|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Fierce Leadership
ผู้เขียน: Susan Scott
ผู้จัดพิมพ์: Crown Publishing Group
จำนวนหน้า: 318
ราคา: $25.00
buy this book
|
|
|
|
Susan Scott ผู้แต่ง Fierce Leadership เป็นผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมทางธุรกิจชี้ว่า หลักปฏิบัติทางธุรกิจ (business practices) ที่คุณเคยเชื่อว่าดีที่สุด เป็นที่ยอมรับและใช้ปฏิบัติกันมานานในธุรกิจทั่วทุกหนแห่ง อย่างเช่น การประเมินผลงานของพนักงานโดยปกปิดตัวผู้ประเมิน (anonymous feedback) การรับพนักงานใหม่โดยดูที่สติปัญญาความสามารถเป็นหลัก และหลักการอื่นๆ นอกจากจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ อาจเป็นการปฏิบัติที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง ทำให้บริษัทต้องสูญเสียเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งยังเป็นการขับไสไล่ส่งพนักงานดีๆ รวมทั้งลูกค้าดีๆ ให้ถอยห่างออกไปจากบริษัท และยังจำกัดประสิทธิภาพการทำงาน เนื่องจากหลักปฏิบัติทางธุรกิจเหล่านี้ ถือปฏิบัติกันมานาน จนซึมลึกอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร จนไม่เคยมีใครตั้งคำถามเกี่ยวกับมันมาก่อน จนกระทั่งขณะนี้ Scott ได้เสนอทางเลือกใหม่ที่ตรงกันข้ามและ “ดุดัน” เพื่อแทนที่หลักปฏิบัติทางธุรกิจ “ที่ดีที่สุด” เหล่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นสิ่งอันตรายที่จะทำลายบริษัทของคุณอยู่ทุกวัน
ธุรกิจคือการพูดคุย
Scott ชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก ระดับชาติ ระดับบริษัท หรือระดับบุคคล มีกำเนิดขึ้นจากพฤติกรรมที่เราทำเป็นประจำทุกวัน และพฤติกรรมประจำวันของเราที่มีพลังมากที่สุด คือการพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพของเรา บริษัทที่เราทำงานอยู่ เพื่อนๆ ไปจนถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตของเรา เชื่อหรือไม่ว่า ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกับคนอื่น ทั้งนี้เพราะการพูดคุยกัน คือสัมพันธภาพ การคุยกันเพียงแค่ครั้งเดียว อาจส่งผลถึงขั้นเปลี่ยนแปลงอาชีพ ของเรา เปลี่ยนแปลงบริษัท สัมพันธภาพ แม้กระทั่งชีวิตของเราได้ นี่คือความจริง ไม่ว่ากับบริษัทที่มีพนักงานเพียง 5 คน 50 คน หรือ 50,000 คน และไม่ว่าคุณจะกำลังทำอาชีพอะไร เป็นครู นักธุรกิจ หรือแม้กระทั่งนักบวช
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในธุรกิจประเภทใด ขนาดเล็กหรือใหญ่ระดับโลก เป็นธุรกิจง่ายๆ หรือซับซ้อน แต่โดยพื้นฐานแล้ว ธุรกิจก็คือการพูดคุยกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน การพูดคุยกับลูกค้า และการพูดคุยถึงอนาคตที่เรายังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร และสิ่งที่กลายเป็นหัวข้อสนทนาของคนในบริษัทนี้เอง คือสิ่งที่กำหนดว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นในอนาคต
เพียงแค่การพูดคุยกันยังไม่เพียงพอที่จะมีความสำคัญขนาด นั้น ต้องเป็นการพูดคุยที่มีคุณภาพ จึงจะทำให้การพูดคุยกันนั้นมีคุณค่าความหมาย การพูดจาสื่อสารกันอาจช่วยให้เกิดความเข้าใจ ที่ชัดเจนก็ได้ หรืออาจจะสร้างความสับสนก็ได้ คำพูดอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นแก้ปัญหาที่ยากที่สุด อาจทำให้เราท้อแท้หมดอาลัยตายอยากก็ได้ การสนทนากับคนบางคนอาจจะน่าเบื่อแทบตาย หรืออาจกลายเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งก็ได้
การพูดคุยอย่าง “ดุดัน”
หน้าที่ของผู้นำคือจะต้องสร้างการพูดคุยที่มีคุณภาพ การพูดคุยที่สามารถสร้างความเข้าใจและทำให้เข้าถึงความจริงได้ การพูดคุยกันที่สามารถเผยให้เห็นความสามารถในการคิดของเรา การพูดคุยที่มีคุณภาพจะสร้างความชัดเจนและแรงบันดาลใจให้เกิดการลงมือทำ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เรามักจะตกลงในหลุมพรางของการมุ่งเน้นแต่ผลลัพธ์ สนใจแต่เป้าหมายที่วัดได้ หรือตัวเลขดัชนีธุรกิจ ให้ความสำคัญกับแผนปฏิบัติการ การพยากรณ์ cash flow ดัชนีเศรษฐกิจ กระบวนการและขั้นตอนการทำงาน จริงอยู่ แม้สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานั้น จะเป็นข้อมูลที่มีคุณค่า ทว่าความสำเร็จที่แท้จริง จะต้องมาจากการพูดคุยที่เปี่ยม ล้นด้วยพลัง อันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นข้างในลึกๆ เหมือนกระแสน้ำอันทรงพลังที่อยู่ข้างใต้ การพูดคุยที่ฉลาดและปลุกเร้าจิตใจให้ฮึกเหิม เป็นการพูดคุยที่มีคุณค่าความหมาย และยิ่งใหญ่ ราวกับสุนทรพจน์เช่นนี้ เรียกว่า fierce conversation
fierce ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความดุร้าย แต่คำจำกัดความของ fierce conversation คือการพูดคุยที่ “ดุดัน” และจริงจัง ที่ทำให้ตัวเราที่แท้จริงออกมาจากการหลบซ่อนอยู่ข้างหลังตัวเราเอง เป็นการพูดอย่างเปิดอก เอาความจริงมาพูดอย่างตรงไปตรงมา คนส่วนใหญ่มักรู้สึกอึดอัดกับการพูดความจริงอย่างเปิดอก แต่คุณรู้หรือไม่ว่า การไม่ยอมพูดกันแบบเปิดอก มีต้นทุนที่แสนแพงอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะในแง่ของธุรกิจหรือส่วนตัว มีหลายบริษัท ที่ปรารถนาจะสามารถพูดคุยอย่างดุดันกับพนักงานของตน กับลูกค้า และกับตลาดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
Fierce leadership
ผู้นำที่ดุดัน (fierce leadership) แตกต่างจาก leadership ธรรมดาอย่างไร คำจำกัดความของ fierce leadership คือ ผู้นำที่ลงมือทำอย่างรวดเร็วเพื่อเปลี่ยนหลักการปฏิบัติทางธุรกิจในแบบที่ “เคยๆ ทำกันมา” เช่นการปล่อยให้พนักงานก้มหน้าก้มตาทำงานหนัก โดยขาดการสร้างสัมพันธภาพผ่านการพูดคุยกัน การบงการและควบคุม การประเมินผลงานของพนักงานแบบปกปิดตัวผู้ประเมิน (anonymous feedback) การใช้ศัพท์เฉพาะมากเกินไปในการพูดคุย และการมอบหมายงานที่ทำให้พนักงานต้องร้องไห้ ในวันที่ควรจะเป็นวันดีๆ ผู้นำแบบ fierce leadership ต้องขวนขวายแสวงหาและครอบครองเงินทุนที่มีค่ามากที่สุด นั่นคือ เงินทุนทางอารมณ์ความรู้สึก (emotional capital)
คุณจะเริ่มก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างผู้นำธรรมดากับผู้นำแบบ fierce leadership ได้ เมื่อคุณเริ่มเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการสร้างสัมพันธภาพที่มีคุณภาพกับพนักงาน เป็นสัมพันธภาพ ที่จริงจังและแตกต่างไปจากเดิม เมื่อคุณเข้าใจและลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่าง “อย่างดุดัน” เอาจริง ถ้าหากคุณต้องการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คุณต้องมีความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อน ร่วมงานและลูกค้าในระดับลึก หรือไม่เช่นนั้น คุณก็ควรลดเป้าหมายที่หมายจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ลง เงินทุนที่มีค่าที่สุดของคุณคือสัมพันธภาพ และเงินทุนทางอารมณ์ความรู้สึก ความแตกต่าง ของการเป็นผู้นำที่ดุดัน ห่างไกลจากแนวคิดไม่เดียงสาของการพยายามที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกดีที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย
สู่การประเมินผลงานแบบเผชิญหน้า 365 วัน
การประเมินผลงานแบบนิรนาม 360 องศา (360-degree anonymous feedback) ซึ่งเป็นการประเมินผลงานพนักงานแบบปกปิดตัวผู้ประเมินนั้น ไม่สามารถบอกสิ่งที่พนักงานจำเป็นต้องรู้จริงๆ ได้ เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่กล้ายกตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนการประเมินของเขา เนื่องจากกลัวว่า จะถูกผู้ถูกประเมินจับได้ว่าเป็นใคร ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดอะไรที่ชัดเจนเกินไปจนเข้าตัว แต่กลับใช้คำที่เลือกสรรแล้วว่าจะไม่ทำให้ผู้ฟังระคายเคือง ซึ่งบอกความจริงแก่ผู้ถูกประเมินน้อยมาก ว่าเขาควรจะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเขาอย่างไร
แต่ต่อไปนี้ เราจะเปลี่ยนไปสู่การประเมินผลงานแบบเผชิญ หน้า 365 วัน (365 face-to-face feedback) อย่างดุดันและจริงจัง ซึ่งมีหลักการง่ายๆ ดังนี้
- ประเมินผลงานทุกวัน 365 วันต่อปี
- ประเมินผลแบบเผชิญหน้าทุกครั้งที่เป็นไปได้ และต้องไม่ผ่านอีเมล
- ประเมินทันทีที่ทำได้ หลังจากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
- คำชมสำคัญเช่นเดียวกับคำวิจารณ์ หรือจะพูดให้ถูกกว่า คือ คำชม มีความสำคัญเสียยิ่งกว่าคำตำหนิติเตียน เพราะฉะนั้น จงอย่าวิจารณ์เมื่อเกิดปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องชมเมื่อทำดี
เป้าหมายของการประเมินผลงานอย่างดุดันตลอด 365 วันต่อปีคือ การพูดคุยแบบเห็นหน้ากัน เพื่อแลกเปลี่ยนการประเมินกันอย่างซื่อสัตย์ และเป็นการพูดคุยกับคนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จและความสุขในการทำงานของคุณ
|
|
|
|