|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Upside of Irrationality
ผู้เขียน: Dan Ariely
ผู้จัดพิมพ์: Harper
จำนวนหน้า: 334
ราคา: $27.99
buy this book
|
|
|
|
Dan Ariely นักสังคมวิทยา เผยความจริงที่น่าประหลาดใจ ไว้ในหนังสือ The Upside of Irrationality เมื่อเขาชี้ว่า “ความไม่มีเหตุผล” ก็มีด้านดีและทั้งด้านบวกและด้านลบของความไม่มีเหตุผล ต่างส่งผลต่อชีวิตของเรา Ariely ได้ให้ความรู้ใหม่กับผู้อ่าน และเปิดเผยความจริงที่น่าประหลาดใจหลายอย่างที่คุณคาดไม่ถึง และเป็นเหตุผล เบื้องหลังที่แท้จริงของพฤติกรรมของเรา ผู้แต่งยังจะช่วยให้เราเอาชนะความคิดและพฤติกรรมที่เป็นลบ เพื่อให้สามารถ ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณได้มองเห็นตัวเองทั้งในการทำงานและที่บ้าน และส่องไฟให้คุณได้เข้าใจ พฤติกรรมที่ไร้เหตุผลของตัวเองมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทำให้เห็นว่าสมองส่วนที่ไร้เหตุผลของเรานั้น ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
แท้จริงแล้วมนุษย์นั้นอ่อนแอ
เมื่อนักออกแบบเทคโนโลยีไม่เข้าใจข้อจำกัดของมนุษย์ และไม่ยอมนำข้อจำกัดของมนุษย์มาพิจารณา ในการออกแบบสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบในตลาดหุ้น การประกันภัย การศึกษา ไปจนถึงการเกษตรและการรักษาพยาบาล เราจึงได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่สามารถเข้ากับมนุษย์ได้อยู่เต็มไปหมด
นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพยายามทำความเข้าใจ กับความอ่อนแอของมนุษย์ และมองหาวิธีช่วยให้มนุษย์สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งล่อใจต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมตัวเองได้มากขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวของตัวเองได้ในที่สุด โดยสรุปคือ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมต้องการค้นหาพลังที่หลบซ่อนอยู่ ที่มีผลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของเรา อย่างที่เราเองก็คาดไม่ถึงประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นหากเราสามารถเข้าใจว่า อะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งผลักดันพฤติกรรมของเราอย่างแท้จริง และอะไรที่ทำให้เราหลงออกนอกลู่นอกทาง เราจะสามารถควบคุมเงิน สัมพันธภาพ ทรัพยากร ความปลอดภัย และสุขภาพของเราได้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมด้วย
ส่วนบริษัทและผู้กำหนดนโยบายรวมถึงนักประดิษฐ์ ก็จะสามารถใช้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมมนุษย์นี้ ในการออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงานและการใช้ชีวิต เพื่อให้เข้ากับธรรมชาติของมนุษย์มากยิ่งขึ้น นั่นคือมนุษย์ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ทำได้ และทำไม่ได้
โบนัสกอนโตทำให้ CEO ทำงานแย่
ผลการทดลองที่ทำกับนักศึกษาสถาบัน MIT เพื่อจะดูความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนเงินโบนัสกับประสิทธิภาพ การทำงาน ด้วยการเปรียบเทียบการทำงานเชิงกายภาพง่ายๆ กับการทำงานที่ต้องใช้สมอง ให้คำตอบอย่างชัดเจน ว่า ทำไมเงินโบนัสก้อนโตกลับทำให้ CEO ทำงานแย่ลง ผลการทดลองพบว่า เงินโบนัสที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระตุ้นให้นักศึกษาผู้ทำการทดลองทำงานได้ดีขึ้น ถ้าหากงานนั้นเป็น งานง่ายๆ อย่างเช่นการกดแป้นคีย์บอร์ด แต่ถ้าหากว่างานนั้นเป็นงานที่ต้องใช้สมอง แม้เพียงแค่การคิดเลขง่ายๆ จำนวนเงินโบนัสที่มากขึ้น กลับทำให้ประสิทธิภาพการทำงานนั้นลดลง
บริษัทเกือบทั้งหมดพยายามล่อใจผู้บริหารด้วยเงินโบนัสก้อนโต โดยหวังว่านั่นจะทำให้พวกเขาทำงานได้อย่าง ดีที่สุด ถ้าหากงานของผู้บริหารเป็นการก่ออิฐโบกปูน นโยบายให้เงินโบนัสแบบนี้ก็คงได้ผล แต่เมื่องานของผู้บริหาร คือการที่ต้องคิด ตัดสินใจเกี่ยวกับการรวมกิจการ การซื้อกิจการ หรือการเกี่ยวข้องกับเครื่องมือการเงินที่แสนจะซับซ้อน เพราะเหตุนี้ เงินโบนัสก้อนโตจึงใช้ไม่ได้ผลตรงข้าม กลับทำให้ CEO จำนวนมากทำงานแย่ลง
สรุปของสรุปก็คือ การใช้เงินเป็นสิ่งจูงใจแต่เพียงอย่างเดียว เป็นดาบสองคม ในกรณีที่เป็นงานที่ต้องใช้การคิด การให้โบนัสต่ำหรือปานกลางกลับได้ผลดีกว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการให้สิ่งจูงใจสูงๆ แทนที่จะเป็นผลดี กลับทำให้คนมัวไปใส่ใจกับเงินโบนัสก้อนโตมากเกินไป คิดแต่อยากจะได้รางวัลก้อนโตนั้น ทำให้พวกเขาเกิดความเครียด สูง ในที่สุดก็ส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ทำไมเราไม่ช่วยคนที่เดือดร้อน “หลายคน”
ผลการศึกษาจำนวนมากพบว่า คนเราจะลงมือช่วย คนที่เดือดร้อนเป็นคนคนไป แต่จะเฉยเมยถ้าคนที่เดือดร้อน มีจำนวนมาก หรือความเดือดร้อนนั้นใหญ่เกินกว่าที่จะคิดจินตนาการไปถึงได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมข่าววิกฤตการณ์ภัยพิบัติใหญ่ๆ ที่มีความเสียหายมหาศาล กลับ ทำให้คนเราเฉยชามากกว่าจะทุกข์ร้อน เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราจึงควรพยายามเปลี่ยนวิธีคิดของเรา ในการแก้ปัญหาวิกฤติด้านมนุษยธรรมใหญ่ๆ อย่างเช่น หากมีข่าวแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทำลายเมืองทั้งเมือง และคร่าชีวิตผู้คนหลาย พันคนเกิดขึ้น ขอให้คุณพยายามคิดวาดภาพถึงคน 1 คนที่กำลังรอความช่วยเหลือ เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ยายแก่ๆ สู้ชีวิตที่กัดฟันเลี้ยงหลานตัวน้อยๆ ด้วยวิธีการคิดและมองเห็นภาพคนที่กำลังทุกข์ร้อนอย่างชัดเจนเช่นนี้ จะทำให้ความรู้สึกของเราทำงาน ทันทีที่อารมณ์ความรู้สึกของเราถูกปลุกให้ตื่นขึ้น เราจะเกิดความรู้สึกว่าต้องช่วยคนที่เดือดร้อนและเต็มใจอย่างยิ่งที่จะช่วยพวกเขา และจะช่วยอย่างเต็มที่
อารมณ์ชั่วแล่น เสียใจชั่วชีวิต
รถติดทำให้เราอารมณ์เสีย ของขวัญทำให้เราดีใจ แต่ไม่ว่าจะอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร้าย ความจริงคือ อารมณ์ เป็นสิ่งที่ไม่คงอยู่นาน เราไม่ได้อารมณ์เสีย มีความสุข หรือ ผิดหวังอยู่นานๆ แต่ถ้าเรา “ทำ” อะไรลงไป ตามอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เราอาจจะต้องอยู่กับความเสียใจกับสิ่งที่เราทำไปอีกนาน ถ้าเราส่งอีเมลที่เต็มไปด้วยความโกรธไปถึงหัวหน้า พูดอะไรที่ไม่ดีกับคนที่เรารัก หรือซื้อของที่เรารู้ว่าไม่มีเงินพอที่จะซื้อ เราอาจจะเสียใจในสิ่งที่เราทำลงไป ทันทีที่อารมณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้นหายไป
อิทธิพลของอารมณ์
เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหลีกเลี่ยงอิทธิพลของอารมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจะทำอย่างไรจึงจะรักษาความสัมพันธ์กับคนรักหรือสังคมเอาไว้ได้ คำแนะนำง่ายๆ อาจเป็นเราต้อง รู้จักเลือกคู่หรือเพื่อนที่เราจะคบ แต่เราจะเลือกอย่างไร ไม่ต้องอาศัยแบบทดสอบจิตวิทยา หมอดู หรือสถิติใดๆ สิ่งที่คุณต้องการทั้งหมดมีเพียงแม่น้ำ เรือแคนู 1 ลำ และพาย 2 อัน
เรือแคนูไม่ได้พายง่ายเหมือนกับที่เรารู้สึก และเมื่อเรือไปติดอยู่ในหิน การพายเรือแคนูดูเหมือนจะทำให้คนสองคนทะเลาะกันได้ง่ายขึ้น
การทะเลาะทุ่มเถียงจะเกิดขึ้นน้อยกว่ามาก หากคู่รักนัดดื่มกันที่บ้านหรือไปทานอาหารค่ำด้วยกัน ไม่ใช่เพราะคู่เดตต่างก็พยายามจะทำตัวให้ดูดีที่สุดในสายตาของ อีกฝ่ายเท่านั้น แต่เป็นเพราะนั่นเป็นการอยู่ในสถานการณ์ปกติ ที่มีระเบียบแบบแผนของพฤติกรรมที่เหมาะสมกำหนดไว้อย่างชัดเจน
การอยู่กลางแม่น้ำ พายเรือแคนู เป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้พบในชีวิตประจำวัน และไม่มีระเบียบแบบแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน สภาพแวดล้อมที่ไม่มีอะไรคาดเดาได้แบบนี้ เปิดโอกาสให้คนได้สร้างรูปแบบพฤติกรรมใหม่ขึ้น ถ้าคุณเป็นหนึ่งในสองคนบนเรือแคนู เมื่อเรือติดกับหิน คุณจะทำอย่างไร จะโทษอีกฝ่ายว่าทำผิดตลอดเวลา หรือโทษเรือ โทษแม่น้ำ คุณสองคนจะทะเลาะกันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระโดดลงจากเรือ และว่ายน้ำกลับไปคนเดียว และโกรธกันไปเลย หรือว่าทั้งสองคนจะช่วยกันแก้ปัญหา และคิดหา วิธีที่จะอยู่ร่วมกันต่อไปให้ดีที่สุด
ก่อนที่คุณจะตกลงปลงใจกับใครสักคนจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต่อไปอีกนาน คุณจึงควรจะค้นให้พบก่อนว่า เมื่อคุณและคนคนนั้นต้องเจอปัญหาร่วมกัน แต่ละคนจะมีพฤติกรรมอย่างไรในสถานการณ์ที่ไม่ใช่สถานการณ์ทางสังคมที่มีระเบียบแบบแผนของพฤติกรรมที่เหมาะสมกำหนดไว้
|
|
|
|