Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Resonate
ผู้เขียน: Nancy Duarte
ผู้จัดพิมพ์: John Wiliey & Sons
จำนวนหน้า: 248
ราคา: $29.95
buy this book

หากการนำเสนอ (presentation) เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ทุกคนก็คงกลายเป็นนักพูดหรือนักสื่อสารที่ยิ่งใหญ่กันไปหมดแล้ว แต่ความจริงคือ การมีความสามารถในการนำเสนอ ไม่ต่างจากการมีมนตร์วิเศษ และผู้นำเสนอที่เก่งฉกาจ ก็ไม่ต่างจากผู้วิเศษหรือนักมายากล อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ ไม่มีวันที่จะยอมเปิดเผยความลับที่อยู่เบื้องหลังการเล่าเรื่องได้อย่างมหัศจรรย์หรือมายากลวิเศษนั้น

แต่ Nancy Duarte จะมาเปิดเผยความลับของการเป็นผู้นำเสนอที่เก่งฉกาจ ซึ่งนอกจากต้องฝึกฝนอย่างหนักแล้ว ยังมีการยืมเทคนิค ที่ปกติจะสงวนไว้ใช้แต่เฉพาะในการเขียนวรรณกรรมและการสร้างภาพยนตร์ มาใช้ในการนำเสนอด้วย คุณจะเข้าใจผู้ชมผู้ฟังมากขึ้น สามารถสร้างเนื้อหาที่จูงใจคนฟังได้ กระตุ้นให้ผู้ฟังมีการตอบสนอง ทำให้คุณกลายเป็นนักสื่อสารที่ยิ่งใหญ่ คุณจะได้เรียนรู้วิธีนำข้อมูล มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่สามารถเข้าถึงผู้ฟัง และทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ความสามารถในการเล่าเรื่องนี้เป็นหัวใจของการ เรียนรู้ และเป็นหัวใจของการเป็นผู้นำด้วย ผู้นำต้องสามารถสอน จูงใจและกระตุ้นให้ผู้ฟังลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและลงมือทำ

บทเรียนจากตำนานและฮอลลีวู้ด

การนำเสนอ (presentation) คือเครื่องมือจูงใจอันทรง พลังที่สามารถแปรเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นการปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทำได้ หากคุณได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอที่ดี โดยใช้การเล่าเรื่อง เทคนิคแห่งการจูงใจนี้ได้รับการพิสูจน์มานานแล้วว่าได้ผลในทุกวัฒนธรรม ติดต่อกันมานานหลายร้อยชั่วอายุคนแล้ว ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร เป็นวิศวกร ครู นักวิทยาศาสตร์ ผู้บริหาร นักการเมือง หรือนักศึกษา ความสามารถการนำเสนอ มีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคต ของตัวคุณเอง อนาคตไม่ใช่ที่ที่เรากำลังจะเดินไปหา หากแต่ เป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างได้ ความสามารถในการสร้างอนาคต ให้แก่ตัวคุณเอง ขึ้นอยู่กับคุณสามารถสื่อสารได้ดีเพียงใดว่า จุดหมายของคุณคืออะไร และคุณต้องการจะไปถึงเมื่อใด

การนำเสนอที่ดี สามารถจะตรึงความสนใจของผู้ฟังได้ เหมือนภาพยนตร์ดีๆ เรื่องหนึ่ง การเตรียมการนำเสนอโดย หยิบยืมวิธีการเล่าเรื่องของตำนานปรัมปราหรือภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดมาใช้ จะทำให้คุณสื่อสารความคิดของคุณได้ดีขึ้น ช่วยให้คนเข้าใจจุดประสงค์ของสิ่งต่างๆ และชักจูงให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงได้

เรื่องเล่าดีๆ เริ่มต้นด้วยการนำคุณไปพบกับวีรบุรุษ ประจำเรื่อง ผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า หรือมีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ทว่าเป้าหมายนั้นกำลังถูกคุกคาม เรื่องราวดำเนินต่อไปเรื่อยๆ วีรบุรุษของคุณเผชิญกับปัญหาต่างๆ และสามารถเอาชนะมันได้ คุณเอาใจช่วยวีรบุรุษไปตลอดเรื่อง จนในที่สุดเรื่องราวก็คลี่คลายลงได้ และวีรบุรุษของคุณสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้สำเร็จสมดังความปรารถนา Robert McKee ผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่องอธิบายว่า จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างกำลังตกอยู่ในอันตราย ทำให้ผู้ชมรู้สึก ว่า จะต้องเกิดการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ถ้าหากว่าวีรบุรุษ ในเรื่องไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของเขา McKee ชี้ว่า หากไม่มีสิ่งใดกำลังตกอยู่ในอันตราย เรื่องนั้นก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ

การนำเสนอของคุณก็สามารถเดินตามรูปแบบเดียว กันนี้ คุณมีเป้าหมายที่ต้องการจะไปให้ถึง ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคและการต่อต้าน การวางโครงเรื่องประกอบด้วย 3 ส่วนคือ สถานการณ์ ปมปัญหาความขัดแย้ง และการคลี่คลายปมปัญหา ตั้งแต่ตำนานปรัมปรา ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ไปจนถึงเรื่องเล่าบนโต๊ะอาหาร ล้วนหนีไม่พ้นรูปแบบการวางโครงเรื่องแบบนี้

องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของเรื่องเล่าที่ดีคือ ปมปัญหา ความขัดแย้งหรือความไม่สมดุล และการนำเสนอของคุณจะเสนอวิธีแก้ปมปัญหานั้นๆ การที่ผู้ฟังรู้สึกถึงปมปัญหาความขัดแย้ง จะทำให้พวกเขาเกิดความสนใจ ในการนำเสนอที่ดี คุณจะต้องเปรียบเทียบให้ผู้ฟังได้เห็นชัดๆ ถึงปมปัญหาความขัดแย้งกับสิ่งที่ควรจะเป็นหรือทางแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังสนใจติดตามปมปัญหานั้นไปจนกว่าจะถึงจุดคลี่คลายในท้ายที่สุด

ความคิดเปลี่ยนแปลงโลก

เวลาที่คุณพูดว่า คุณมีความคิดใหม่ๆ นั้น คุณรู้หรือไม่ว่า ความจริงแล้ว คุณกำลังพูดว่า คุณต้องการจะ “เปลี่ยนแปลงโลก” คุณอาจไม่เห็นด้วย แต่ลองมาดูกันว่า คำว่า “โลก” นั้น หมายถึงอะไร แท้จริงแล้ว โลกของเราอย่างที่เป็น อยู่ในทุกวันนี้ ล้วนเกิดขึ้นมาจาก “ความคิด” ของบรรพบุรุษ ของเรา ลองมองไปรอบๆ ตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ภาษา เฟอร์นิเจอร์ บ้าน เมือง หรือว่าประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากความคิดที่เคยอยู่ในใจของใครคนใดคนหนึ่ง มาก่อน อาหาร เครื่องดื่ม ยานพาหนะ หนังสือ โรงเรียน สิ่งบันเทิง เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากการที่มีใครสักคนรู้สึกไม่พอใจกับ “โลก” ที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขา มนุษย์ชอบการคิดสร้างสรรค์ การสร้างสรรค์เริ่มต้นจากความคิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลก

ในทศวรรษ 1960 อดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy ประกาศว่า สหรัฐฯ จะส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ เขาต้องการการสนับสนุนจากชาวอเมริกัน ทุกคน Kennedy พูดว่า ความจริงแล้ว การส่งมนุษย์อวกาศ คนแรกไปดวงจันทร์ หาใช่เพียงการส่งคนคนหนึ่งขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ หากแต่เป็นอเมริกาทั้งประเทศที่ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ เพราะชาวอเมริกันทุกคนจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อส่งมนุษย์คนแรกไปเหยียบดวงจันทร์ ให้ได้ ต่อมา Kennedy ได้ไปเยี่ยมองค์การ NASA และหยุด ทักทายภารโรงคนหนึ่ง ท่านประธานาธิบดีถามภารโรงผู้นั้น ว่า “คุณทำงานอะไรครับ” แทนที่จะตอบว่าเขาเป็นภารโรง ภารโรงกลับตอบว่า “ผมกำลังทำงานเพื่อส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ครับท่าน”

คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโลกทั้งโลก แต่คุณสามารถเปลี่ยน “โลกของคุณ” ได้ หากคุณมีการนำเสนอที่ดี เป็นเครื่องมือ ความคิดของคุณไม่มีทางเป็นจริง หากยังคง อยู่แต่ในหัวของคุณ แต่การนำเสนอที่ดีจะช่วยให้คุณสื่อสาร ความคิดของคุณได้ดี ความคิดของคุณจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ หากการนำเสนอของคุณสามารถจูงใจคนอื่นๆ ให้ทำตามความคิดของคุณ จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ คุณอาจต้องนำเสนอซ้ำๆ หลายครั้งหลายหนกว่าจะทำให้ความ คิดของคุณเป็นที่ยอมรับ ใครเลยจะคิดไปถึงว่า ภาพยนตร์สารคดี An Inconvenient Truth ของอดีตรองประธานาธิบดี Al Gore จะได้รับรางวัลออสการ์ แต่กว่าจะกลายมาเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการนำเสนอให้โลกตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนได้นั้น Al Gore ต้องตระเวนเดินทางไปทั่วโลก เพื่อนำเสนอเรื่องปัญหาโลกร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่านับหลายร้อยครั้ง

หากคุณสามารถนำเสนอความคิดของคุณได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ ความคิดของคุณอาจกลายเป็นปรากฏการณ์ บน social media ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์โลก ที่จะมีคนได้รับรู้ความคิดใหม่ๆ พร้อมกันเป็นล้านๆ คนทั่วโลก ได้เท่ากับโลกยุค social media ครองโลกอย่างยุคนี้อีกแล้ว ความคิดใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น สามารถแพร่ไปทั่วโลกได้ในพริบตา หากคนอื่นๆ คิดว่ามันเจ๋งจริงๆ ผู้คน ทั่วโลกจะดูพร้อมๆ กัน สามารถดูซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ ถ้าหากสารที่ส่งไปชัดเจน และมีค่าควรแก่การดูซ้ำ คุณก็สามารถจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ในพริบตา



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us