|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Macrowikinomics
ผู้เขียน: Don Tapscott, Anthony D. Williams
ผู้จัดพิมพ์: Portfolio
จำนวนหน้า: 424
ราคา: $27.95
buy this book
|
|
|
|
Don Tapscott และ Anthony Williams 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และเจ้าของหนังสือ Macrowikinomics เล่มนี้เป็นผู้คิดคำว่า wikinomics ซึ่งหมายถึงการที่หลักการ “wiki” บนโลกอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ขณะนี้ หลักการของ wikinomics กำลังมีความสำคัญมากกว่าเพียงในโลกธุรกิจ
สถาบันหลักต่างๆ ที่เคยรับใช้เราอย่างดีมาหลายทศวรรษ หรือแม้แต่หลายศตวรรษนั้น ดูเหมือนว่าจะยึดติดอยู่กับอดีตและ หมดความสามารถที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าแล้ว ขณะนี้ทั่วทุก มุมโลกกำลังเกิดนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบใหม่ไปทั่วทุกภาคส่วน โดยกลุ่มคนที่ใช้เครื่องมือใหม่ๆ บนอินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือในการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างโลกที่เจริญรุ่งเรืองมาก ยิ่งขึ้น มีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้นและมีความยั่งยืน
ในทุกแวดวงขณะนี้ ตั้งแต่เรื่องการเงินจนถึงการรักษา พยาบาล วิทยาศาสตร์จนถึงการศึกษาและสื่อมวลชน จนถึงสิ่งแวดล้อมต่างกำลังพบกับจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์กับการที่ต้องตัดสินใจเลือกว่า จะยึดติดอยู่กับกระบวนทัศน์เก่ายุคอุตสาหกรรมอยู่ต่อไป หรือจะหันมาใช้นวัตกรรมที่ส่งเสริมความ ร่วมมือกัน เพื่อปฏิวัติวิธีการทำงานแบบเก่าๆ ตลอดจนวิธีการใช้ชีวิต การเรียนรู้ การสร้างสรรค์ และการปกครองไปจนถึงการดูแลห่วงใยซึ่งกันและกัน
Macrowikinomics ยกตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ในการนำหลักการของ wikinomics ไปใช้เพื่อการเริ่มต้นใหม่และเปลี่ยนแปลงโลก
ปิดสวิตช์โลก แล้วเปิดใหม่
Wikinomics เป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2006 หรือเรียกว่า mass collaboration เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งการร่วมมือกันบนโลกอินเทอร์เน็ตในทางธุรกิจ แต่ขณะนี้ wikinomics กำลังเติบโตจากเพียงในโลกธุรกิจ หรืออาจกล่าวว่า เติบโตจากระดับจุลภาค (micro) ไปสู่ระดับมหภาค (macro) กล่าวคือหลักการของ wikinomics กำลังถูกนำไปใช้กับระดับสังคมและสถาบันทั้งหมดของสังคม
องค์กรยังคงสามารถประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรือง ได้ ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่เป็นยุคของเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร ออนไลน์ หากนำหลักการสำคัญ 5 ข้อของ wikinomics ไปใช้
1. การร่วมมือกัน (collaboration) ในสภาพแวดล้อมใหม่ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้นและเกี่ยวพันถึงกันทั่วโลกอย่างยุคนี้ ทำให้สถาบันดั้งเดิมที่ปกครองตามลำดับขั้น ดูเหมือนจะถึงขีดจำกัด แล้ว แม้กระทั่งอาจกลายเป็นภาระมากกว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม
2. การเปิดกว้าง (openness) กินความหมายกว้างขวางตั้งแต่ความตรงไปตรงมา ความโปร่งใส เสรีภาพ ความยืดหยุ่น ความใจกว้าง การมีส่วนร่วม ไปจนถึงการเข้าถึงได้ในยุคดิจิตอล องค์กรที่ชาญฉลาดได้มีการคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องการเปิดกว้าง และเริ่มต้นท้าทายแนวคิดธุรกิจแต่ดั้งเดิม ด้วยการเปลี่ยนแปลงยกเครื่อง บทบาทหน้าที่และสถาบันต่างๆ ในสังคมเสียใหม่
3. การแบ่งปัน (sharing) ถ้าการเปิดกว้างหมายถึง การสื่อสารอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับบริษัท รัฐบาลหรือองค์กรอื่นๆ การแบ่งปันก็อาจจะหมายถึงการเปิดเผย หรือการจัดการกับข้อมูลที่เป็นสินทรัพย์ขององค์กร ด้วยการนำข้อมูลนั้นไปจัดวางในที่ที่คนอื่นสามารถนำไปใช้ได้หรือยอมเปิดเผยให้แก่ผู้ใช้ที่สนใจ โดยอาจเป็นการทำการตกลงทางธุรกิจ ซึ่ง จะทำให้คุณสามารถสร้างรายได้จากการขาย license
4. ความซื่อสัตย์ บริษัทและองค์กรต่างๆ ถูกควบคุมให้ต้อง กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ใช่เฉพาะจากผู้คุมกฎหรือจาก ผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่เป็นเพราะพลังของยุคแห่งเครือข่ายที่สลับซับซ้อน ซึ่งเน้นในเรื่องความโปร่งใสอย่างมาก อย่างในยุคนี้
5. การเกี่ยวพันถึงกัน การเกี่ยวพันถึงกันของการกระทำและ เหตุการณ์ต่างๆ ทำให้เราไม่มีทางเลือก นอกจากต้องพยายามร่วม มือกัน ผ่านการแบ่งงานกันทำแบบใหม่ระหว่าง 4 เสาหลักของสังคม คือธุรกิจ รัฐบาล ภาคเอกชน และเสาหลักใหม่ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจาก อินเทอร์เน็ต นั่นคือสิทธิของการเป็นปัจเจกชน (individual citizen)
การปฏิวัติการคมนาคม
ขณะนี้มีการก่อสร้างและทดสอบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในรูปแบบใหม่ๆ ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในหลายๆ ประเทศ โดยหวังว่าโครงสร้างพื้นฐานนั้นจะช่วยส่งเสริมการใช้รถพลังงาน ไฟฟ้าทั่วโลกและยุติการพึ่งพิงน้ำมันโดยสิ้นเชิง บริการรถเช่าแบบใหม่ของ Zipcar เริ่มเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของรถ หากมีการสร้างเครือข่ายข้อมูล การคมนาคมขนส่ง ก็อาจจะช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากถนนได้สูงสุด และก่อให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ๆ ตั้งแต่การจัดการจราจรแบบ real-time ไปจนถึงการชอปปิ้งในรถ
กฎการสร้างองค์กร macrowikinomics
macrowikinomics คือโลกที่มีความจริง 2 ขั้วที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ขั้วหนึ่งคือสถาบันต่างๆ ที่เคยรับใช้เราด้วยดีมาตลอด หลายสิบหรือหลายร้อยปีที่ผ่านมา กำลังอยู่ในสภาพชะงักงันและหมดความสามารถที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต ส่วนอีกขั้วหนึ่งคือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่คนใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ ใหม่ๆ ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ทำให้แต่ละคนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม มากขึ้นในการสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่า ยุติธรรมกว่าเดิม รุ่งเรืองกว่าเดิมและอย่างยั่งยืน นี่คือการปะทะกันของความเสื่อมกับการเริ่มต้น ใหม่ ความหยุดนิ่งกับการฟื้นตัว และเป็นสิ่งที่องค์กรทุกแห่ง ผู้นำ ทุกคนจะต้องเลือกระหว่างการเข้าร่วมกับการโละทิ้งโมเดลเก่าๆ วิธีการเก่าๆ และโครงสร้างเก่าๆ หรือจะนั่งดูเฉยๆ และปล่อยให้สถาบันต่างๆ กลายเป็นอัมพาตหรือแม้กระทั่งพังทลายลงไปต่อหน้า เรากำลังพูดถึงการสร้างใหม่และยกเครื่องสถาบันที่กำลังเสื่อมสลาย รวมถึงวิธีการทำงานที่ล้าสมัย
หนังสือเล่มนี้ได้ทำการศึกษาองค์กรหลายร้อยแห่งในหลายภาคส่วนของสังคม และพบว่ามีกฎอยู่ 6 ข้อที่บุคคล หรือกลุ่มที่ประสบความสำเร็จได้ปฏิบัติตาม และสามารถนำหลักการของ wikinomics ใส่เข้าไปในองค์กรของพวกเขา
1. สร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่อย่าหวง แทนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แล้วปกป้องหวงแหนอย่างสุดชีวิต เหมือนที่องค์กรส่วนใหญ่ นิยมทำ คุณควรเปลี่ยนให้สิ่งที่คุณสร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือบริการ ให้อยู่ในรูปที่คนอื่นๆ สามารถจะเข้าไปจัดการได้ด้วยตัวของพวกเขา และสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ๆ เพิ่มเติมลงไปได้อีก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คุณต้องไม่เพียงเป็นนักสร้างสรรค์ แต่ต้องเป็นเหมือนภัณฑารักษ์ ที่ทำหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาผลงานสร้างสรรค์ของคนอื่นๆ ด้วย
2. คิดใหม่เกี่ยวกับการแบ่งปัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ คุณจำเป็นต้องรู้จักแบ่งปันทรัพย์สินทางปัญญา จงคิดดูว่า มีส่วนใดบ้าง ในกิจกรรมทางธุรกิจของคุณ ที่สามารถจะทำกำไรได้ หากยอมเปิดเผยให้คนอื่นรู้ และส่วนใดบ้างที่ยังคงต้องเก็บไว้เป็นความลับ
3. ลดการควบคุม นี่คือความจริงที่ขัดแย้งว่าการจะสามารถ ควบคุมอนาคตในโลกที่ผันผวนเช่นนี้ได้ คุณต้องหัดปล่อยมือจากการควบคุม ทั้งเพื่อกระตุ้นให้คนในองค์กรของคุณมีความสามารถในการจัดการตัวเองเป็นและช่วยคุณแก้ไขปัญหาด้วยความคิดใหม่ๆ
4. หากองหน้า ผู้นำที่สามารถสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในวงกว้างได้ มักจะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นเสมือนกองหน้า หน่วยกล้าตาย คุณจะต้องมองหาให้พบคนกลุ่มนี้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่พวกเขา กระตุ้นพวกเขาด้วยสิ่งจูงใจ การยอมรับความ สามารถและการเลื่อนตำแหน่ง ให้คนเก่งๆ เหล่านั้นได้เป็นผู้นำ
5. สร้างวัฒนธรรมการร่วมมือ จะทำให้การเปลี่ยนแปลงที่คุณสร้างขึ้นในองค์กรคงอยู่ต่อไปอย่างถาวร จงก้าวข้ามระบบอาวุโส แบบเก่าและสร้างระบบที่ยึดถือคุณความดีเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งเสริม ให้เกิดความคิดใหม่ๆ และทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลอย่างเสรีไปทั่วทั้งองค์กร
6. เพิ่มอำนาจให้แก่ชาว Net Generation คนหนุ่มสาวปัจจุบัน นับเป็นคนกลุ่มแรกของโลกที่เติบโตขึ้นมาโดยเข้าใจในโลก ดิจิตอลและศักยภาพของโลกดิจิตอลมาตั้งแต่เกิด การร่วมมือเป็นธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ ผู้นำที่ฉลาดจะสามารถใช้ประโยชน์จากความจริงข้อนี้ ด้วยการเพิ่มอำนาจให้แก่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้นำกระบวนการยกเครื่องสถาบันเก่าๆ
|
|
|
|