Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Invisible Spotlight
ผู้เขียน: Doug Katz, Craig Wasserman
ผู้จัดพิมพ์: CreateSpace
จำนวนหน้า: 148
ราคา: $15.95
buy this book

Craig Wasserman และ Doug Katz 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารมานานเกือบ 40 ปี ชี้ว่า ผู้จัดการทุกคนทำงานอยู่ใต้ “แสงสปอตไลต์ที่มองไม่เห็น” ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่คำพูดทุกคำ การกระทำทุกอย่างของผู้จัดการจะอยู่ในสายตาของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเสมอ แต่ผู้จัดการส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ดังนั้น พวกเขาจึงมองข้ามช่วงเวลาสำคัญที่ถือว่าเป็นหัวใจของการบริหาร คือช่วงเวลาแห่งการสร้างความสัมพันธ์กับพนักงาน ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการบริหารของคุณยังขึ้นอยู่กับการสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวให้มั่นคงแข็งแรง ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้จัดการหน้าใหม่ หรือเป็นผู้จัดการที่มีประสบการณ์มานานแล้วก็ตาม

สปอตไลต์ที่มองไม่เห็น

ไม่ว่าผู้จัดการจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ความจริงคือเขาเป็นคนที่มีอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตพนักงานทุกคนที่อยู่ใต้เขา พนักงานใช้เวลาหลายชั่วโมงในการดู ฟัง คิดและพูดถึงผู้จัดการ พยายามที่จะทำให้หัวหน้าของเขาพอใจ นี่ก็คือความหมายของ “แสงสปอตไลต์ที่มองไม่เห็น” ที่คอยส่องไปที่ตัวของผู้จัดการอยู่เสมอ ไม่ว่าเขาจะทำหรือจะพูดอะไร นั่นเป็นเพราะตำแหน่งผู้จัดการที่เขาเป็น เพราะสถานภาพและอำนาจที่ผู้จัดการมี ทำให้คำพูดและการกระทำ ของผู้จัดการมีน้ำหนักมากเสมอ และสามารถจะทำให้พนักงานรู้สึกดีและทำงานดีขึ้นก็ได้ ในขณะเดียวกันคำพูดและการกระทำของผู้จัดการก็สามารถทำให้พนักงานรู้สึกสับสนและเจ็บปวดได้เช่นเดียวกัน แม้กระทั่งเพียงคำพูดหลุดปากของผู้จัดการโดยไม่ได้มีเจตนาไม่ดี ก็อาจทำลายกำลังใจของพนักงาน และมีส่วนในการสร้างปัญหาทั้งมวลที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้จัดการกับพนักงานมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวหรือวางแผนล่วงหน้ามาก่อน อย่างเช่นการคุยกันเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างผู้จัดการกับพนักงาน ปฏิกิริยาเล็กๆ น้อยๆ เช่นการพยักหน้าหรือส่ายหน้าของผู้จัดการในทำนองยอมรับหรือไม่ยอมรับสิ่งที่พนักงานทำ การให้กำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ยามเมื่อพนักงานรู้สึกท้อแท้ เหล่านี้คือช่วงเวลาเล็กๆ แต่มีความสำคัญถึงขนาดสามารถสร้างหรือทำลาย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการกับพนักงานได้ เรียกช่วงเวลาเล็กๆ แต่ใหญ่ในแง่ของการบริหารเหล่านี้ว่า “Management Moments”

เวลาเล็กๆ แต่ใหญ่ในการบริหาร

น่าเสียดายที่บรรดาตำราการบริหารจัดการยอดนิยมทั้งหลายกลับมองข้ามช่วงเวลาเล็กๆ เหล่านี้ไป โดยมักจะไปให้ความสำคัญกับการวางระบบการบริหารที่มีแบบแผนหรือคาดการณ์ได้เท่านั้น แต่ผู้แต่งยืนยันว่า ช่วงเวลาเล็กๆ เหล่านี้เองที่ผู้จัดการสามารถจะสร้างหรือทำลายขวัญกำลังใจของพนักงานได้ สามารถจะขจัดความสับสน หรือทำให้สับสนมากยิ่งขึ้นได้ หรือสามารถจะทำเรื่องสำคัญให้ลุล่วงหรือล้มเหลวได้ ภายในเวลาช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเหล่านี้ โดยที่ตัวผู้จัดการเองก็อาจไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าได้ทำสิ่งใดลงไป ทั้งที่สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก หรืออาจเป็นสิ่งที่ร้ายแรงมาก

ถ้าหากผู้จัดการมองเห็นความสำคัญของช่วงเวลาเล็กๆ ที่กล่าวไป ก็สามารถจะสร้างโอกาสเล็กๆ เหล่านี้ขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องคอยให้มันเกิดขึ้นเอง เคล็ดลับคือ ผู้จัดการต้องควบคุมอิทธิพลที่คุณมีต่อพนักงาน และพูดหรือทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจเสมอ โดยไม่มีการพลั้งเผลอ ทุกเวลาที่โอกาสเล็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้น แล้วคุณจะพบว่าคุณสามารถเปลี่ยนช่วงเวลาเพียงเล็กๆ น้อยๆ นี้ ให้บังเกิดผลดีชั่วนิรันดร์ได้ เพราะช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นี่เองที่เป็นรากฐานของการบริหารและการสร้างความสัมพันธ์กับพนักงาน

งานที่ต้องใช้ทั้งสมองและหัวใจ

แนวคิดที่ว่าผู้จัดการสามารถตำหนิติเตียนความบกพร่องของพนักงานโดยที่พนักงานยังยิ้มได้เป็นแนวคิดที่เหลวไหล ผู้แต่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิด win win ที่ยึดติดกันมานานนับครึ่งศตวรรษว่า ผู้จัดการควรจัดการความขัดแย้งแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น และให้ทุกคนรู้สึกสบายใจ มัวแต่ไปมุ่งเน้นการฝึกผู้จัดการในเรื่องทักษะการสื่อสารที่นุ่มนวลและเห็นอกเห็นใจ โดยมุ่งหวังจะสร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่าย แต่ผู้แต่งกลับเห็นต่างว่าการพูดถึงปัญหาที่ซีเรียสร้ายแรง และการตำหนิติเตียนความบกพร่องต่างๆ โดยไม่ทำให้คนฟังรู้สึกเจ็บปวดนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และความสบายใจไม่เคยทำให้ใครลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเอง เพราะคนเราจะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อรู้สึกไม่สบายใจเท่านั้น และเห็นว่าการพูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาหรือความล้มเหลวไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดด้วยกันทุกฝ่ายได้

สิ่งที่ผู้จัดการพูดหรือไม่พูด ทำหรือไม่ทำ ในช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ แห่งการปฏิสัมพันธ์กับพนักงาน คือสิ่งที่จะตัดสินว่ารากฐานของการบริหารและความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการกับพนักงานนั้นมั่นคงแข็งแรงเพียงใด พฤติกรรมของผู้จัดการในช่วงเวลาเหล่านั้นอาจทำให้พนักงานนอนไม่หลับไปนานหลายวัน หรืออาจทำให้พวกเขาเกิดกำลังใจที่จะทำงานให้ดีขึ้นก็ได้ แต่สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากการที่ผู้จัดการต้องบริหารภายใต้แสงสปอตไลต์ที่มองไม่เห็นคือ พนักงานต่างต้องการเห็นคุณทำดี ต้องการเห็นคุณเป็นผู้จัดการที่เก่ง พวกเขาต้องการเห็นคุณประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะชีวิตของพวกเขาจะง่ายขึ้นอีกมาก และดีขึ้นอีกมาก ถ้าหากว่าคุณเป็นผู้จัดการที่บริหาร ความสัมพันธ์กับพนักงานได้ดี พนักงานจะรู้สึกมีพลัง แม้กระทั่งรู้สึกเกิดแรงบันดาลใจ ถ้าหากได้เห็นคุณเป็นผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพสูง และนี่ก็คืออิทธิพลของผู้จัดการที่มีต่อพนักงาน เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าผู้จัดการเป็นตำแหน่งมีความสำคัญมากเพียงใด

จงจำไว้ว่า ถ้าหากรากฐานของการบริหารความสัมพันธ์กับพนักงานมั่นคงแข็งแรง แสดงว่าผู้จัดการทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าหากว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการกับพนักงานพังไม่เป็นท่า นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกว่าผู้จัดการกำลังทำสิ่งที่ผิดพลาด นี่เป็นหลักง่ายๆ แต่ที่จริงแล้วยาก เพราะงานบริหารเป็นงานที่หนัก เป็นงานที่ยุ่งยากซับซ้อนและไม่สามารถจะทำอย่างง่ายๆ ชุ่ยๆ ได้ อีกทั้งเป็นงานที่มีเกียรติ เป็นงานที่ต้องทุ่มเททั้งสมองและหัวใจ สติปัญญาและศีลธรรม จรรยา นอกเหนือจากการเดินตามสูตรสำเร็จ



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us