|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Multipliers
ผู้เขียน: Greg Mckeown, Liz Wiseman
ผู้จัดพิมพ์: Harper Business
จำนวนหน้า: 268
ราคา: $25.99
buy this book
|
|
|
|
เราทุกคนคงเคยเจอกับผู้นำ 2 แบบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้นำแบบแรกดูดเอาสติปัญญา พลังงานและความสามารถของคนรอบข้าง และต้องการจะเป็นคนฉลาดที่สุดอยู่คนเดียว นี่คือผู้นำแบบที่ฆ่าความคิดใหม่ๆ ดูดพลังงานไปเป็นของตัวเองคนเดียว และลดความฉลาดของคนอื่น ผู้นำแบบนี้เรียกว่า diminisher ตรงข้าม คือผู้นำที่ใช้ความฉลาดของเขา ทำให้คนอื่นฉลาดยิ่งขึ้นและเพิ่มความสามารถของคนที่อยู่รอบตัวเขา เมื่อผู้นำแบบนี้เดินเข้ามาในห้องเขาเหมือนกับนำแสงสว่างมาด้วย ความคิดใหม่ๆ ผุดขึ้นมา และปัญหาได้รับการแก้ไข
นี่คือผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานใช้ความสามารถอย่างสุดกำลัง เพื่อสร้างผลงานที่ดีที่สุดจนเหนือความคาดหมาย ผู้นำแบบนี้คือผู้นำที่เรียกว่า Multiplier โลกต้องการผู้นำแบบนี้มากๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้นำถูกคาดหวังให้สร้างผลงานได้มากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง
Liz Wiseman ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำกับ Greg McKeown ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ เขียนหนังสือเล่มนี้ Multipliers: How the Best Leaders Make Everyone Smarter จากการศึกษาผู้นำทั้งสองแบบอย่างทะลุปรุโปร่ง พบว่ามีคุณลักษณะ 5 ประการที่แยกผู้นำที่พึงปรารถนา Multiplier ออกจากผู้นำแบบ Diminisher และพบว่าผู้นำแบบ Multiplier สามารถทำให้พนักงาน ทำงานได้ดีขึ้นเป็นสองเท่า ข่าวดีคือลักษณะ 5 ประการดังกล่าว ไม่ใช่พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หากแต่เป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้
อัจฉริยะ หรือนักสร้างอัจฉริยะ
ผู้นำแบบ Multiplier สามารถดึงเอาความฉลาดของคนอื่นๆ ออกมาและสามารถทำให้ความฉลาดระบาดไปทั่วทั้งองค์กร ส่วนผู้นำแบบ Diminisher ดูดกลืนความฉลาดของคนอื่น ปิดกั้นความสามารถของคนอื่น และทำให้องค์กรต้องสูญเสียความฉลาดและความสามารถที่สำคัญไป
คุณเป็น หรือต้องการผู้นำแบบไหน เป็นอัจฉริยะเสียเองหรือเป็นนักสร้างอัจฉริยะ
ผู้นำแบบ Multiplier เป็นนักสร้างอัจฉริยะทุกๆ ที่อยู่รอบข้าง เขาจะฉลาดขึ้นและเก่งขึ้น อาจจะไม่ถึงกับกลายเป็นอัจฉริยะ แต่ ผู้นำประเภทนี้ช่วยปลุกความฉลาดในตัวของแต่ละคนขึ้นมา และสร้างบรรยากาศอัจฉริยะ การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความกระตือ รือร้นในการสร้างผลงาน และการเพิ่มความฉลาดโดยรวมขององค์กร ตัวอย่างผู้นำแบบ Multipler
Lutz Ziob ผู้จัดการใหญ่ Microsoft Learning ยอมให้พนักงานทำผิดพลาดและให้มีการถกเถียง เมื่อต้องมีการตัดสินใจสำคัญๆ เขาเรียกร้องสิ่งที่ดีที่สุดจากพนักงาน และไม่รวบความดีความชอบไว้คนเดียว แต่แบ่งปันความสำเร็จกับทีมงาน
Narayana Murthy ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Infosys Technologies ของอินเดีย ผู้ทำให้บริษัทมีรายได้ 4,600 ล้านดอลลาร์ ในเวลาเพียง 20 ปี กลายเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดและประสบ ความสำเร็จมากที่สุดของอินเดีย มีพนักงานมากกว่า 100,000 คน Murthy ว่าจ้างพนักงานที่ฉลาดกว่าตัวเขาและให้โอกาสพวกเขามีส่วนร่วม รวมทั้งวางทีมบริหารที่จะสืบทอดต่อจากเขาโดยไม่มีสะดุด
คุณสมบัติของ Multiplier
1. เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนเก่ง และพัฒนาให้เขาเก่งที่สุด
2. ให้เสรีภาพในการคิด และต้องการให้คุณคิดให้ดีที่สุด
3. เป็นนักท้าทาย
4. เป็นนักจุดประเด็นการถกเถียงก่อนการตัดสินใจครั้งสำคัญ
5. เป็นนักลงทุนผู้สามารถและได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดี
นักลงทุนที่ดี
เมื่อ John Chambers CEO ของ Cisco ว่าจ้างนักบริหาร มาเป็นผู้ช่วยเขาเป็นครั้งแรก เขามอบอำนาจการควบคุมทั้งหมดในสายการสนับสนุนลูกค้าให้แก่รองกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ โดยกล่าวอย่างชัดเจนว่า “Doug ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานของคุณ คุณมีสิทธิ์ออกเสียง 51% และต้องรับผิดชอบ 100% ของผลที่เกิดขึ้น และคุณสามารถปรึกษาผมได้ตลอดเวลา” ด้วยการบอกกล่าวอย่างชัดเจนว่า Doug มีสิทธิ์ตัดสินใจ 51% Chambers ทำให้ Doug รู้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนอย่างชัดเจน โดยที่ไม่ต้องมานั่งคอย เดาใจผู้เป็นนาย ไม่ต้องคอยระแวงว่า จะถูกขโมยผลงาน ทำให้ Doug สามารถแสดงสติปัญญาความสามารถอย่างเต็มที่
ผู้นำแบบ Multiplier ต้องมีคุณสมบัติเป็นนักลงทุนหมายถึง การที่เขาได้มอบทรัพยากรและอำนาจแก่ผู้ใด ก็คือการลงทุนที่ผู้นั้น จะต้องสร้างผลงานตอบแทนกลับมาอย่างเต็มที่ เพราะนี่ไม่ใช่การให้เปล่าๆ หรือเป็นการกุศล แต่เป็นการลงทุนที่จะต้องได้รับผลตอบ แทนการลงทุนที่ดี
ใครฉลาดที่สุด
Bono ซูเปอร์สตาร์เพลงร็อกและนักรณรงค์ระดับโลกเล่าว่า กล่าวกันว่าหลังจากได้พบอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ William Ewart Gladstone คุณจะรู้สึกว่าได้พบกับคนที่ฉลาดที่สุดในโลก แต่หลังจากได้พบกับคู่แข่งคนสำคัญของเขา Benjamin Disraeli คุณจะจากมาพร้อมกับความรู้สึกว่า คุณเป็นคนฉลาดที่สุดในโลก เรื่องเล่าของ Bono ดูจะเป็นบทสรุปได้อย่างดีถึงคุณลักษณะของผู้นำแบบ Multiplier
|
|
|
|