|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Turnaround Leadership
ผู้เขียน: Shaun O’Callaghan
ผู้จัดพิมพ์: Kogan Page
จำนวนหน้า: 200
ราคา: $29.95
buy this book
|
|
|
|
วิกฤติที่เกิดขึ้นกับธุรกิจมีทั้งเล็กและใหญ่และหลายรูปแบบ สาเหตุของวิกฤติอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค หรืออาจเป็นปัญหาใหญ่ทั้งระบบอันมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจถดถอย ความจริงอย่างหนึ่งคือ หากคุณทำธุรกิจมานานพอสมควร คุณมีโอกาสจะต้องเจอกับวิกฤติอย่างแน่นอน และต้องมีสักครั้งที่คุณต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหาร และการเป็นผู้นำในยามวิกฤติ
Turnaround Leadership จะช่วยให้คุณพลิกฟื้นธุรกิจหลังจากเกิดวิกฤติได้และยังจะช่วยให้มองเห็นสาเหตุต่างๆ ที่อาจนำไปสู่วิกฤติ เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ ก่อนที่วิกฤติจะเกิด พร้อมชี้แนะทักษะความรู้ที่ผู้นำควรต้องมี เพื่อนำพาบริษัทฝ่าพ้นวิกฤติและพลิกฟื้นธุรกิจหลังจากเกิดวิกฤติได้สำเร็จ
ทักษะผู้นำ 5 ประการฝ่าวิกฤติ
ความจริงง่ายๆ อย่างหนึ่งคือ บริษัทใดก็ตามที่คงอยู่ มานานกว่าหนึ่งชั่วคน จะต้องมีสักครั้งที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในตลาด หรือเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยหรือวิกฤติที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ ผู้นำจึงต้องมีทักษะความรู้ที่จะพลิกฟื้นบริษัทหลังจากเกิดวิกฤติ ทักษะเหล่านั้นได้แก่
1. ให้สัญญาอย่างเหมาะสม หลังเกิดวิกฤติ ผู้นำจะต้องตัดสินใจว่า จะให้คำสัญญาอะไร จึงจะถูกต้องเหมาะสมกับผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจ ซึ่งมีหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า นักลงทุน พนักงาน เจ้าหนี้ และซัปพลายเออร์ การให้สัญญาหลังเกิดวิกฤติ หมายถึงการส่งมอบแผนพลิก ฟื้นธุรกิจที่จะพลิกฟื้นธุรกิจได้สำเร็จ
2. รวบรวมความคิดมุมมองใหม่ๆ ที่หลากหลาย ในการวางแผนฟื้นธุรกิจ ผู้นำจำเป็นต้องรวบรวมความคิด และมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างและหลากหลาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผน
3. พัฒนาทักษะทางธุรกิจที่จำเป็น เป็นทักษะเดียว กับที่ผู้นำเคยใช้ในการบริหารธุรกิจในยามปกติ แต่ในยาม วิกฤติ คุณอาจต้องเติมความเข้ารู้ความเข้าใจใหม่ๆ ลงไป ในทักษะเหล่านั้น ซึ่งได้แก่ การบริหารกระแสเงินสดและการบริหารเวลา การวางแผนพลิกฟื้นธุรกิจหลังเกิดวิกฤติ การรักษายอดขาย และการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
4. สร้างผลงานด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคม เครือข่ายสังคมทั้งภายในและภายนอกบริษัท คือแหล่งกำเนิดของความคิดใหม่ๆ และโมเดลการทำธุรกิจใหม่ๆ ยิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายเหล่านี้มากเท่าใด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจก็ยิ่งมีมากเท่านั้น
5. ฟื้นความไว้วางใจด้วยการสื่อสารที่จริงใจ
สาเหตุที่เรือไททานิคจม
คำว่า crisis ซึ่งแปลว่าวิกฤติ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก krisis ความหมายดั้งเดิม แปลว่า “การตัดสินใจ” วิกฤติในทางธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจของคุณ เกิดเปลี่ยนแปลงความคิดหรือมุมมองที่เคยมีต่อธุรกิจของคุณ หรือต่อภาคธุรกิจ หรือต่อเศรษฐกิจโดยรวม หรือต่ออนาคต หรือเมื่อธุรกิจของคุณล้มเหลวในการรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย โดยที่ความล้มเหลวนั้นอาจมีสาเหตุมาจากการที่ผู้มีส่วนได้เสีย เปลี่ยนมุมมองความคิดที่เคยมีต่อบริษัทของคุณ
การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียต่อธุรกิจของคุณอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะมุมมองความคิดของพวกเขา รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของวิกฤติ จะเป็นเหมือนระฆัง เตือนอันตราย ที่จะปลุกให้คุณมองเห็นปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหาทางป้องกันปัญหานั้น ไม่ให้ลุกลามใหญ่โตจนกลาย เป็นวิกฤติ สาเหตุที่ทำให้เรือไททานิคจม อาจมีหลายอย่าง แต่สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ มุมมองความคิดของฝ่ายบริหาร บริษัท White Star Line เจ้าของเรือสำราญยักษ์ลำนี้ที่มีต่อเรือไททานิคเอง นั่นคือ การที่พวกเขาคิดว่าเรือลำนี้จะไม่มีวันจม
เตรียมพร้อมเสมอ
สาเหตุของวิกฤติมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอกได้แก่วัฏจักรธุรกิจ พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค ตัวผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และสุดท้ายคือการแทรกแซงจากภายนอก
การพยากรณ์วัฏจักรการขึ้นลงของธุรกิจอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้นำควรทำ บางทีสำนวนโบราณอย่าง “หวังในสิ่งที่ดีที่สุด แต่วางแผนพร้อมรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุด” ยังคงเป็นจริงเสมอ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม ดีหรือเลว แต่คุณจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันไว้ได้เสมอ หากคุณสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากขึ้น จากแหล่งทรัพยากรภายในบริษัท
ตามปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงนิสัยการใช้จ่ายของ ผู้บริโภค ถ้าเกิดขึ้นในสภาพที่ธุรกิจแข่งขันกันตามปกติจะไม่ถือว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดวิกฤติกับธุรกิจได้ แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค จะเป็น สาเหตุของวิกฤติได้ทันที ถ้าหากฝ่ายบริหารของบริษัทไม่ใส่ใจการเปลี่ยนแปลงนั้น หรือการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด จึงผิดพลาดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างกะทันหัน ซึ่งฝ่ายบริหารไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ก็เป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤติได้ ความรู้สึกของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เกี่ยวกับความรวยความจนของตัวเอง และเกี่ยวกับความมั่นคงในอาชีพการงานของตัวเอง คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะคงอยู่ได้อีกนานหลายปี
การเปลี่ยนแปลงกับการเกิดวิกฤติ
ปัจจัยภายนอกประการที่สาม ที่อาจเป็นสาเหตุของวิกฤติในธุรกิจ คือการเกิดขึ้นของนวัตกรรม ซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ตามปกติผู้นำควรจะต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะต้องพบเจอกับการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ และควรเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติในธุรกิจ และโดยตัวมันเองไม่ได้เป็นสาเหตุของวิกฤติ หากแต่ความล้มเหลวหรือความไม่ใส่ใจของผู้นำในการรับมือกับ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดต่างหากที่เป็นสาเหตุของวิกฤติ
การแทรกแซงจากภายนอกที่สำคัญ คือการเปลี่ยน แปลงทางกฎหมายที่มีผลต่อบริษัท ภาคธุรกิจหรือต่อเศรษฐกิจโดยรวม นับเป็นวิกฤติที่น่ากลัวที่สุด เพราะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า และผู้นำแทบไม่มีเวลาหรือทางเลือกในการรับมือ แต่กลับมีผลกระทบที่สูงมาก ถึงขั้นทำให้บริษัทล่มสลายได้
ส่วนปัจจัยภายในที่เป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤติกับธุรกิจนั้น มาจากความผิดพลาดในการบริหารของผู้นำ ได้แก่ การผิดสัญญาต่อผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสียต่อบริษัท ความล้มเหลวผิดพลาดในการตัดสินใจ การมองโลกในแง่ดีเกินไป และการไม่ใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลง
ผู้นำกับวิกฤติ
การผิดสัญญาที่ให้ไว้ต่อผู้บริโภคหรือผู้มีส่วนได้เสีย ต่อบริษัท อาจเกิดจากความล้มเหลวในการทำตามสัญญาของบริษัท หรือเกิดจากผู้บริโภคหรือผู้มีส่วนได้เสีย ได้เปลี่ยนแปลงความคิดและมุมมองที่เคยมีต่อบริษัท ทำให้มองว่า บริษัทไม่สามารถรักษาคำสัญญาที่เคยให้ไว้ได้ อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่บริษัทเองก็ลืมไปว่า เคยให้สัญญา อะไรไว้บ้างกับผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสีย และได้ทำตามสัญญานั้นแล้วหรือไม่ ดังนั้น ผู้นำจึงต้องหมั่นทบทวนและประเมินคำสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสีย ว่าบริษัทยังรักษาสัญญานั้นดีอยู่หรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือ นักลงทุนจะต้องรับรู้ด้วยว่า บริษัทยังคงรักษาสัญญานั้นอยู่
การตัดสินใจของผู้นำบนหอคอยงาช้าง โดยไม่ได้สนใจหรือเข้าใจสภาพความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจ อย่างรอบด้าน 360 องศา เป็นอีกสาเหตุของวิกฤติที่เกิดจากภายใน
นอกจากนี้ การที่ผู้นำมักมองทุกอย่างในแง่ดีเกินกว่าความเป็นจริง จะทำให้รับมือกับปัญหาสายเกินไป การขาดความใส่ใจต่อสิ่งรอบข้าง และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดและในธุรกิจอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่อาจตามทันกระแสการเปลี่ยนแปลง หรือภัยคุกคามใหม่ๆ ได้ และไม่อาจแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
|
|
|
|