไปยังแหล่งต่างๆ ทั่วโลก หลังยุคน้ำท่วมใหญ่

L i n g u i s t i c s
Chapter 4 Babel การสืบค้นกำเนิดและการแพร่กระจายของภาษาต่างๆ ในโลกตามยุคในไบเบิล ที่เชื่อมโยงระหว่างภาษาอินโด-ยูโรเปียน ยูเรเชียน ออสโตร-ไทย และจีน-ทิเบต

Chapter 5 Homeland of the Argonauts การสืบค้นทางด้านภาษาของชนเผ่าต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทะเลใต้ ที่เชื่อมโยงและซ้อนทับกันไปมาแสดงร่องรอยการอพยพในอดีต

G e n e t i c s

Chapter 6 Eve's Genes การตรวจสอบด้วยดีเอ็นเอ เพื่อค้นหาความเชื่อมโยงทางชาติพันธุ์ของคนที่สืบเชื้อสายไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคน้ำแข็ง พบถึงนัยสำคัญที่ชัดเจนถึงการอพยพในอดีต

Chapter 7 Orang Asli : Originals ชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่า โอรัง อัสลี ในแหลมมลายูได้ถูกค้นพบว่า น่าจะเป็นต้นกำเนิดชาติพันธุ์แท้ของคนในเอเชียทั้งมวล และเป็นต้นเค้าของโรคประจำชาติพันธุ์คือ ทาลัสซีเมีย และเม็ดเลือดแดง E

P a r t 2

F l o o d M y t h s
Chapter 8 Five Hundred Cataclysms? การตรวบสอบความคล้ายคลึงกันของตำนานน้ำท่วมโลกในชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่า 500 เรื่อง ทั้งที่เป็นน้ำทะเลล้นท่วม น้ำในแผ่นดินเอ่อล้น และพายุฝนยาวนาน พร้อมกับต้นกำเนิดของแผ่นดินใหม่ โดยมีนกเป็นสัญลักษณ์ของการแสวงหาแผ่นดินใหม่

Chapter 9 Floods in the West โนอาห์ไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเผชิญน้ำท่วมโลก แต่ในเมโสโปเตเมียและกรีกล้วนมีตำนานนี้ทั้งสิ้น และล้วนคล้ายคลึงกัน

Chapter 10 Floods in the East พระมนูของอินเดีย และคนในเอเชียตอนใต้ ล้วนมีตำนานน้ำท่วมที่โยงใยเข้ากับนก ภูเขา งู และต้นไม้อย่างแน่นแฟ้น พร้อมกับต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์

C r e a t i o n
Chapter 11 Watery Chaos with Dragon การสืบค้นทางมานุษยวิทยาว่าด้วยนิทานพื้นบ้านและตำนานเก่าเกี่ยวกับงูใหญ่และความยุ่งยาก พร้อมกับพิธีกรรม

Chapter 12 Heaven and Earth แม่พระธรณีได้รับการบูชาควบคู่กับเจ้า หรือแถน (เพศชาย) ผู้ครองฟ้าในคนเอเชียจนถึงฟินแลนด์ เพื่อแบ่งแยกโลกและสวรรค์ออกจากกัน หลังจากกำเนิดแสงสว่าง

T h e G a r d e n o f E d e n
Chapter 13 The Creation of Man ความคล้ายคลึงกันของมนุษยชาติในเรื่องกำเนิดมนุษย์ และรูปเคารพต่างๆ ที่โยงใยสู่รากเหง้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Chapter 14 The Quest for Immortality การแสวงหาอมตภาพของชีวิตผ่านสัญลักษณ์ร่วมคือพระจันทร์ และต้นไม้

Chapter 15 The Dying and Rising Tree God การวิเคราะห์ทางเทววิทยาของชาติพันธุ์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คล้ายกับในอียิปต์และกรีก รวมทั้งเมโสโปเตเมีย โดยเฉพาะเรื่อง "ต้นไม้แห่งชีวิต" ที่โยงสวรรค์และโลกเข้าด้วยกัน
Chapter 16 Cain and Abel พื้นฐานความเชื่อสำคัญเรื่อง พี่น้อง มาลูกุ (คูลาบ็อบ & มานุพ) ในทะเลใต้ ซึ่งเทียบเคียงกับเรื่องของ เคน และอาเบล ในไบเบิล เกี่ยวกับ "น้องชายที่สาบสูญ"

Epilogue ผู้เขียนขมวดท้ายว่า ตะวันออกและตะวันตกต้องเรียนรู้จากกันด้วยการปลดอหังการทางปัญญาออกไป เพื่อที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมให้เกิดการงอกเงยในอนาคต ไม่ว่าข้อสรุปของเขาที่ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้แหละ คือ สวนอีเดนในไบเบิล



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us