Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
You Already Know How to Be Great
ผู้เขียน: Alan Fine
ผู้จัดพิมพ์: Portfolio
จำนวนหน้า: 234
ราคา: $25.95
buy this book

คนส่วนใหญ่ที่ต้องการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกอล์ฟ การเจรจากับลูกค้า การพรีเซนต์งาน หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม มักจะนึกถึงแต่การมองหาข้อมูลใหม่ๆ พวกเขาจึงอ่านหนังสือเรียนเพิ่มเติม จ้างติวเตอร์ผู้เชี่ยวชาญมาสอน แต่ Alan Fine ได้เรียนรู้จากการเป็นโค้ชให้นักกีฬาและนักธุรกิจมานานหลายปี ว่าวิธีการ outside-in แบบนี้ หาได้ให้ผลอย่างที่เราต้องการไม่ ข้อมูลจำนวนมาก กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป๋ไป เบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากสิ่งที่สำคัญที่แท้จริง มากกว่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาให้เราได้ ยิ่งไม่สามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของเราให้ดีขึ้นได้

แต่ Fine กลับค้นพบวิธีอื่น จากการที่เขาได้เป็นครูฝึกสอนเทนนิสให้แก่เด็กหญิงวัย 9 ขวบคนหนึ่ง ยิ่งเขา สอนเคล็ดลับให้แก่เธอมากเท่าใด เด็กหญิงกลับเล่นได้แย่ลงเท่านั้น แต่วันหนึ่ง เขาได้เปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ปรากฏว่าความสามารถของเธอเพิ่มพูนขึ้นทันที 1,000 เปอร์เซ็นต์!

นั่นคือที่มาของการพัฒนาวิธีการที่ Fine เรียกว่า inside-out เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพ และ You Already Know How to Be Great เล่มนี้ จะทำให้คุณเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง มีพลังสูง และใส่ใจสิ่งที่สำคัญต่อคุณจริงๆ

ไม่มียีนออกกำลังกาย
เรื่องราวต่อไปนี้ฟังคุ้นๆ หรือไม่

คุณรู้ดีว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้คุณมีพลังและรู้สึกดี คุณจึงซื้อเครื่องออกกำลังกายและพยายามใช้มัน แต่ในที่สุดคุณก็เลิกใช้เครื่องนั้น และหันไปซื้อเครื่องใหม่อีกและอีก แต่ทุกครั้งคุณก็ไม่เคยใช้มันได้นานเกิน 3 สัปดาห์เลย คุณรู้สึกแย่และคิดว่า นี่เราเป็นอะไร หรือว่าเราจะเกิดมาไม่มียีนออกกำลังกายติดตัวมา

คุณเป็นผู้จัดการ หน้าที่หนึ่งคือต้องคอยสอนลูกน้อง คุณจึงหมั่นพูดคุยกับลูกน้องเสมอๆ คอยให้คำแนะนำและ สอนสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ทุกคนทำงานดีขึ้น แต่ยิ่งนานไปคุณก็ยิ่งรู้สึกว่า ความทุ่มเทของคุณนั้นเปล่าประโยชน์ กระทั่งถูกปฏิเสธด้วยซ้ำ ลูกน้องของคุณไม่อยากแม้แต่จะคุยกับคุณ คุณไม่รู้ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

บริษัทของคุณไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่คุณต้องการ คุณลองสารพัดวิธีแต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก และพนักงานของคุณก็ยังคงไม่กระตือรือร้นอย่างเต็มที่ คุณต้อง เสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการแก้ปัญหาภายในบริษัท แทนที่ จะทำอะไรให้บริษัทก้าวหน้า

ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือการเพิ่ม ประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเรา เองหรือคนอื่นๆ เราต้องการบริษัทและพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีลูกหลานที่เป็นเด็กรู้จักรับผิดชอบ

เรารู้ว่าต้องทำ “อะไร” บ้าง จึงจะเพิ่มประสิทธิภาพได้ แต่เราไม่รู้ “วิธี” ที่ถูกต้อง ทฤษฎีของหนังสือเล่มนี้คือ “ทุกคน” มีศักยภาพที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองให้ดีขึ้นได้อยู่แล้ว แต่ศักยภาพนั้นถูกขัดขวางด้วย “ตัวแทรกแซง” แต่เราสามารถ ลดตัวแทรกแซงได้ ด้วยการใส่ใจในสิ่งที่ควรใส่ใจ

ปิดปากตัวตนที่ 1

Fine ผู้เขียน ค้นพบวิธีใหม่ในขณะที่เขาสอนเทนนิส ให้แก่เด็กหญิง 9 ขวบ ตลอด 6 สัปดาห์ที่เขาเฝ้าสอนเคล็ดลับง่ายๆ ให้แก่เธอ สิ่งที่ดีที่สุดที่เธอทำได้คือตีข้ามเน็ตได้เพียง 5 ครั้ง Fine รู้สึกแย่มาก เขาจึงค้นคว้าหาวิธีอื่นๆ ที่จะปรับปรุงการสอนของเขา เขาลงมือศึกษาศาสตร์หลายอย่างตั้งแต่ Neuro-Linguistic จิตสังเคราะห์ (psychosynthesis)

แม้กระทั่งคำสอนของนิกายเซนและทุกอย่างที่เขาจะหาได้เกี่ยวกับจิตวิทยาการกีฬา แต่สิ่งที่สะดุดความสนใจ ของเขามากที่สุดคือ แนวคิดของ Timothy Gallwey ที่บอกว่า เราทุกคนต่างมี “ตัวตนที่ 1” ซึ่งเป็นตัวตนที่คอยวิเคราะห์และวิจารณ์ “จับไม้ผิดแล้วนะ” “ช้าไปแล้ว โง่จริง”) กับ “ตัวตนที่ 2” คือตัวตนธรรมชาติ ที่มีความอยากรู้ อยากเห็น และเรียนรู้จากประสบการณ์ จะแสดงความสามารถออกมาได้ดีที่สุด หากไม่ถูกแทรกแซงจากตัวตนที่ 1 ประสิทธิภาพของเราจะเพิ่มขึ้นทันที ถ้าเพียงแต่เราสามารถทำให้ตัวตนที่ 1 ปิดปากเงียบ และปลดปล่อยตัวตนที่ 2 ของเราให้ทำสิ่งต่างๆ โดยอิสระ

Fine จึงบอกให้เด็กหญิงลืมคำสอนทั้งหมดของเขา ที่สอนเธอมาตลอด 6 สัปดาห์ แล้วให้เธอเพียงแต่หวดลูกเทนนิส เมื่อลูกกระทบไม้ และบอกให้เธอสนใจแต่เรื่องนี้เท่านั้น ไม่ต้องไปกังวลเรื่องอะไรทั้งสิ้น

ผลปรากฏว่า เพียงครั้งแรกที่เธอทำตามวิธีใหม่ของเขา เธอสามารถตีลูกข้ามเน็ตได้ถึง 53 ครั้งติดต่อกัน หรือเท่ากับประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 1,000 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัว เขาเองก็พบว่า ความเป็นครูของเขากำลังถูกท้าทายครั้งสำคัญที่สุด

คำสอนของเขาที่เคยสอนลูกศิษย์ทั้งหมดที่ผ่านมา ไม่เพียงไม่ช่วยให้พวกเขาเก่งขึ้น หากแต่ยังกลับไปขัดขวางประสิทธิภาพของพวกเขาเสียอีก เด็กหญิงเล่นเทนนิส ไม่ดีขึ้น ไม่ใช่เพราะเธอ “ไม่รู้” ว่าต้องทำอย่างไร แต่เป็นเพราะเธอถูก “แทรกแซง” มากเกินไป ทำให้เธอทำได้ไม่ดีและตัวแทรกแซงนั้นก็ไม่ใช่ใคร หากแต่เป็นตัวเขาเอง

ไม่ใช่ขาดความรู้

ก่อนหน้านั้น Fine ก็เชื่อเหมือนกับคนส่วนใหญ่ว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพคือ ต้องเพิ่มความรู้ นั่นก็คือวิธี outside-in วิธีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดว่า

เรายัง “ขาด” บางอย่างอยู่ และจำเป็นต้อง “เพิ่ม” ความรู้ จากภายนอก เข้าไปเติมส่วนที่ขาดในตัวเรา นี่คือวิธีที่คนและองค์กรส่วนใหญ่ใช้ เพราะคิดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ วิธีนี้สะท้อนว่า ทุกคนต่างคิดว่า ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ คือปัญหาเรื่องการขาดความรู้ จึงมองหาความรู้ใหม่ๆ เป็นวิธีแก้ปัญหา

แน่นอนว่า การขาดความรู้บางครั้งก็เป็นปัญหา จริงๆ แต่ส่วนใหญ่แล้ว อุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางประสิทธิภาพของเรา ไม่ใช่เพราะเรา “ไม่รู้” ว่าต้องทำอะไร แต่เป็นเพราะเราไม่ยอม “ทำ” ในสิ่งที่เรา “รู้” ต่างหาก สรุปก็คือ ปัญหาไม่ใช่เรารู้ไม่มากพอ แต่เราไม่ยอมลงมือทำ ในสิ่งที่เรารู้

หัวใจของการเปลี่ยนแปลง

John Kotter ศาสตราจารย์ทางด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Harvard และ Dan Cohen แห่ง Deloitte Consulting ยืนยันไว้ในหนังสือ The Heart of Change ว่า การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนนั้น การให้เหตุผลเพื่อ หวังจะเปลี่ยนความคิดของเขา ได้ผลน้อยกว่าการทำให้เขาได้เห็นความจริง ซึ่งจะส่งผลเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของเขา แม้ว่าความคิดและความรู้สึกจะสำคัญทั้งคู่ และต่างมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร แต่ “หัวใจของการเปลี่ยนแปลง” คือการเปลี่ยนที่อารมณ์ความรู้สึก กระบวนการ “เห็น-รู้สึก-เปลี่ยน” มีพลังมากกว่า “เหตุผล-คิด-เปลี่ยน”

กำจัดตัวแทรกแซง

เชื่อหรือไม่ว่า ทุกวัน จะมีตัวแทรกแซงที่คอยรบกวน ความเชื่อมั่น พลัง และความตั้งใจของเรา ซึ่งส่งผลไปถึงประสิทธิภาพของเราด้วย ตัวแทรกแซงมีทั้งจากภายนอกและภายใน ตัวแทรกแซงภายนอกเป็นสิ่งที่มักจะอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของเรา ถ้าเกี่ยวกับธุรกิจ ตัวแทรก แซงภายนอกก็เช่นสภาพเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ถ้าเป็นในสนามเทนนิส ก็เช่น ลม แสงแดด พื้นสนาม และคู่แข่งของเรา หลายครั้งที่ตัวแทรกแซงภายนอกมาจากคำ “ตัดสิน” ตัวเราด้วยลมปาก ของคนอื่น ซึ่งบั่นทอนกำลังใจ และความเชื่อมั่นของเราอย่างจัง ส่วนตัวแทรกแซงภายใน คือปฏิกิริยาของเราที่ตอบ สนองต่อตัวแทรกแซงภายนอกนั่นเอง และตัวแทรกแซงภายในนี่เอง ที่รบกวนและบั่นทอนประสิทธิภาพของเราได้มากกว่า ความวิตกกังวลว่า “คนอื่นจะว่ายังไงก็ไม่รู้” ที่อยู่ในใจเรา คือตัวบั่นทอนประสิทธิภาพชั้นดี

การกำจัดตัวแทรกแซงต้องเน้นที่การกำจัดตัวแทรกแซงภายใน เพราะตัวแทรกแซงภายนอกเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มันเป็นอย่างนั้นเอง แต่การลดปฏิกิริยาของเราที่มีต่อตัวแทรกแซงภายนอกจะช่วยลดความกลัว ความวิตกกังวล และปลดปล่อยตัวเราให้สามารถ แสดงประสิทธิภาพออกมาอย่างเต็มที่ได้ วิธีกำจัดตัวแทรกแซงภายในที่ง่ายและได้ผลที่สุดคือ การให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญเท่านั้น และไม่สนใจสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us