|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Spark
ผู้เขียน: Frank Koller
ผู้จัดพิมพ์: Public Affairs
จำนวนหน้า: 249
ราคา: $25.95
buy this book
|
|
|
|
Lincoln Electric ผู้ผลิตเครื่องเชื่อมโลหะใน Cleveland สามารถเอาตัวรอดจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง เศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) มรสุม กระแสโลกาภิวัตน์ ยุคแห่งการตกต่ำของอุตสาหกรรมในอเมริกา และวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด โดยที่ยังคงมีผลกำไรที่น่าประทับใจตลอดเวลาอายุของบริษัทซึ่งเก่าแก่นานกว่า 100 ปี
Spark จะเผยความลับที่น่าประหลาดใจของ Lincoln Electric ที่จะทำให้เห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อบริษัทมองเห็นพนักงานเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า ไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่าย
ที่ Lincoln พนักงานทุกคนทั้งหมด 3,300 คน สามารถเข้าถึง CEO ได้ตลอดเวลา หากมีปัญหา หรือมีความคิดใหม่ๆ ที่นี่ไม่มีการกันที่จอดเป็นพิเศษให้ผู้บริหาร ระดับสูงทุกคนใช้ประตูเดียวกัน กินข้าวที่โรงอาหารเหมือน กัน พนักงานที่มีอายุงานครบ 3 ปีแล้ว จะได้เข้าโครงการ “รับประกันการจ้างงาน” อันเป็นนโยบายมีชื่อเสียงของบริษัทนี้ ซึ่งเป็นการให้สัญญาจากบริษัทว่า บริษัทจะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการลอยแพพนักงาน
Lincoln Electric สร้างความแข็งแกร่งขึ้นมาจากทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของบริษัท นั่นคือคน และพนักงานทุกคนรู้ว่า ตราบใดที่พวกเขาทุ่มเททำงานหนักให้บริษัท บริษัทก็จะทำงานหนักเพื่อพวกเขาเช่นเดียวกัน
ไม่เคยปลดพนักงานแม้แต่คนเดียว
Lincoln Electric ก่อตั้งขึ้นมากว่า 100 ปีแล้ว เมื่อปี 1895 ที่ Cleveland ในสมัยที่ Cleveland ยังเป็นหนึ่ง ในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ แต่นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดาบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เคยอยู่ที่นี่ ต่างพากันทิ้งเมืองนี้ไป เหลือแต่ Lincoln Electric ที่ยังคงอยู่ และยังขยายธุรกิจออกไปเรื่อยๆ รวมทั้งซื้อสินทรัพย์ของบริษัทอื่นๆ ที่ทิ้งไป แถมยังลงทุนมหาศาลในการตั้งศูนย์วิจัยใหม่ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เชื่อมโลหะ และขยายธุรกิจไปต่างประเทศ
เมื่อสิ้นปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ทั่วโลก แต่พนักงานทั้ง 3,300 คนของ Lincoln ยังคงอยู่ครบ แถมยังได้รับโบนัสจุใจเหมือนเดิม ตลาดเชื่อม โลหะทั่วโลกก็ประสบวิกฤติจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ไม่ต่าง จากอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดประวัติ ศาสตร์อันยาวนานของ Lincoln ทำให้พนักงานมั่นใจว่า บริษัทจะต้องอยู่รอดได้อีกครั้ง ตลอดกว่า 60 ปีที่ผ่านมา Lincoln ไม่เคยเลิกจ้างพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะปัญหาเศรษฐกิจแม้แต่คนเดียว นโยบายนี้บรรจุอยู่ในคู่มือพนักงานด้วย และตลอด 74 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1934 ไม่เคยมีแม้แต่ปีเดียวที่บริษัทไม่จ่ายโบนัส และพนักงานได้โบนัสเฉลี่ยคนละมากกว่า 60% ของรายได้ มีหลายปีที่พนักงานได้โบนัสมากกว่า 100% ของรายได้ แม้กระทั่งเมื่อสิ้นปี 2008 ในขณะที่พนักงานทั่วสหรัฐฯ ถูกลอยแพ แต่พนักงานของ Lincoln กลับยังคงได้รับโบนัสเฉลี่ย 61% ของรายได้ หรือประมาณคนละ 28,873 ดอลลาร์ บริษัทไม่มีการปลดพนักงานในสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แม้แต่คนเดียว
2 พี่น้อง Lincoln
ในปี 1985 John C. Lincoln วัย 29 ปี ผู้มีภรรยา และลูกเล็กๆ 2 คน ถูกปลดออกจากงานในบริษัทผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าใน Cleveland John ตัดสินใจเลิกชีวิตลูกจ้าง และเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง เขาเปิดบริษัทชื่อว่า Lincoln Electric Co. รับออกแบบและผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ตามความต้องการของลูกค้า เขาริเริ่มประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ หลายอย่างแม้กระทั่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่ในขณะนั้น รถยนต์ที่ใช้น้ำมันกำลังเป็นที่นิยม และไม่มีที่ว่างในตลาดให้แก่รถยนต์พลังไฟฟ้า นอกจาก John จะไม่ตีโพยตีพาย อะไรแล้ว เขายังกลับค้นพบตลาดใหม่ที่ดูมีอนาคต เพราะกระแสไฟฟ้ากำลังแรงที่ผลิตจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ John คิดประดิษฐ์ขึ้นนั้น สามารถทำได้มากกว่าเป็นแค่เครื่องชาร์จ แบตเตอรี่ให้รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น เพราะสามารถสร้างกระแสไฟที่มีความร้อนสูงมากขนาดหลอมเหล็กกล้าได้
เมื่อบริษัทของ John เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 1907 Lincoln Electric มีพนักงานมากกว่า 30 คน และต้องการคนมาดูแลรับผิดชอบสำนักงานส่วนหน้า James F. Lincoln น้องชายที่ยังเป็นนักศึกษาของ John ตกลงเข้าทำงานในบริษัทของพี่ชายและลาออกกลางคัน จากการเป็นนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่รัฐโอไฮโอ James ทำงานเป็นผู้บริหารได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งๆ ที่อายุยังน้อย
ภายในเวลาเพียง 2 ปีหลังจาก James เข้ามาเป็นกำลังสำคัญ Lincoln สามารถออกแบบ ผลิตและขายตู้เชื่อมโลหะยักษ์หนักมากกว่า 1,500 ปอนด์เครื่องแรกได้สำเร็จ หลังจากนั้น John ก็ได้รับสิทธิบัตรมากมาย และทำให้ Lincoln กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม เกิดใหม่นี้ ในที่สุด John แต่งตั้ง James น้องชาย ผู้มีวัยเพียง 31 ปี เป็นผู้จัดการใหญ่ บุรุษผู้น้องของตระกูล Lincoln มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ เขามีบารมีที่น่าประทับใจ นับตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานในบริษัทพี่ชาย James สามารถผูกใจพนักงานได้ทุกคน ภายใต้การนำของ James บริษัทมีแต่ความเจริญก้าวหน้าตลอดมา และกลายเป็นผู้นำ ในอุตสาหกรรมเชื่อมโลหะของโลกจนถึงทุกวันนี้
หลักการบริหารของ Lincoln ที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ อย่างประสบความสำเร็จ มีทั้งหมด 4 ข้อ และล้วนมีที่มาจาก James 1) นโยบาย “ประตูที่เปิดตลอดเวลา” ส่งเสริมการติดต่อสื่อสารภายในของทุกคนในบริษัท 2) หลักการให้ค่าจ้างเป็นรายชิ้นงาน 3) พนักงานทุกคนจะได้รับโบนัสตามหลักความดีความชอบ และ 4) ระบบรับประกันการจ้างงาน
James เชื่อว่า บริษัทจะไม่สามารถจูงใจพนักงานให้ทำงานหนักได้ ด้วยการใช้เงินเพียงอย่างเดียว แต่อย่างแรกสุดที่บริษัทต้องทำก่อนอื่นใดคือ ต้องมองเห็นพนักงาน เป็นคนเหมือนกัน และเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการผลิตสินค้า ที่มีคุณค่า James เชื่อว่า หากพนักงานทุกคนรู้สึกว่า พวกเขาได้รับการเคารพในความเป็นคนอย่างแท้จริงแล้ว พนักงานทุกคนจะขยันทำงานเองด้วยความเต็มใจ
ไม่ใช่องค์กรการกุศล
หามิได้ Lincoln Electric มิได้กำลังทำตัวเป็นองค์กรการกุศลหรือผู้ใจบุญ ระบบการันตีการจ้างงาน มีเงื่อนไขหลายอย่างที่พนักงานจะต้องทำให้ได้ถึงตามมาตรฐานประสิทธิภาพทำงานที่บริษัทตั้งไว้ และหากทำไม่ได้ก็มีบทลงโทษ นอกจากนี้ตลอดเวลา 114 ปีที่บริษัท ตั้งมา ไม่ว่าจะวัดความสำเร็จของบริษัทด้วยมาตรวัดทางธุรกิจใดๆ Lincoln ก็สอบผ่านอย่างงดงาม
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ Lincoln ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งแชมป์บริษัทผลิตเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับงานเชื่อมโลหะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะนี้บริษัทมีโรงงานอยู่ใน 20 ประเทศ แถมยังขยายธุรกิจ ในโลกได้ แม้กระทั่งในช่วงที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ นับตั้งแต่กลายเป็นบริษัทมหาชนในปี 1995 Lincoln ก็กลายเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเยี่ยมยอดในตลาดหุ้น Wall Street ในฐานะที่สามารถสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งได้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากทักษะของทีมบริหาร
Lincoln ยังคงไม่หยุดขยายฐานการผลิตใหม่ๆ ใน Cleveland สถานที่ตั้งบริษัทมาตั้งแต่เมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษ ก่อน ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ ล้วนแต่ปิดโรงงานหรือย้ายออกไปจากเมืองนี้ ด้วยผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ นอกจากนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 60 ปีแล้วที่ Lincoln สามารถรักษาสัญญาที่จะไม่ปลดพนักงานเพราะประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจเอาไว้ได้
การที่ Lincoln สามารถทำเช่นนี้ได้ ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องพิเศษที่เป็นข้อยกเว้น นั่นเป็นเพียงข้อแก้ตัวที่จะทำให้บริษัทอื่นๆ ยังคงทำอย่างเดิมต่อไปได้ นั่นคือปลดพนักงานทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีปัญหา แต่ควรมองว่า หาก Lincoln สามารถรับประกันการจ้างงานมาได้นานขนาดนั้น แถมยังสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างสม่ำเสมออีกด้วย ทั้ง ยังทำให้ผู้ถือหุ้นพอใจได้ บริษัทอื่นๆ ก็ควรจะทำได้เช่นเดียว กัน หรืออย่างน้อยก็ควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจ ว่า Lincoln ทำได้อย่างไรและพยายามที่จะปรับปรุงนโยบายของบริษัท ที่ไม่จำเป็นต้องทำตาม Lincoln ทุกอย่าง แต่ให้เดินในวิถีทางที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือ การรักษาพนักงาน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของบริษัท
|
|
|
|